×

รัตนพจน์ธรรมราชา: พระราชดำรัส 10 ภาษา หนังสือทรงคุณค่าจากธรรมศาสตร์

29.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • รัตนพจน์ธรรมราชา เป็นหนังสือที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมวรรคทองของพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวนทั้งสิ้น 89 องค์ มาแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมภาษาไทยแล้วเป็น 10 ภาษา ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก  
  • โดยมุ่งหวังเพื่อส่งต่อคำสอนของพระองค์ให้คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม และให้นานาชาติได้รับรู้ถึงพระอัจฉริยภาพ รวมถึงพระราชคุณูปการของพระองค์

รัตนพจน์ธรรมราชา เป็นหนังสือที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำขึ้น โดยอัญเชิญวรรคทองคัดสรรจากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวนทั้งสิ้น 89 องค์ มาแปลเป็นภาษาต่างๆ จำนวน 9 ภาษา รวมภาษาไทยแล้วเป็น 10 ภาษา ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก  

 

 

รัตนพจน์ธรรมราชา ทั้ง 89 องค์ เริ่มต้นด้วยพระราชดำรัสแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า

 

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

 

พระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

 

 

จวบจนพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ในปีสุดท้ายแห่งรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2559 ความว่า

 

ความสุขความเจริญนี้แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวังเป็นปรกติธรรมดา ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมกายให้พร้อม อย่าประมาท

 

พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2559

 

 

โดยทั้ง 10 ภาษาประกอบด้วยภาษาตะวันออก 5 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษามลายู และภาษาตะวันตก 5 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน

 

ในโครงการนี้มี รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง เป็นประธานคณะกรรมการโครงการแปล รัตนพจน์ธรรมราชา ดำเนินงานร่วมกับคณาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในภาษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

 

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุผลในการจัดทำหนังสือครั้งนี้ในงานเปิดตัวหนังสือ รัตนพจน์ธรรมราชา  ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ว่า ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แผ่นดินไทยร่มเย็นด้วยพระบารมี พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ทุกแห่งหนทั่วประเทศไทยด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย

 

ชาวธรรมศาสตร์เป็นหนี้ของพระองค์ มีหลายสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาวธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยและต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยให้ ฉะนั้นสิ่งใดที่ธรรมศาสตร์ทำให้พระองค์ได้ ธรรมศาสตร์ก็อยากทำ

 

ณ วันนี้ สิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์ทำคือการส่งต่อคำสอนของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งดีงามที่เราควรสานต่อผ่าน รัตนพจน์ธรรมราชา เพื่อเป็นการเชิดชูคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9

 

อีกทั้ง รศ.ดร.ดำรง อดุลยฤทธิกุล คณะบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ กล่าวเสริมว่า โครงการ รัตนพจน์ธรรมราชา เป็นเครื่องแสดงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทีให้ปรากฏด้วยการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ พระราชคุณูปการ และทศพิธราชธรรมอันยอดยิ่งให้ประจักษ์ผ่านงานวรรณกรรมแปลนี้

 

ศ.ดร.สมคิด กล่าวทิ้งท้ายถึงหนังสือเล่มนี้ว่า รัตนพจน์ธรรมราชา ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือความคิด ปรัชญาที่เราควรน้อมนำมาปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ควรบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เดินตามความคิดของพระองค์

 

และเมื่อพระองค์มองกลับมาก็จะพบว่า สิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นไม่ได้สูญเปล่า

 

แนวคิดในการออกแบบหนังสือ

หนังสือเล่มนี้ออกแบบขึ้นด้วยแนวคิดที่ต้องการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงคุณเลิศล้ำในทุกอณูของหนังสือ ดังนี้

 

 

ปกหนังสือสีดินอุดม สื่อความถึง ‘พลังแผ่นดิน’ ตามพระนาม ‘ภูมิพล’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงพลิกฟื้นคืนชีวิตแก่ทุกธุลีดิน ยังความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนแผ่นดินไทย

 

เส้นกรอบสีทอง สื่อความถึง ‘แผ่นดินทอง’ ประกอบกับเครื่องหมาย infinity ที่สื่อถึงคุณค่าแห่งรัตนพจน์ หรือพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทอันเป็นนิรันดร์เหนือกาลเวลา แม้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่คำสอนของพระองค์จักเป็นนิรันดร์ เป็นแนวทางให้ราษฎรน้อมนำไปดำเนินรอยตามเป็นมิ่งขวัญแห่งชีวิต

 

ตัวอักษรไทยที่ถูกต้อง คืออักษรตัวกลมและมีหัว สะท้อนถึงความใส่พระทัยในการใช้ภาษาไทยของในหลวงรัชกาลที่ 9

 

 

สันปกด้านใน มีรูปดินสอกำลังค่อยๆ วาดภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระองค์ ได้แก่ เรือใบ กังหันน้ำชัยพัฒนา และแผนที่ประเทศไทย แต่ละภาพสัญลักษณ์จะมีจุดเริ่มต้นจากเส้นประจางๆ ที่ค่อยๆ ถูกขีดเขียนขึ้นทีละนิดเมื่อเปิดหน้าถัดๆ ไปจนเต็ม และเมื่อเปิดหนังสือจากทางด้านหลังจะพบภาพเมล็ดพันธุ์ของต้นโพธิ์ที่ค่อยๆ หยั่งราก แผ่กิ่งก้านสาขา เป็นร่มโพธิ์ที่พึ่งให้กับพสกนิกรชาวไทย  

 

 

ปกหลัง คือเลข ๙ ที่ปิดด้วยทอง สื่อความถึงคำสอนเรื่องการปิดทองหลังพระ หรือการทำความดีโดยมิต้องป่าวประกาศให้ใครได้รู้ ความว่า

 

การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบ ‘ปิดทองหลังพระ’ กันนัก เพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้

 

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506

 

 

ความท้าทายในการทำหนังสือครั้งนี้

นักแปลหลายท่านที่มาร่วมงานในครั้งนี้ได้ร่วมเสวนาถึงความท้าทายในการแปลว่า ในการแปลแต่ละภาษานั้นจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป ปัญหาหลักในการแปลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทออกมานั้นคือบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม

 

อาจารย์เยาวลักษณ์ อยู่เจริญสุข ผู้รับผิดชอบแปลภาษาเขมร กล่าวว่า การแปลนี้จะช่วยถ่ายทอดพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การแปลภาษาเขมรนี้ประสบปัญหาในการแปลไม่มากนัก เพราะภาษาเขมรกับภาษาไทยนี้มีโครงสร้างทางภาษา วัฒนธรรม และคำราชาศัพท์ใกล้เคียงกัน

 

ดร.​ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้รับผิดชอบแปลภาษามลายู เล่าถึงกระบวนการในการทำงานว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในภาษามลายูนั้นส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของไทย จึงตัดสินใจแปลด้วยตนเองก่อน และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจทาน บางท่านไม่สะดวกอ่านอีเมลก็จะปรินต์และส่งไปให้อ่านทางไปรษณีย์ กว่าจะตีกลับมาก็ค่อนข้างใช้เวลานาน

 

นอกจากนี้ ในการแปลเป็นภาษาตะวันตกยังประสบอีกหนึ่งความยากในการสรรคำเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ประโยคที่ว่า ‘ความรู้เปรียบเสมือนอาวุธ’ ไม่สามารถแปลตรงตัวในบริบทของประเทศรัสเซียได้

 

ดังนั้นความยากในการทำหนังสือเล่มนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสรรคำที่สามารถทำให้ผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมได้เข้าใจในพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยไม่ละทิ้งสารที่พระองค์ต้องการสื่อ

 

สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ รัตนพจน์ธรรมราชา ได้ทางเว็บไซต์ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ arts.tu.ac.th ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising