×

‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ จุดยืนธรรมศาสตร์ จุดยืนรัฐประหาร และเส้นทางชีวิต ในวันถอดหัวโขนอธิการบดี

20.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • เกือบ 7 ปีที่ ‘ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาบอกว่าตั้งใจที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เต็มที่ สร้างจิตวิญญาณของที่นี่ให้เกิด และเมื่อหมดจากวาระเก้าอี้นี้แล้ว จะขอกลับไปเป็นอาจารย์สอนกฎหมายเช่นเดิม
  • สมคิดบอกว่า การทำงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการเข้าทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง เราไม่อาจปฏิเสธการทำงานเพื่อบ้านเมืองได้ ทั้งรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐประหาร เขายกเหตุการณ์ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาเปรียบเทียบ
  • ในแง่จุดยืนของนักศึกษา ทั้งการประท้วงรัฐประหารและประท้วงเขา ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นเสรีภาพของนักศึกษา แต่ในฐานะอธิการบดีก็ต้องการให้นักศึกษารักเช่นกัน รวมทั้งยกตัวอย่างการหยุดเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ในเวลานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพ

     ในรอบทศวรรษของประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีชื่อของ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ 16 ทำหน้าที่สองวาระต่อเนื่องกัน ขณะเดียวกันหน้าที่อาจารย์สอนกฎหมายประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังคงเป็นงานหลักที่ไม่เคยทอดทิ้ง

     นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อาจารย์สมคิดได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านมาไม่ถึง 10 ปี จากเหตุการณ์วันนั้น วงจรการเมืองไทยวนกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร หลังจากนั้นอาจารย์สมคิดได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

     ผ่านมา 3 ปี โรดแมปการเลือกตั้งถูกเลื่อนไปมาอยู่หลายครั้ง ความไม่แน่นอนทางการเมืองผันผวนว่องไว อาจารย์สมคิดถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงจุดยืนที่มีต่อประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ จุดยืนต่อการรัฐประหาร แม้แต่จุดยืนต่อนักศึกษา ที่มีบางกลุ่มออกมาต่อต้านการควบคุมอำนาจ และต่อต้านบทบาทของอาจารย์สมคิดเอง

     บรรทัดต่อจากนี้ คือการเปิดเปลือยความคิดของ ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ในวันที่เขานั่งเก้าอี้อธิการบดีเป็นเวลา 6 ปี 327 วัน และอีกไม่นานก็กำลังจะหมดวาระ

     อนาคตจากนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะมารับไม้ต่อ แต่ที่แน่ๆ อาจารย์สมคิดจะหลุดจากหัวโขนนี้ในไม่ช้า THE STANDARD ชวนอ่านทุกคำตอบ เพื่อขบคิดบทบาทและตัวตนของเขาในโมงยามและบรรยากาศบ้านเมืองในปัจจุบันขณะนี้

ผมได้เสนอนโยบายที่สำคัญไปสามเรื่อง หนึ่งคือเรื่องงานวิจัย สองคือเรื่องความเป็นอินเตอร์ของธรรมศาสตร์ และสามคือความเป็นธรรมศาสตร์ของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ สมัยที่สองผมเสนอเพิ่มอีกหนึ่ง ผมเรียกว่า ‘นโยบาย 3+1’ ก็คือเรื่อง ‘Active Learning’

 

สองวาระของการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ทำอะไรให้กับธรรมศาสตร์บ้าง และมีเรื่องไหนยังต้องทำต่ออีก

     ผมได้เสนอนโยบายที่สำคัญไปสามเรื่อง หนึ่งคือเรื่องงานวิจัย สองคือเรื่องความเป็นอินเตอร์ของธรรมศาสตร์ และสามคือความเป็นธรรมศาสตร์ของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ สมัยที่สองผมเสนอเพิ่มอีกหนึ่ง ผมเรียกว่า ‘นโยบาย 3+1’ ก็คือเรื่อง ‘Active Learning’

     เรื่องการวิจัย ผมสนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัยมากขึ้น บังคับให้อาจารย์ทำวิจัยมากขึ้น เดิมทีอาจารย์ธรรมศาสตร์ต้องสอนหนังสือ จะทำวิจัยหรือไม่ทำวิจัยก็ได้ เมื่อสามปีที่แล้วผมก็ได้บังคับว่าอาจารย์ทุกคนจะต้องทำวิจัยปีละหนึ่งชิ้นให้แก่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ธรรมศาสตร์มี 2,200 คน ก็หมายความว่าทุกปีจะมีงานวิจัยออกมา 2,200 ชิ้น ซึ่งก็ดีกับประเทศ เพราะงานวิจัยคือหัวใจของการพัฒนา ปีที่ผ่านมา มหาลัยธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลสูงสุดที่ประเทศไทยเคยได้ คือ Grand Pride เป็นรางวัลสูงสุดที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเราได้เป็นครั้งแรก และยังเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จำนวนงานวิจัยก็พุ่งเป็นเส้นกราฟ 45 องศา

     สอง ในด้านความอินเตอร์ ก็เป็นระบบของโลกว่า มหาวิทยาลัยทั้งหลายไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ ผมก็ปรับปรุงหลายเรื่อง เช่น ผมเสนอว่าทุกคณะต้องมีหลักสูตรอินเตอร์ เดิมทีเราจะเห็นว่าบางคณะมีหลักสูตรอินเตอร์ บางคณะก็ไม่มี วันนี้ธรรมศาสตร์มีเกือบหมดแล้วทุกคณะ ทุกคณะต้องมีอาจารย์ชาวต่างชาติประจำอยู่ในคณะอย่างน้อยคณะละ 2 คน รวมทั้งขอให้คณะทุกคณะเปิดสอนวิชาภาษาอังกฤษอย่างน้อย 2 วิชาให้นักศึกษาภาษาไทยได้เรียน ยกเลิกโควตาการเรียนภาษาอังกฤษ แต่ก่อนการจะลงเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้ คุณจะต้องมาเข้าคิวขอโควตา คนที่ได้โควตาหลักก็คือนักศึกษาที่เรียนภาษา แต่คนที่เรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มักจะไม่ได้โควตา แต่ตอนนี้เราเปิดหมดแล้ว ไม่มีโควตาสำหรับนักศึกษาอีกแล้ว

     เราไปเซ็นสัญญา MOU กับมหาวิทยาลัยในอาเซียนทุกประเทศมาหมดแล้ว มีการเปิดศูนย์ที่เรียกว่า ศูนย์อาณาบริเวณศึกษา Area Study และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีศูนย์ Area Study มากที่สุดในประเทศไทย เรามีรัสเซีย มีเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มีอาเซียน มีอินเดีย มีเอเชียแปซิฟิก และมีออสเตรเลีย เรามีเกือบทุกภูมิภาคของโลกแล้วที่ควรจะมี ตัวชี้วัดหนึ่งที่เราเห็นชัดก็คือเรื่อง QS World University Ranking ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาจะเรียกว่า Outbound Inbound ธรรมศาสตร์มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนมากที่สุดในประเทศไทย อันนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่เรามองได้

     เรื่อง จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ บางคนก็ถามว่ามันคืออะไร จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ก็คือการรักความเป็นธรรม การกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มีต้นกำเนิดจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราก็พยายามทำหลายเรื่อง เราพยายามสอนเด็กให้รักประชาชน เราปฐมนิเทศเด็ก ฉายให้ดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ของธรรมศาสตร์ เราไปติดตั้งคำขวัญต่างๆ ที่ตึกทั้งหลาย เช่น ‘ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ หรือว่า ‘Thammasat for People’ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราทำ แต่เราตั้งใจว่าจะมีคนอ่าน จะมีคนไปถ่ายรูป จะมีเด็กเอาเรื่องเหล่านี้ไปคิดบ้าง

     เราเปิดวิชา TU-100 พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นวิชาบังคับ เด็กธรรมศาสตร์ทุกคนต้องได้เรียนรู้เรื่องนี้ และวิชานี้ได้เผยแพร่ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย โดยใช้มาตรฐานของ TU-100 ไปจัดการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานทั้งสิ้น เรายังทำเรื่อง Service Learning คือ ให้นักศึกษาออกไปทำเคสต่างๆ ได้เรียนรู้ปัญหาที่แท้จริง เราพยายามทำในอีกหลายเรื่องและแทรกเข้าไปในทุกอย่าง

 

ช่วงที่เป็นอธิการบดี มีการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยไปสู่การออกนอกระบบ มีเหตุผลอะไร

     เพื่อความเข้าใจตรงกัน เวลาที่พูดว่าออกนอกระบบนี้ คนเข้าใจในหลายมิติไม่ตรงกัน ความจริงการออกนอกระบบ เดิมทีทุกมหาลัยของประเทศไทยเป็นของส่วนราชการ และการเป็นส่วนราชการนั้นก็มีความแข็งตัว ปรับตัวได้น้อย ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องเสีย ถ้าตามระบบราชการ คุณต้องรอเพื่อไปซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ คุณจะต้องไปเขียนสเปก คุณจะต้องไปตั้งกรรมการ ใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะได้เครื่องมาใหม่ ระบบราชการ ถ้าเป็นอาจารย์ทั่วๆ ไปที่เป็นด็อกเตอร์จะจ่ายให้เขา 35,000 บาท ถามว่าถ้าเราอยากได้อาจารย์ระดับรางวัลโนเบลมาสอน จ่ายเงินให้เขาแค่ 35,000 บาท เขาจะมาไหม เพราะฉะนั้นระบบราชการมันถูกกฎระเบียบของรัฐตรึงไว้แบบนี้ ถูกรัดตรึงทั้งในแง่กระบวนการ นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ อยากจะปลดเปลื้องภาระในฐานะที่เป็นระบบราชการ เราเรียกมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เรียกว่าเปลี่ยนสภาพจากราชการไปเป็นองค์การมหาชน

     ข้อดีของมหาวิทยาลัยอิสระนี้คือการที่เราปลดเปลื้องกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลังที่บังคับกับราชการ เราก็จะมีอิสระในการเป็นของตัวเอง บริหารจัดการได้คล่องตัว เครื่องคอมพิวเตอร์เสียวันนี้เราก็สามารถไปจัดการซื้อได้เลยด้วยเงินในระบบที่เรามีอยู่ มหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการไม่ได้เป็นเอกชน ยังเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอยู่ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เป็นส่วนงานที่เราเรียกว่าองค์การมหาชน คนเข้าใจผิดในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ความเข้าใจผิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก เมื่อมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้ว รัฐมนตรีการศึกษาบางคน นายกฯ บางคนก็ไปพูดว่า คุณมีเงินเยอะแยะ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มีเงินเยอะแยะ รัฐบาลจะไม่ให้เงินอีก เพราะคุณออกนอกระบบราชการ แต่รัฐบาลเข้าใจผิด เขายังเป็นหน่วยงานของรัฐ

     ความเข้าใจผิดที่สองก็คือค่าหน่วยกิต ถามว่าก่อนปี 2558 ที่ธรรมศาสตร์ออกจากระบบราชการ ผมขึ้นค่าหน่วยกิตได้ไหม ได้ ไม่มีปัญหาเลยเรื่องขึ้นค่าหน่วยกิต ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรืออยู่นอกระบบ แต่เราไม่ทำ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เราไม่ได้มีหน้าที่แสวงหาผลกำไร เราไม่มีหน้าที่รวยจากนักศึกษา และเรารู้ว่านักศึกษาของเราส่วนใหญ่ยากจน ค่าหน่วยกิตธรรมศาสตร์ตอนนี้คือ 800 บาท แต่เนื่องจากในตอนนี้เราใช้ระบบเหมาจ่าย เพราะฉะนั้นค่าเทอมเทอมหนึ่งจะตกเทอมละประมาณ 15,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้มากเกินไป ในขณะเดียวกันเราก็มีทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจำนวนมาก จุฬาฯ และมหิดลออกจากระบบราชการก่อนธรรมศาสตร์ประมาณ 10 ปี จนปัจจุบัน จุฬาฯ และมหิดลไม่เคยขึ้นค่าหน่วยกิตเลย

     ผมเองก็ประกาศเลยว่า ผมเป็นอธิการบดี ผมจะไม่ให้ขึ้นค่าหน่วยกิต แต่เราก็รู้ว่าค่าหน่วยกิตมันต้องขึ้น ถ้าผมไม่ขึ้น อธิการบดีคนต่อไปจากผมก็ต้องขึ้นอยู่ดี มันไม่มีที่ไหนหรอกที่ไม่ขึ้นค่าหน่วยกิต แต่อย่าเอาเรื่องของการขึ้นค่าหน่วยกิตมาผูกกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ หรือไม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ไม่มีอธิการบดีคนไหนหรอกที่อยากจะขึ้นค่าหน่วยกิต เพราะทุกครั้งที่มหาลัยขึ้นค่าหน่วยกิต มหาวิทยาลัยก็จะต้องทะเลาะกับนักศึกษา คนเป็นอธิการบดีไม่ว่าอย่างไรก็อยากให้นักศึกษารัก

ผมเองก็ประกาศเลยว่า ผมเป็นอธิการบดี ผมจะไม่ให้ขึ้นค่าหน่วยกิต แต่เราก็รู้ว่าค่าหน่วยกิตมันต้องขึ้น ถ้าผมไม่ขึ้น อธิการบดีคนต่อไปจากผมก็ต้องขึ้นอยู่ดี มันไม่มีที่ไหนหรอกที่ไม่ขึ้นค่าหน่วยกิต แต่อย่าเอาเรื่องของการขึ้นค่าหน่วยกิตมาผูกกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ

 

มองบทบาทตัวเอง กับจุดยืนนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และต่อต้านอาจารย์อย่างไร

     ผมมาอยู่ในช่วงที่มีเหลือง มีแดง ผมก็จะลำบากหน่อย ผมพยายามวางตัวเป็นกลางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กรณีนักศึกษาไม่ยืนขึ้นเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็มีคนมาไล่ล่า เราก็พยายามปกป้องเด็ก บอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาล่าแม่มด แม้แต่ อั้ม เนโกะ ผมก็ไม่ได้อะไรมากมาย เขาก็ทำหลายเรื่อง ทั้งประท้วงผมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมก็อำนวยความสะดวกเขาในเรื่องสถานที่ผ่านอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผมได้บอกกับอาจารย์ปริญญาไปว่า เราจะต้องส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าเด็กที่ทำกิจกรรม จะเป็นเด็กที่เจริญเติบโตทางความคิดมากกว่าเด็กที่ไม่ทำอะไร

     แน่นอน อั้ม เนโกะ, จ่านิว, โรม หรือใครก็แล้วแต่ อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันกับผม ไม่ตรงกับผู้บริหาร แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติทั่วไป เช่น ความแตกต่างระหว่างวัยมีผลอยู่แล้วกับการตัดสินใจ ผมเชื่อว่าตอนที่เป็นนักศึกษากับตอนที่จบออกไปนั้นก็ไม่เหมือนกัน คิดต่างกัน ผมยกตัวอย่างสมัยก่อน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ถูกนักศึกษาคัดค้านตลอด ผมไปอ่านเอกสารที่พูดถึงอาจารย์ป๋วย นักศึกษาสมัยนั้นเขาก็มองอาจารย์ป๋วยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นฝั่งตรงกันข้ามกับนักศึกษา คอยไม่ให้นักศึกษาประท้วง คอย Conservative ในสถานการณ์ต่างๆ

     ผมเองก็เหมือนกัน ผมคิดว่าเรื่องการประท้วงเป็นเรื่องปกติ สมัยที่ผมเป็นนักศึกษา ผมก็ไปประท้วง ตอนที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นราคาน้ำมัน แต่ว่าในฐานะอธิการบดีที่ต้องดูแลทั้งมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นครู เป็นอาจารย์ เราก็ต้องไปเตือนเด็กบ้างว่าให้อยู่ในขอบเขต บางคนออกไปจากธรรมศาสตร์แล้วผมก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปว่าอะไร แต่ถ้าคุณยังอยู่ในธรรมศาสตร์ คุณยังเป็นธรรมศาสตร์ แล้วคุณไปทำอะไรในธรรมศาสตร์ มันขว้างงูไม่พ้นคอ สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่อธิการบดี

     ผมก็จะย้ำเสมอว่าผมจะไม่เอาอุดมการณ์ หรือแนวคิดทางการเมืองไปตัดสิน ผมมีโอกาสแต่ผมก็ไม่ใช้อุดมการณ์แบบนี้กับนักศึกษา ผมอาจจะพูดกับนิติราษฏร์ เพราะผมถือว่านิติราษฏร์ก็เป็นอาจารย์เหมือนกัน แต่ผมไม่พูดกับนักศึกษา นักศึกษาต้องมีสิทธิ์เชื่อว่าอะไรถูกอะไรผิด อันนี้เป็นสิทธิ์ของนักศึกษาเอง และผมก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งหรือกิจกรรมนักศึกษา

 

ธรรมชาติของคนธรรมศาสตร์ทำให้เราทำแบบนั้นไม่ได้หรือเปล่า

     ก็ไม่แน่ เราอาจจะจัดการได้ แต่เราไม่ทำ เราไม่เคยคิดทำ เราไม่ได้จะตั้งนอมินี เราไม่ได้คิดว่าเรื่องพวกนี้เราต้องไปทำอะไร การที่นักศึกษาประท้วงอธิการบดี ประท้วงคณบดี ประท้วงนายกฯ มันเป็นธรรมชาติของธรรมศาสตร์ สมัยผม ผมก็ทำ เพราะฉะนั้นถ้าสมัยนี้เด็กจะทำมันก็เรื่องธรรมดา นี่คือด้านหนึ่งที่เรามองเด็ก

     แต่ในอีกด้านหนึ่งอธิการบดีก็ต้องถูกกดดันจากภายนอก ทหารเขาก็จับจ้องมองว่าอธิการบดีเข้าข้างเด็กหรืออย่างไร ไม่เคยห้ามเด็กเลยหรือ เปล่า เราก็พูดกับเด็กของเราพอสมควร เราก็บอกทหาร ผมก็พูดเอง อาจารย์ปริญญาไปพูด หลายคนไปพูด

     ผมบอกกับคนเหล่านั้นเลยว่า นี่คือธรรมชาติของคนธรรมศาสตร์ ถ้าเขาพูดในมหาวิทยาลัยก็ขอให้เขาได้พูดเถอะ แต่ถ้าเขาออกไปข้างนอกมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมาในอดีตใครที่มาขอใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์อภิปราย วิจารณ์รัฐบาล เราก็เปิดโอกาสให้เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ อย่างตอนจัดฟุตบอลประเพณี ผมก็รู้ว่าฟุตบอลประเพณีมันจะต้องมีพาเหรด และอย่างที่รู้กันว่าพาเหรดมันก็ต้องมีล้อการเมือง อันนี้มันเป็นธรรมชาติของธรรมศาสตร์

     แต่ขอพูดให้ชัดอย่างหนึ่งก่อนว่า ฟุตบอลประเพณีไม่ได้เป็นกิจกรรมของธรรมศาสตร์ แต่เป็นกิจกรรมของสมาคมธรรมศาสตร์ ฉะนั้น การตั้งกติกาเรื่องการล้อการเมืองว่าควรจะทำมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง มันก็จะเป็นเรื่องของสมาคมฯ ไม่ใช่ของอธิการบดี แต่คนก็เข้าใจตลอดว่ามันเป็นของอธิการบดี

     คุณด่าเผด็จการไม่มีใครว่าหรอก คุณด่าทหารคำกลางๆ มันก็ไม่เป็นอะไร คืออย่าไปใช้คำหยาบคาย ด่าแบบหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้ ด่าอย่างมีสำบัดสำนวน ด่าแล้วคนเจ็บ แต่ไปด่าเขาใต้สะดือ ใช้คำพ่อขุนราม อย่างนี้เป็นธรรมดาของคนที่ต้องโกรธ มีอารมณ์

ผมก็จะย้ำเสมอว่าผมจะไม่เอาอุดมการณ์ หรือแนวคิดทางการเมืองไปตัดสิน ผมมีโอกาสแต่ผมก็ไม่ใช้อุดมการณ์แบบนี้กับนักศึกษา ผมอาจจะพูดกับนิติราษฏร์ เพราะผมถือว่านิติราษฏร์ก็เป็นอาจารย์เหมือนกัน

 

มีนโยบายสนับสนุนจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่ก็มีคนมองว่าการกระทำอาจารย์สวนทาง

     มีคนถามว่าผมสนับสนุนจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่พอเขาจะทำอะไรกลับไปเบรกเขา ผมอยากจะบอกว่านั่นไม่จริง ผมแทบไม่เคยเบรกใครเลย คนอาจเข้าใจว่าผมอยู่เบื้องหลังการเบรกทั้งหลายก็ได้ อย่างเช่นถ้าเกิดมีใครจะเข้ามาขอใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์ในการอภิปราย ผมก็ไม่ได้มาดูหรอกว่าใครมาขอใช้ ที่ท่าพระจันทร์ผมก็ให้รองฯ ท่าพระจัทร์ดูแล แต่ที่ผมเตือนนี่คือ ขอว่าพยายามให้จัดกิจกรรมให้มีแต่ละฝ่ายเท่าๆ กันหน่อย มีสองฝ่ายได้ไหม ไม่ใช่ว่ามีแต่ฝ่ายเดียว เพื่อไม่ให้เห็นว่าธรรมศาสตร์จะไปฝักใฝ่ฝ่ายใด ให้มันเป็นงานวิชาการที่เห็นภาพแตกต่างกันออกไป

     ผมพูดตรงๆ เลยนะว่า ถ้าผมไม่ได้เป็นอธิการบดี ผมจะไม่ออกมาเตือนใครหรอก ถ้าผมไม่ใช่อธิการบดี เขาจะด่าใคร ลงโทษใคร ประท้วงใคร ก็แล้วแต่เขาสิ แต่ผมเป็นอธิการบดี ผมก็ต้องมีสิทธิ์เตือนเขาบ้างในฐานะอาจารย์ แต่เวลาผมเตือนผมก็จะพูดทีเดียว ผมเชื่อ และผมยังยืนยันว่าที่ผมโตมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะผมทำกิจกรรม และผมก็มั่นใจว่าเด็กที่เขาทำกิจรรมเขาจะโตกว่าเด็กที่ไม่ได้ทำกิจกรรม เขาจะได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้โลก

 

อาจารย์คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ธรรมศาสตร์คือพื้นที่ทางการเมือง’

     ธรรมศาสตร์หนีการเมืองไม่ได้หรอก ผมเข้าใจว่าทำไมกลุ่มการเมืองถึงมาใช้ธรรมศาสตร์ ทำไมไม่ใช้จุฬาฯ ไม่ใช้รามคำแหง เพราะมาใช้ที่ธรรมศาสตร์แล้วมันเป็นข่าว ยกตัวอย่างอย่างเรื่องที่ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผมไม่ได้เป็น สนช. อยู่คนเดียว มีอธิการบดีอีก 9 คนที่เป็น สนช. เนติวิทย์ไม่เห็นวิจารณ์อธิการบดีจุฬาฯ เลยว่าทำไมไปเป็น สนช. รับใช้เผด็จการ แต่วิจารณ์ธรรมศาสตร์ เพราะวิจารณ์ธรรมศาสตร์แล้วมันเป็นข่าว

 

หรือเพราะว่าเขาคาดหวังกับธรรมศาสตร์มากกว่าที่อื่นหรือเปล่า

     ไม่หรอก เขาอยากให้มันเป็นข่าวการเมือง วิจารณ์จุฬาฯ มันก็เป็นข่าวธรรมดา แต่วิจารณ์ธรรมศาสตร์แล้วมันเป็นข่าวใหญ่ ข่าวการเมือง

 

อะไรเป็นตัวชี้วัด เรื่องจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่อาจารย์พยายามสร้าง

     มันไม่มีตัวชี้วัด แต่ผมเชื่อว่ามันประสบความสำเร็จ ถ้าคุณมองทุกวันนี้คุณจะเห็น ไผ่ ดาวดิน จากขอนแก่น เนติวิทย์ จากจุฬาฯ แต่เราก็เห็นโรม เห็นนิว เห็นใครหลายคนจากที่นี่ ที่ธรรมศาสตร์ และธรรมศาสตร์ก็จะเป็นแหล่งใหญ่ของการคัดค้านรัฐประหาร

     ธรรมศาสตร์เป็นแหล่งใหญ่ของคนที่โต้เถียงกันในทางวิชาการ ทั้งฝ่ายเหลือง และฝ่ายแดง ผมเชื่อว่านี่เป็นบรรยากาศที่ดี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพ เป็นเสรีภาพทุกตารางนิ้วอย่างที่อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ว่าไว้ และผมเชื่อว่าเรื่องนี้มันไม่มีเครื่องมืออะไรวัดว่าเด็กธรรมศาสตร์ทำเพื่อสังคมมากกว่าคนอื่นไหม

คุณด่าเผด็จการไม่มีใครว่าหรอก คุณด่าทหารคำกลางๆ มันก็ไม่เป็นอะไร คืออย่าไปใช้คำหยาบคาย ด่าแบบหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้ ด่าอย่างมีสำบัดสำนวน ด่าแล้วคนเจ็บ แต่ไปด่าเขาใต้สะดือ ใช้คำพ่อขุนราม อย่างนี้เป็นธรรมดาของคนที่ต้องโกรธ มีอารมณ์

 

สภาพนักกฎหมายตอนนี้ เหมือนมีการตีความกฎหมายเพื่อเอาชนะกันในแต่ละฝ่าย มองเรื่องนี้อย่างไร

     มันเป็นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็นในสมัยเหลืองแดง เวลาทนายความเขาสู้กันในศาล เขาก็มุ่งเอาชนะ เวลาอาจารย์นิติศาสตร์เถียงกัน เขาก็ยกเหตุผลต่างๆ

     ผมคิดว่ามันจริงและไม่จริง จริงก็คือมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่นักกฎหมายไม่ค่อยนิ่ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ผมเอาเหตุการณ์ที่ทันสมัยเลยที่ทำให้คนตั้งคำถามกันก็คือเรื่องเซตซีโร่ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กกต. เซตซีโร่ กรรมการสิทธิเซตซีโร่ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เซตซีโร่ กรณีแบบนี้ทำให้คนเขาคิดสงสัย ทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทำไมเลือกปฏิบัติ ทำไมมีสองมาตรฐาน และคำถามนี้ก็ไปสู่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไปสู่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยความเคารพผมก็ไม่เห็นด้วย ผมก็มองว่ามันควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ถ้าคุณจะเซตซีโร่ คุณก็ต้องเซตซีโร่ทุกองค์กร แน่นอนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขาก็อธิบายว่าที่เขาไม่เซตซีโร่ไปทั้งหมด เพราะองค์กรแต่ละองค์กรมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป แต่เงื่อนไขที่เขาอธิบายมันก็ยังไม่ประทับใจ ไม่โน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวของเขา

     ผมกลับไปที่ศาล ศาลก็ตัดสินหลายคดี แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นศาลการเมือง เป็นศาลที่ตัดสินไปทางการเมืองผมยังไม่ค่อยเห็นด้วย ผมหมายความว่าเรื่องเดียวกันนี้ ความคิดของศาลก็อาจไม่เหมือนกัน ระบบศาลมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา การตัดสินไม่ตรงกัน มันเกิดขึ้นประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาเลย มันก็กลับไปกลับมา เช่น เมื่อก่อนหน้าบ้านคุณไม่มีอะไรเลย วันดีคืนดีเขาจะสร้างสะพานลอย มีตอหม้อมาขวางหน้าบ้านคุณ ถามว่าละเมิดไหม จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนคุณไหม เมื่อก่อนศาลตัดสินว่าละเมิด ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต่อมาหลังจากปี 2521 เป็นต้นมา ศาลก็มาตัดสินว่าไม่ละเมิด มีกลับไปกลับมาไปเรื่อย

     แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ผมเห็นคำวิพากษ์วิจารณ์ศาลเพราะว่า ก่อนหน้าปี 2540 ศาลไม่มายุ่งการเมือง คำว่ายุ่งมี 2 ความหมายนะ ความหมายที่หนึ่งคือศาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาเลย กับสอง ก่อนหน้าปี 2540 ศาลไม่ยุ่งกับการตัดสินคดีทางการเมือง แต่หลังปี 2540 มีปรากฏการณ์หนึ่งคือ ตุลาการมาทำหน้าที่กรรมการสรรหา และคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าตุลาการเลือกคนได้ไม่ดี เลือกคนที่เป็นพวกเดียวกัน เลือกคนที่เป็นพวกเดียวกับผู้มีอำนาจ ผมอธิบายก่อนว่ามันไม่มีอะไรหรอก ระบบมันต้องมีกรรมการสรรหา กรรมการสรรหาเขาก็ต้องหาคนที่ดีที่สุดมาเป็นกรรมการ เขาหันซ้าย แลขวา จะเอาพระเหรอ จะเอาองคมนตรีเหรอ ก็ไม่ได้ คนที่เป็นกลางมากที่สุด ดีที่สุดในสายตาพวกเขาก็คือศาล ถามว่าศาลเขาอยากทำไหม เขาก็ไม่อยากทำ แต่เขามาทำก็เพราะว่ามีคนไว้วางใจเขา เขาก็มาทำหน้าที่ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ

     อันที่สองที่ผมพูดคือคดีการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมาเกิดขึ้นในปี 2540 เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งคดีก็ไม่มากนัก คดียุบพรรค คดีต่างๆ ก็มาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด ศาลก็ตัดสินไปตามหลักฐาน แต่โดยรวมไม่ว่าคุณจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่ มีคนได้มีคนเสีย ฉะนั้น คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็จะลำบากพอสมควร

แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ผมเห็นคำวิพากษ์วิจารณ์ศาลเพราะว่า ก่อนหน้าปี 2540 ศาลไม่มายุ่งการเมือง คำว่ายุ่งมี 2 ความหมายนะ ความหมายที่หนึ่งคือศาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาเลย กับสอง ก่อนหน้าปี 2540 ศาลไม่ยุ่งกับการตัดสินคดีทางการเมือง แต่หลังปี 2540 มีปรากฏการณ์หนึ่งคือ ตุลาการมาทำหน้าที่กรรมการสรรหา

 

แล้วในเรื่องของเสรีภาพ มันแคบลง เหมือนรัฐพยายามจำกัดความคิดเห็น

     ขึ้นอยู่กับคุณมองอย่างไร ถ้าคุณมองเรื่องหลังรัฐประหารคุณไม่ต้องถามผมหรอก หลังรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพคนมันน้อยลงอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่หลัง คสช. ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพคน อาศัยเหตุความมั่นคง ซึ่งก็มีทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ชุดนี้เขาก็รู้สึกว่าถ้าเขาปล่อยให้คนมาเดินประท้วง ปล่อยให้คนมานู่นมานี่บ้านเมืองจะวุ่นวาย ทั้งที่ยังไม่รู้ ก็ขึ้นอยู่กับคนมองว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย

 

แต่บทบาทของมหาวิทยาลัย อาจารย์ยืนยันว่า จะให้เสรีภาพเต็มที่?

     พูดให้ชัด คนเป็นอธิการบดีไม่ได้มีบทบาทไปวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย คุณจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหว จะมาจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พฤษภาทมิฬ ไม่มีอธิการบดีคนไหนหรอกที่จะออกมาเคลื่อนไหว คนมาถามผมว่า ท่านอธิการบดี ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพน้อยลง ทำไมอาจารย์ไม่ไปประท้วง คสช. มีที่ไหนที่อธิการบดีจะออกมา อาจารย์ป๋วยก็ไม่ออกมาว่ารัฐบาล บางคนบอกว่าอาจารย์ป๋วยพูดครับ ในฐานะนายเข้ม เย็นยิ่ง ไม่ครับ เข้ม เย็นยิ่ง ไม่ใช่อธิการบดี และอาจารย์ป๋วย เขียนในนาม เข้ม เย็นยิ่ง เพราะอาจารย์ป๋วยรู้จักคุณถนอม เป็นการส่วนตัว ถึงเขียนไปได้ ผมจะเขียนว่าผมเป็นเข้ม เย็นยิ่ง หรือเขียนถึง คุณประยุทธ์ ผมก็ไม่รู้จักเขา

     แต่ถามว่าเราคิดว่าสิทธิเสรีภาพสำคัญไหม สำคัญครับ เราต้องมี แต่ว่าหลังการรัฐประหารคุณจะพูดสิทธิเสรีภาพว่าอย่างไร เราก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพมันก็น้อย ถามว่าผมคิดว่าเราควรมีสิทธิเสรีภาพไหม ควรครับ ถามว่าอาจารย์ในธรรมศาสตร์มีสิทธิเสรีภาพไหม มีครับ ผมยังเห็นเขาด่ารัฐบาลกันอยู่เลย นักศึกษาเขาก็จับไปบ้าง แล้วก็ปล่อย ยังไม่เคยจำคุกเลย เคสไผ่ ดาวดิน ก็เป็นเรื่อง ม.112 ต่างหาก

     สิ่งที่ผมทำได้วันนี้ก็มีแค่คอยปกป้องเด็ก คือ หนึ่ง อภิปรายในธรรมศาสตร์ได้ไหม ธรรมศาสตร์จะได้ช่วยให้ ดูให้เรื่องห้อง เราอาจช่วยเจรจากับทหารตำรวจให้ว่านักศึกษาเขาจะพูดประเด็นนี้นะ ขอให้เขาได้พูดเถอะ

 

 

นักศึกษาธรรมศาสตร์ หรือนักศึกษาทั่วไปในรุ่นหลังรัฐประหาร เขาตื่นตัวแบบไหน

     เขาก็ตื่นตัวทั้งนั้นแหละ แต่ที่ผมห่วงคือเขาควรจะรู้ว่าเวลาไหนควรจะตื่น เวลาไหนควรจะหยุดบ้าง ถามว่าทำไมวันนี้นิติราษฎร์ไม่เคลื่อนไหวล่ะ ถามว่านิติราษฎร์ชอบเหรอ แต่ถามว่าทำไมนิติราษร์ไม่เคลื่อนไหว ทั้งที่นิติราษฎร์เคลื่อนไหวก่อนการรัฐประหารมาก แต่หลังการรัฐประหารเขาก็ไม่ถึงกับหยุดการเคลื่อนไหว แต่การเคลื่อนไหวเขามีน้อยมาก ถามว่าเพราะอะไร เพราะเขารู้ว่าเมื่อไรจะต้องตื่น เมื่อไรจะต้องพัก เมื่อไรจะต้องหยุด

 

โครงสร้างของระบบกฎหมาย มันมี ม.44 โผล่ขึ้นมา มันส่งผลต่อการใช้กฎหมายไหม

     มาตรา 44 มีผลทางกฎหมาย 2 ประการ ประการที่หนึ่งคือมาตรา 44 ทำให้รัฐบาลสามารถออกกฎเกณฑ์กติกา คำสั่งทั้งหลาย โดยไม่ต้องใช้กฎกติกาปกติ เช่นถ้าคุณอยากจะลงโทษนาย ก. ปลัดกระทรวง ผู้ว่าคนหนึ่ง อธิบดีคนหนึ่ง ปกติถ้าคุณจะย้ายเขาออกจากตำแหน่ง เขาจะต้องมีความผิด คุณจะต้องมีการกล่าวหา คุณจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเขา จนพิสูจน์ว่าเขาผิดถึงจะย้ายเขาออกจากตำแหน่งได้ กระบวนการตรงนี้ยาวมาก มาตรา 44 ทำให้กระบวนการสั้นลง ไม่ต้องใช้กระบวนการปกติ

     อันที่สองคือ มาตรา 44 เป็นไปตามหลักทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่าการกระทำทางรัฐบาล คือเป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ เป็น Act of Government ผลที่ตามมาคือการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ว่าผิดหรือถูก จะไม่ถูกฟ้องศาล จะฟ้องศาลไม่ได้ สรุปคือมาตรา 44 มีผลสองอย่าง หนึ่งแก้ไขปัญหากระบวนการขั้นตอนทั้งหลาย สองฟ้องผู้ออกคำสั่งไม่ได้

การที่เราไปช่วยคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพวกเขา ผมย้ำอีกทีนึง อาจารย์ป๋วยก็ไปช่วยถนอม หลังถนอมรัฐประหาร นายกฯ อานันท์ก็ไปช่วยสุจินดา คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้คิดหรอกว่าเขาไปช่วยใคร เขาคิดว่าเขาไปช่วยประเทศ อะไรที่ทำได้เขาก็จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า

 

อนาคตจะมีรัฐประหารอีกไหม

     ผมบอกไม่ได้หรอกว่ามันจะมีการรัฐประหารอีกไหม แต่ผมไม่สนับสนุนการรัฐประหาร การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผมก็ไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้รู้จักเขา เขาก็มาเชิญไปเป็น สนช. ผมก็ไปเท่านั้นเอง เพราะผมคิดว่า ผมจะมีโอกาสได้ช่วยเหลือประเทศชาติเท่าที่ทำได้ ผมโชคดี ผมไปอ่านเจอตอนอาจารย์ป๋วยรับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ ถามว่าใครเป็นคนไปเชิญ คนที่มาเชิญคือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วอาจารย์ป๋วยก็รับ และผมก็ไม่ได้ว่าอาจารย์ป๋วย แถมไม่มีใครว่าอาจารย์ป๋วยเป็นพวกเดียวกับเผด็จการด้วย แต่ทีผม มีคนมาว่าว่าผมเป็นพวก คสช.

     อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน คมช. เป็นคนตั้ง สุจินดา คราประยูร ตั้งถามว่า สุจินดา เอานายกอานันท์อยู่ไหม ถามว่า ถ้าคณะรัฐประหารเป็นต้นไม้พิษ สุจินดาเป็นพลไม้พิษไหม อาจารย์ป๋วยได้รับการแต่งตั้งโดยถนอม ถามว่าอาจารย์ป๋วยเป็นพวกถนอมไหม เปล่า ถ้าใครไปอ่านประวัติศาสตร์ อาจารย์ป๋วยก็พูดชัด พูดเหมือนผมนี่แหละ พอดีผมพูดเหมือนอาจารย์ป๋วย เหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย ก็พูดว่าถ้าเราทำอะไรเพื่อประโยชน์ประเทศชาติได้ ถ้าเรามีหนทางที่จะทำอะไรได้ เราก็ไปทำเท่านั้นเอง

     ผมไปเป็นกรรมการปฏิรูปตำรวจ มีคนมาทาบทาม ผมก็บอกเขาไปแล้วว่าผมเป็นอธิการบดี ผมไม่ค่อยมีเวลา แต่เขาก็รู้ว่าผมใกล้จะหมดวาระแล้ว ผมก็รู้ว่ามันก็อาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ในฐานะที่เราเป็นคนไทย ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ ในฐานะเราเป็นคนมีความรู้ ในฐานะที่คนเขาเชื่อเราว่าเราจะทำได้ เราไม่ควรทำเหรอ ผมตั้งคำถามแบบนี้ เราไม่ควรไปช่วยประเทศชาติหรือ เราจะบอกหรือว่าถ้าเขามาจากการเลือกตั้งเราช่วยนะ แต่ถ้าไม่มาจากการเลือกตั้งเราไม่ช่วย เราไม่ได้ดูอย่างนั้นหรอกครับ

     และการที่เราไปช่วยคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพวกเขา ผมย้ำอีกทีนึง อาจารย์ป๋วยก็ไปช่วยถนอม หลังถนอมรัฐประหาร นายกฯ อานันท์ก็ไปช่วยสุจินดา คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้คิดหรอกว่าเขาไปช่วยใคร เขาคิดว่าเขาไปช่วยประเทศ อะไรที่ทำได้เขาก็จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า

 

หมดวาระอธิการบดีแล้วจะไปทำอะไร อนาคตจะไปเล่นการเมืองไหม?

     ลงจากอธิการอย่างเดียวที่ผมกลุ้มใจก็คือ ผมจะขนของไปไว้ที่ไหน เพราะมันเยอะมาก 7 ปี แต่ที่ผมจะทำคือ ผมจะกลับคณะนิติศาสตร์ ไปสอนหนังสือ ไปเขียนตำรา ผมอยากจะเขียนหนังสือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมอยากจะเขียนหนังสือกฎหมายปกครอง ซึ่งคณะนิติศาสตร์ยังมีน้อยมาก ผมจะเหลืออายุรการอีก 2 ปี ถ้าผมเกษียณที่อายุ 60 ปี ก็ไม่ได้คิดจะไปที่ไหน ไม่คิดจะไปอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดจะไปอยู่ศาลปกครอง องค์กรอิสระ ไปเป็นรัฐมนตรี ผมจะอยู่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ผมไม่ได้มีปัญหาอะไร

     ในทางเรียนหนังสือผมสูงสุดแล้ว ผมเป็นด็อกเตอร์ ในทางการสอนหนังสือ ผมสูงสุดแล้วเป็นศาสตราจารย์ ในทางบริหารผมสูงสุดแล้วเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ ผมเป็นนักวิจัยดีเด่นของประเทศ ผมได้เขียนรัฐธรรมนูญ ผมได้ทำมาหมดแล้ว

     ถามว่าผมมีอะไรอยากทำไหม อยากทำ ถามว่าเกษียณแล้วจะไปทำอะไร ผมพูดแล้วว่าผมจะไปตีกอล์ฟกับไปปลูกต้นไม้ จะใช้ชีวิตให้มีความสุขมากๆ หลังจากที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ก็ทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำ ดีไม่ดีอะไรอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคืออยากสอนหนังสือ

     ผมเป็นคนอุบลราชธานี แม่ผมเป็นคนอุบลราชธานี แต่ผมมาเกิดกรุงเทพฯ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากไปช่วยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สอนหนังสือหลังเกษียณ ผมรู้สึกอยากจะไปทำงานชดใช้เมืองแม่หน่อย ในฐานะที่แม่เป็นคนอุบลราชธานี เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการเรามากหรอก แต่เด็กต่างจังหวัดน่าจะต้องการกันเยอะ ก็คิดแค่นั้น จะใช้ชีวิตธรรมดาสามัญ ไม่ได้โลดโผนอะไร แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธนะ งานที่มันท้าทาย ก็อาจจะอยากทำ แต่ว่าพูดให้ชัดอีกทีหนึ่ง ไม่ชอบงานการเมือง ไม่ชอบเป็น ส.ส. ไม่ชอบเป็น ส.ว.และไม่เป็นรัฐมนตรีแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising