×

ธรรมศาสตร์… นับแต่นี้ ในยุค ‘เกศินี วิฑูรชาติ’ ว่าที่อธิการบดีหญิงคนใหม่

30.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. read
  • สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติเลือก รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ เป็นอธิการบดีคนใหม่ เตรียมเข้าทำหน้าที่ 1 มกราคม 2561 ต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันที่จะหมดวาระ
  • รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ จะเป็นอธิการบดีคนที่ 17 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอธิการบดีผู้หญิงคนที่สองในรอบ 35 ปี ต่อจาก ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดีหญิงคนแรก
  • ความท้าทายของการทำงาน และการบริหารงานต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นบทบาทที่สังคมจับตา จะเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือของอธิการบดีคนใหม่นับแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่

     ในที่สุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้อธิการบดีคนใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ ต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันที่นั่งเก้าอี้มาสองสมัยแล้ว

     สำหรับอธิการบดีคนใหม่นั้นมีชื่อว่า รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ ตำแหน่ง ปัจจุบันคือ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต ในชุดของศาสตราจารย์ ดร. สมคิด และเป็นรองอธิการบดีตั้งแต่สมัยแรกที่อธิการบดีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่ง

 

เคาะแล้ว ‘เกศินี’ นั่งเก้าอี้อธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่

     โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (30 ต.ค.) ที่ผ่านมา ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้กำหนดให้มีวาระการพิจารณาเพื่อเลือกอธิการบดี ซึ่งก่อนการลงมติได้เปิดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อได้แถลงนโยบายต่อสภา ก่อนที่จะมีการลงมติ และผลการลงมติในเวลาต่อมา ปรากฏว่ารองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ ได้รับคะแนนเสียง 16 เสียง ขณะที่  ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ ได้รับคะแนนเสียง 6 เสียง มีผู้งดออกเสียง 4 เสียง ทำให้รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ขั้นตอนต่อจากนี้สภามหาวิทยาลัยจะต้องนำรายชื่อเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ และคาดว่าภายหลังอธิการบดีคนปัจจุบันหมดวาระในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน 2560 รองศาสตราจารย์เกศินี จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 มกราคม 2561

     ที่ผ่านมาการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักตกอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนมาโดยตลอด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นพื้นที่ทางการเมือง การจัดเสวนาวิชาการต่างๆ และมีประวัติศาสตร์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ บทบาทของอธิการบดีฯ จึงถูกคาดหวังจากสังคมมากกว่าเพียงการทำหน้าที่บริหารงานภายในรั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว

     “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมืองและความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย”

     ข้อความดังกล่าวนี้ได้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันต่อสาธารณะชนว่ารากฐานการก่อกำเนิดของมหาวิทยาลัยได้ผูกโยง เกี่ยวพัน และเติบโตมาจนถึงปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ 83 ของการก่อตั้ง และในปีหน้าจะครบ 84 ปี หรือ 7 รอบ ของการก่อตั้ง

 

 

เปิดประวัติ พบนั่งเก้าอี้รองอธิการบดี ตลอดยุค ดร. สมคิด

     กลับมาที่คำถามที่หลายคนสนใจว่า รองศาสตราจารย์เกศินี นั้นเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร THE STANDARD ตรวจสอบจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ และเอกสารต่างๆ พบว่า ปัจจุบันว่าที่อธิการบดีคนใหม่มีอายุ 69 ปี เป็นศิษย์เก่าจากรั้วแม่โดม โดยจบการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิต (การเงินและการธนาคาร) เกียรตินิยมดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     และจบการศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส แห่งออสติน สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2547-2553

     ก่อนหน้านี้ ในปี 2538-2541 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และปี 2553-2556 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง ปัจจุบันเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เป็นอธิการบดี นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้แทนผู้บริหารด้วย

     ขณะที่ภายนอกมหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์เกศินี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศด้วยการจัดระดับเทียบเคียง (สกอ.) และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

     และเมื่อปี 2552 สร้างประวัติศาสตร์บนเวทีวิชาการโลกให้กับเมืองไทย โดยได้รับเลือกเป็นบอร์ด GFME องค์กรระดับโลกด้านพัฒนามาตรฐานการศึกษาบริหารธุรกิจ

 

คำถามต่อการเลือกอธิการบดี

     อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า การเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในความสนใจของหลายฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่แวดวงวิชาการด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้ รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก แสดงความห่วงใยต่อการเลือกอธิการบดีในครั้งนี้ (คลิกอ่านฉบับเต็ม) ตอนหนึ่งว่า

     “…แนวโน้มที่ธรรมศาสตร์จะได้อธิการบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาติดต่อกันกว่า 13 ปี และหากเป็นไปตามคาดหมาย ทีมบริหารของอธิการบดีคนใหม่ก็อาจจะเป็นทีมเดิมที่ทำงานในตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และคณบดีมหาวิทยาลัยติดต่อกันตลอด 13 ปี เพียงแต่สลับตำแหน่งกัน เมื่อมีการเปลี่ยนตัวอธิการบดีเท่านั้น…”

     “…แม้กระบวนการสรรหาจะล่วงเลยมาถึงขั้นตอนที่ใกล้จะได้ตัวอธิการบดีคนใหม่แล้ว แต่ผมคิดว่ายังไม่สายเกินไปที่สภามหาวิทยาลัยจะหาหนทางเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสมัครรับเลือก หรือให้กรรมการสรรหาไปทาบทามอาจารย์ที่มีความสามารถสูง รวมทั้งบุคคลภายนอก (แต่ไม่ควรมีอายุเกิน 55 ปี) เข้ามาสมัคร โดยสภามหาวิทยาลัยให้ความมั่นใจแก่ชาวธรรมศาสตร์ว่ากระบวนการคัดเลือกจะเป็นกระบวนการที่คัดสรรคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุด มีความตั้งใจและเป็นคนดี โดยไม่ติดยึดกับตัวผู้บริหารปัจจุบัน…”

     ขณะที่ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันได้ออกมาอธิบายและตอบคำถามถึงความกังวลใจของ รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ ในประเด็นต่างๆ ผ่านจดหมายเปิดผนึกเช่นเดียวกัน (คลิกอ่านฉบับเต็ม) ตอนหนึ่งว่า

     “…อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทีมผู้บริหารควรมาจากหนุ่มสาวสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวะและแพทย์ เพราะคนเหล่านี้กล้าคิดเรื่องใหม่ๆ กล้าทำ กล้าทดลอง แถมยังเป็นคนเก่งที่มีพลังมหาศาล การพูดเช่นนี้ก็เท่ากับบอกว่าอาจารย์จากสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย การพูดเช่นนี้ก็เท่ากับบอกว่าเสียงส่วนใหญ่ของชาวธรรมศาสตร์ที่เลือกอธิการบดีสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไม่มีความหมาย การพูดเช่นนี้ก็เท่ากับบอกว่าชาวธรรมศาสตร์เลือกอธิการบดีไม่เป็น และหากอาจารย์นิพนธ์ดูข้อมูลเรื่องรองและผู้ช่วยอธิการบดีของผม อาจารย์นิพนธ์ก็อาจไม่เรียกร้องอีกต่อไป เพราะทีมผู้บริหารจำนวนมากของผมเป็นหนุ่มสาวและเป็นหนุ่มสาวที่มาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ SIIT และคณะสหเวชศาสตร์ ฯลฯ…”

     “…อาจารย์นิพนธ์เพ่งเล็งมาที่รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีในรอบ 13 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือในสมัย ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ และผม และเรียกร้องให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีเหล่านี้อย่าได้รับตำแหน่งต่อไปในอนาคต ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์นิพนธ์มีข้อมูลแค่ไหนเพียงพอหรือไม่ เพราะตอนที่ผมรับตำแหน่งต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล ผมก็เปลี่ยนรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีไปเป็นจำนวนมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งล้วนเป็นคนหนุ่มสาวหน้าใหม่ทั้งสิ้น และผมก็เชื่อว่า เมื่อแคนดิเดตคนใดคนหนึ่งในสองคนขึ้นแทนผม รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีจำนวนมากก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน…”

     นี่เป็นเพียงการอุ่นเครื่องก่อนมีการลงมติอย่างเป็นทางการ เป็นศึกท่าพระจันทร์ แลกหมัดแบบสวนกันไปมาทันควัน ในขณะที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ธรรมดา ความห่วงใยย่อมมีที่มา และการออกมาอธิบายของ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด ย่อมมีข้อมูลที่ตอบสังคมได้อย่างชัดเจน ทั้งสถิติ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

     แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แคนดิเดตที่ตอบรับการเสนอชื่อคู่ท้าชิงอย่าง ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ ที่เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ เคยนั่งเก้าอี้เป็นรองอธิการบดีมาแล้วเช่นกัน ครั้งนี้ไม่ใช่หนแรกที่ลงสู้ศึก แต่เคยท้าชิงเก้าอี้มาแล้วหลายครั้ง และก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ในขั้นตอนการประชุมคณะกรรมการสรรหาซึ่งได้มีการออกเสียงเพื่อจะเสนอชื่อให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเป็นอธิการบดีนั้น รองศาสตราจารย์เกศินีมีผู้ลงคะแนน 8 เสียง ส่วนศาสตราจารย์ ดร. กำชัย 1 เสียง

     แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์การสรรหาระบุว่า กรณีที่เสียงของคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นเอกฉันท์ จะต้องนำเสนอรายชื่อทั้ง 2 รายให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาจึงมีมตินำเสนอ 2 รายชื่อดังกล่าวให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาตัดสินต่อไป และผลตัดสินในวันนี้ก็ออกมาแล้ว ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย สามารถที่จะถอนตัวในขั้นตอนนี้ได้ แต่ในที่สุดก็เป็นดังผลการลงมติของสภา

 

 

ความท้าทายนับแต่นี้

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกคาดหวังจากประชาคมธรรมศาสตร์เอง ในแง่การบริหารมหาวิทยาลัย ทั้งด้านวิชาการ บุคลากร และอื่นๆ ที่สำคัญเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งถูกคาดหวังจากสังคมไปพร้อมกันด้วยถึงบทบาท และจุดยืนในเรื่องต่างๆ

     ในประวัติศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองหลายคน และหลายครั้งหลายหนก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียง รวมทั้งการที่ต้องรับมือต่อบรรยากาศทางการเมือง และการเปิดพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องบริหารจัดการอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

     ย้อนไปที่การทำหน้าที่ของอธิการบดีคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เคยให้สัมภาษณ์ กับ THE STANDARD (คลิกอ่านฉบับเต็ม) ว่า “ธรรมศาสตร์หนีการเมืองไม่ได้หรอก ผมเข้าใจว่าทำไมกลุ่มการเมืองถึงมาใช้ธรรมศาสตร์ ทำไมไม่ใช้จุฬาฯ ไม่ใช้รามคำแหง เพราะมาใช้ที่ธรรมศาสตร์แล้วมันเป็นข่าว ยกตัวอย่างอย่างเรื่องที่ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผมไม่ได้เป็น สนช. อยู่คนเดียว มีอธิการบดีอีก 9 คนที่เป็น สนช. เนติวิทย์ไม่เห็นวิจารณ์อธิการบดีจุฬาฯ เลยว่าทำไมไปเป็น สนช. รับใช้เผด็จการ แต่วิจารณ์ธรรมศาสตร์ เพราะวิจารณ์ธรรมศาสตร์แล้วมันเป็นข่าว”

     และยังอธิบายถึงการไปรับตำแหน่งในยุค คสช. นี้ว่า “การที่เราไปช่วยคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพวกเขา ผมย้ำอีกทีหนึ่ง อาจารย์ป๋วยก็ไปช่วยถนอม หลังถนอมรัฐประหาร นายกฯ อานันท์ก็ไปช่วยสุจินดา คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้คิดหรอกว่าเขาไปช่วยใคร เขาคิดว่าเขาไปช่วยประเทศ อะไรที่ทำได้เขาก็จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า”

     นั่นเป็นเพียงจุดยืนอันใกล้ที่มาจากอธิการบดีรุ่นพี่ ซึ่งอนาคตข้างหน้าของ รองศาสตราจารย์เกศินี นับแต่นี้การทำงาน การบริหารจัดการจะเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อความคาดหวังเหล่านั้น รวมทั้งต่อนโยบายที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ภายใต้วิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ  ‘Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities’ ตอนหนึ่งว่า

     “ในช่วง 3 ปีข้างหน้า บัณฑิต มธ. ทุกคนจะได้รับการปลูกฝังความรู้และทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางโลกและแนวโน้มที่เป็นลักษณะเด่นของคนใน Generation Z ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมายและนโยบายในการมุ่งไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน รวมถึงต้องมีผลงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ที่ร่วมมือกับภาคเอกชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมประเทศ และส่งผลต่อการกำหนดนโยบายสำคัญๆ ของประเทศอย่างสม่ำเสมอ”

     “และในช่วงระยะ 3 ปีของการบริหารมหาวิทยาลัย จะมีดัชนีความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติ การดำเนินงานตามเป้าหมายข้างต้นทั้งหมดจะต้องเป็นไปในบริบทที่ไม่คิดเฉพาะในขอบรั้วของประเทศ หากแต่ต้องดำเนินไปในลักษณะที่เชื่อมโยงกับบริบทของนานาชาติ โดยขั้นต่ำก็ต้องคิดถึงอาเซียนไปจนถึงเอเชียแปซิฟิก และไปในระดับโลกในที่สุด”

     ต้องจับตาฝีมืออธิการบดีหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัย 83 ปี และในรอบ 35 ปี ต่อจาก ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดีหญิงคนแรก สำหรับรองศาสตราจารย์ ดร. เกศินี วิฑูรชาติ จะเป็นอธิการบดีคนที่ 17 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือไม่ นับแต่ 1 มกราคม 2561 ได้เห็นฝีมือกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising