×

ไขปริศนา 10 ปีที่ผ่านมา ซีรีส์สุดคลาสสิก Gossip Girl กลายเป็นตำนานได้อย่างไร

19.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • Gossip Girl ฉายในช่อง CW ค่ายน้องใหม่ที่ Warner Bros. จับมือกับ UPN ที่อยากจะดึงกลุ่มคนดูวัยรุ่นมา ผู้บริหารในตอนนั้นอย่างดอว์น ออสทรอฟฟ์ จึงต้องการหารายการที่จะเป็นตัวชูโรง เป็นพระเอกของช่อง เหมือนกับตอนที่ Netflix มาทำสตรีมมิงแล้วมี House of Cards
  • Gossip Girl บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน Constance Saint Jude ที่เหล่าลูกหลานคนมีเงินในนิวยอร์กเรียน โดยมี แบลร์ วอลดอร์ฟ กับ เซเรนา แวน เดอ วูดเซน เป็นตัวละครเอกของเรื่อง
  • คอสตูม คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการทำให้แฟนๆ หลายคนตกหลุมรัก Gossip Girl เพราะนอกจากเสื้อผ้าที่ออกแบบให้ตัวละครจะเก๋เวอร์แล้ว มันยังเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวและสร้างอุปนิสัยของตัวละครได้เป็นอย่างดี
  • Gossip Girl ยังฉายไปในทั้งหมด 197 ประเทศทั่วโลก แถมยังขายลิขสิทธิ์มารีเมกในอีกหลายเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นตุรกี จีน เม็กซิโก หรือแม้แต่เวอร์ชันไทย ที่ได้ ซาบีน่า ไมซิงเกอร์ ผู้ชนะรายการ The Face Thailand มารับบท เซเรนา

     วันที่ 19 กันยายน ปี 2007 เป็นวันแรกที่ซีรีส์อเมริกัน Gossip Girl เรื่องราวของหนุ่มสาวในแวดวงไฮโซนิวยอร์ก ฉายบนจอโทรทัศน์ผ่านช่องน้องใหม่อย่าง CW ที่สหรัฐอเมริกา ผลงานการสร้างซีรีส์เรื่องที่ 2 ของสองโปรดิวเซอร์จากเรื่อง The O.C. จอช ชวาร์ตซ์ (Josh Swartz) กับ สเตฟานี ซาเวจ (Stephanie Savage) นอกจากจะโด่งดังไปทั่วโลกจนวัยรุ่นที่ไหนก็ต้องไปหาดู Gossip Girl ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ของช่อง และเป็นไอคอนแห่งยุคดิจิทัล  

     เราจะมาทำความรู้จักกับซีรีส์เรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไมคนถึงอยากดูเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของวัยรุ่นฝรั่งหัวร้อนบ้านรวยกันมากมายขนาดนี้ รวมทั้งเหตุผลว่าทำไมนักวิจารณ์หลายคนจึงยกให้เป็นหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดแห่งปี และการไขปริศนา 10 ปีที่ผ่านมา Gossip Girl กลายเป็นตำนานได้อย่างไร

 

 

เรื่องนี้ต้องพิสูจน์

     แม้ว่า The O.C. จะดังเปรี้ยงหลังจากออกฉาย แต่จอชกับสเตฟานี ในฐานะผู้จัดละครอย่างเต็มตัวยังดูอ่อนหัดมาก หลังจากที่ทั้งคู่อ่านวรรณกรรมเยาวชนของ เซซิลี ฟอน ซีเกซาร์ (Cecily von Ziegesar) เรื่อง Gossip Girl ปุ๊บ ทั้งสองรู้ตัวว่านี่คือผลงานชิ้นต่อไปของพวกเขา แม้จะทำงานอยู่ริมทะเลในเมืองนิวพอร์ต รัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งคู่ก็เตรียมไปมหานครนิวยอร์กเพื่อพิสูจน์ฝีมือผู้จัดของตัวเอง

 

 

เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

     ผลงานเรื่องก่อนของทั้งคู่ถูกฉายทางช่อง Fox ทำให้มีกลุ่มคนดูและทุนสร้างพอตัว ส่วน Gossip Girl แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าฉายในช่อง CW ค่ายน้องใหม่ที่ Warner Bros. จับมือกับ UPN ที่อยากจะดึงกลุ่มคนดูวัยรุ่นมา ผู้บริหารในตอนนั้นอย่าง ดอว์น ออสทรอฟฟ์ (Dawn Ostroff) จึงต้องการหารายการที่จะเป็นตัวชูโรงเป็นพระเอกของช่อง เหมือนกับตอนที่ Netflix มาทำสตรีมมิงแล้วมี House of Cards “เราต้องการรายการที่จะมาเป็นตัวแทนของช่อง รายการที่สามารถเข้าถึงคนดูได้ ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร แต่มันก็ยากมาก เพราะว่าเราต้องการคนดูที่อายุน้อยลงมา ซึ่งกลุ่มนี้เขาเลือกเยอะ”

 

 

เกือบจะได้เห็น ลินด์ซีย์ โลฮาน ในบทหลัก

     กว่าจะมาเป็นซีรีส์ไม่ใช่เรื่องง่าย และก่อนที่จะมาถึงมือจอชกับสเตฟานี Gossip Girl ถูกวางให้สร้างเป็นหนังใหญ่ เพราะบริษัทแม่อย่าง Warner Bros. ถือลิขสิทธิ์อยู่ โดยมอบบทนำให้ ลินด์ซีย์ โลฮาน (Lindsay Lohan) และให้ เอมี่ เชอร์แมน-พาลาดิโน (Amy Sherman-Palladino) ผู้สร้างซีรีส์ Gilmore Girl หนึ่งในรายการสำคัญของช่อง WB เป็นคนกำกับ ก่อนที่สุดท้ายจะพับโครงการลงแล้วเอาผู้จัดคนใหม่เข้ามาทำ พร้อมปรับบทให้เข้ากับการทำเป็นละครทีวี… ว่าแล้วก็อยากรู้ว่าลินด์ซีย์ ในบทเซเรนา จะออกมาเป็นแบบไหน

 

 

เบลก ไลฟ์ลี คือเซเรนา

     Gossip Girl บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน Constance Saint Jude ที่เหล่าลูกหลานคนมีเงินในนิวยอร์กเรียน โดยมี แบลร์ วอลดอร์ฟ กับ เซเรนา แวน เดอ วูดเซน เป็นตัวละครเอกของเรื่อง โดยหลังจากที่มีข่าวว่าช่อง CW จะสร้างซีรีส์ แฟนๆ ของหนังสือมองขาดว่า เบลก ไลฟ์ลี (Blake Lively) ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงผ่านหนังเรื่อง The Sisterhood of the Traveling Pants เหมาะสมกับบทเซเรนาที่สุด จอชเองกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้คัดเลือกนักแสดงคนอื่นไว้เยอะ เพราะสุดท้ายแล้ว “เธอต้องเป็นคนที่เราเห็นแล้วเชื่อว่าสามารถไปนั่งดูแฟชั่นโชว์ได้” ตอนแรกเบลกปฏิเสธบทนี้เพราะอยากไปเรียนต่อ แต่ทางทีมงานได้ยื่นข้อเสนอให้เธอสามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กได้หลังจากถ่ายซีซันแรก ซึ่งหารู้ไม่ว่าความปังของซีรีส์นี้จะทำให้กระแสพุ่งขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นอีกตำนานของวัฒนธรรมป๊อป

 

 

ต้องพูดถึงแฟชั่น

     อีริค ดาแมน (Eric Daman) คอสตูมดีไซเนอร์ของเรื่อง ซึ่งมีผลงานการันตีฝีมือมาแล้วจากการเป็นผู้ช่วยของสุดยอดสไตลิสต์ แพทริเซีย ฟิลด์ (Patricia Field) จากเรื่อง Sex and the City เข้ามารับหน้าที่ดูแลเรื่องเสื้อผ้าตั้งแต่แรกเริ่ม คอสตูมคืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการทำให้แฟนๆ หลายคนตกหลุมรัก Gossip Girl เพราะนอกจากเสื้อผ้าที่ออกแบบให้ตัวละครเก๋เวอร์แล้ว มันยังเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวและสร้างอุปนิสัยของตัวละครได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเซเรนากับกระโปรงสั้นและแจ็กเก็ตหนัง หรือแบลร์ กับที่คาดผมที่เอามาใช้แทนมงกุฎ ชัค แบสส์ ในสูทสุดเนี้ยบตลอดเวลา นิตยสาร Glamour เองยังยกให้แบลร์ วอลดอร์ฟ เป็นหนึ่งในเก้าตัวละครโทรทัศน์ที่แต่งตัวดีที่สุดตลอดกาล หากถามว่าผู้เขียนชอบชุดไหนที่สุด คงต้องยกให้เดรสลายดอกสีเหลืองของ Ralph Lauren ที่เซเรนาใส่เป็นชุดเพื่อนเจ้าสาวในงานแต่งงานแม่ตัวเอง เพราะนอกจากชุดจะติดริบบิ้นดำแล้ว นางยังใส่ถุงมือหนังสีดำ ดูปุ๊บแล้วรู้เลยว่านี่คือเซเรนา ไม่แคร์สื่อ

 

 

กระแสเปรี้ยง แต่เรตติ้งไม่ปัง

     แม้รายการจะดังเปรี้ยงปร้าง แต่ตัวเลขเรตติ้งก็ไม่ได้โตขึ้นตามกระแส อาจจะด้วยเพราะไม่ได้ฉายบนช่องใหญ่ก็เป็นได้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ซีรีส์ขาดทุนหรือลดความสำคัญลงเลย เพราะในสมัยนั้นไม่มีการสตรีมมิงอย่างปัจจุบัน ทำให้ยอดดูผ่าน video-on-demand สูงเป็นอันดับห้าในปี 2013 ตัวซีรีส์เองยังติดอันดับรายการที่คนโหลดมาดูอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนั้น Gossip Girl ยังฉายไปทั้งหมด 197 ประเทศทั่วโลก แถมยังขายลิขสิทธิ์มารีเมกในอีกหลายเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นตุรกี จีน เม็กซิโก หรือแม้แต่เวอร์ชันไทย ที่ได้ ซาบีน่า ไมซิงเกอร์ ผู้ชนะรายการ The Face Thailand มารับบทเซเรนา แต่ว่าตัวซีรีส์ที่ทำใหม่กลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับต้นฉบับ อาจจะเป็นเพราะบริบททางสังคมที่ต่างกัน และคนดูส่วนใหญ่คุ้นชินกับตัวละครฉบับดั้งเดิม

 

 

เจ้าแม่ขายตรง

     อีกหนึ่งรายได้สำคัญของ Gossip Girl มาจากโฆษณาแฝงในซีรีส์ ในซีซัน 1 ถึง 5 รายการเซ็นสัญญากับ Verizon Wireless เครือข่ายมือถือของอเมริกา ที่ช่วงนั้นใครๆ ก็อยากได้มือถือ Sidekick แบบที่มีแป้นพิมพ์ QWERTY จนไปถึง BlackBerry ในภาคหลังๆ แบรนด์เครื่องดื่ม Vitamin Water ก็เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักในซีซันที่สอง โดยมีฉากปาร์ตี้ชุดขาวและบทที่พูดถึงตัวโปรดักต์อยู่ตลอดทั้งซีซัน

     ในปี 2007 Gossip Girl มีรายได้จากโฆษณาแฝงและสปอนเซอร์ถึง 28.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หากใครช่างสังเกตจะเห็นว่าการวางสินค้าหรือขายของในเรื่องจะเด่นชัด แต่ก็มีบทพูดให้ดูเนียนขึ้น อย่างตอนที่ ลิลี่ (Lily) แม่ของเซเรนา ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เธอก็ช้อปออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Gilt หรือว่าแท็บเล็ตและมือถือที่ใช้ในซีซันสุดท้ายนั้นล้วนเป็นของ Microsoft ทั้งนั้น ถ้าละครไทยบางเรื่องอยากขายของให้เนียนอาจจะลองศึกษาดูได้

 

 

คู่รักแห่งปี

     หลายคนคงจะคุ้นชินกับคู่รักต้องห้าม หนึ่งในพล็อตละครหลายเรื่อง ส่วนใหญ่คือตัวละครสองตัวฐานะไม่เท่ากัน อย่างในเรื่องนี้ แดนกับเซเรนามาจากสังคมคนละชั้น จึงเป็นตัวละครที่เหมาะจะเอามาจับคู่กัน นอกจากนั้นยังเป็นไปตามบทประพันธ์ในหนังสือ แต่คู่รักที่แฟนละครชอบมากที่สุดและเป็นตำนานคู่รักวัยรุ่นคงหนีไม่พ้น ‘Chair’ หรือชัค กับแบลร์ ที่นอกจากจะศีลเสมอกันทั้งเรื่องฐานะและชาติตระกูล ทั้งคู่ยังเป็นเหมือนตัวคิงกับควีนบนกระดานหมากรุกของเรื่อง และเจ้าเล่ห์เพทุบายสมกันอย่างกับกิ่งทองใบหยกจริงๆ

 

 

เป็นมากกว่าละครวัยรุ่น

     อิทธิพลของ Gossip Girl ส่งผลกว้างกว่าที่หลายคนคิดไว้ ในวงการแฟชั่นเอง ตัวรายการสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มวัยรุ่นเลือกซื้อเสื้อผ้า เอมี แอสต์ลีย์ (Amy Astley) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Teen Vogue ในช่วงนั้นกล่าวว่า เทรนด์ Preppy หรือชุดยูนิฟอร์มกลับมาพร้อมกับช่วงที่รายการฮิตติดลมบน นอกจากนั้นเทรนด์พังก์ยังมาแรงอีกด้วย ซึ่งทำให้ดีไซเนอร์ แอนนา ซุย (Anna Sui) ได้ออกแบบคอลเล็กชันที่ได้ตัวละครต่างๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ นอกจากนั้นแบรนด์ต่างๆ ยังส่งเสื้อผ้ามาให้นักแสดงใส่มากขึ้น หลักจากซีซัน 2 เริ่มออกอากาศ บางยี่ห้อถึงกับยอมจ่ายเงินเพื่อให้นักแสดงใส่ในเรื่องเลยก็มี

     ส่วนตัวมหานครนิวยอร์ก สถานที่หลักของเรื่องก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยนายกเทศมนตรี ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) กล่าวว่า ซีรีส์นี้ทำให้นิวยอร์กเป็นอีกหนึ่งตัวละครหลัก และสามารถดึงนักท่องเที่ยวหลายคนให้เข้ามาในเมืองอีกด้วย  แน่นอนว่าต้องมีทัวร์ย้อนรอยร้านอาหาร บาร์ หรือสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำด้วยเหมือนซีรีส์ Sex and The City และ Friends

 

 

นี่แหละ โลกโซเชียลออริจินัล

     ก่อนที่สื่อออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทอยู่ในทุกช่วงเวลาในชีวิตประจำวันของเรา ซีรีส์ Gossip Girl เหมือนเป็นสัญญาณให้เตรียมตัวให้พร้อมกับสังคมนักเลงคีย์บอร์ด ก่อนที่อินสตาแกรมหรือสแนปแชตจะเกิด และคนยังไม่เข้ามาใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนเหล่าดารานักแสดงก็ไม่ได้ไลฟ์บนโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลาเหมือนตอนนี้ ไอเดียที่ว่าโปรแกรม Gossip Girl ในซีรีส์ก็เป็นเหมือนสื่อโซเชียลที่ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถตามติดชีวิตคนดัง ซึ่งก็สะท้อนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เราใช้กันตอนนี้  

 

 

     ผ่านมา 10 ปีแต่กระแสความดังของ Gossip Girl ก็ยังไม่หยุด จนถึงปีที่ผ่านมา Netflix ยังฉายซีรีส์นี้ครบทุกตอน และยังมีคนดูอย่างต่อเนื่องทั้งแฟนเก่าและใหม่ เชส ครอว์ฟอร์ด (Chace Crawford) ผู้รับบท เนท อาร์ชิบอลด์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังมีแฟนละครเข้ามาทักเขาเพราะได้ดูผ่านการสตรีมมิง ที่สำคัญคือฐานอายุคนดูยังเป็นวัยเยาว์เหมือนเดิม และเพราะความสำคัญอย่างมหาศาลนี้เอง จึงไม่แปลกที่มีข่าวออกมาเป็นระลอกว่าผู้จัดจะนำมารีเมกหรือว่าทำภาคต่อ แต่อย่างว่า ของดีควรปล่อยให้ขึ้นไปเป็นตำนานดีกว่า ด้วยสังคมและโลกที่เปลี่ยนไป สังคมออนไลน์ในตอนนี้ไปไกลกว่า Gossip Girl มาก จากแค่คนในโรงเรียนและแวดวงสังคมใกล้ตัวกลายมาเป็นคนทั้งโลกตัดสินว่าตัวคุณเป็นอย่างไรเพียงเพราะการแต่งตัว การกินข้าว หรือการกระทำบางอย่าง ถ้าอย่างนี้ใครล่ะคือตัวตนที่แท้จริงของ Gossip Girl ในปี 2017

 

xoxo

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X