×

คนโบราณว่าไว้ เอากระเทียมทาหน้าแก้กระฝ้าบนใบหน้าได้ เราจะเชื่อต่อไปดีไหม?

12.07.2019
  • LOADING...
Benefits of Garlic for face Skin

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • คำพูดที่ว่า เอากระเทียมทาหน้าแก้กระฝ้าได้ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย หากติดตามข่าวสารชาวต่างประเทศที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้การดูแลผิวหน้า ก็จะเห็นกระเทียมเป็นสูตรหนึ่งที่ใช้ผสมในครีมหรือทรีตเมนท์ต่างๆ ใช้กันตั้งแต่คนดัง เซเลบ จนถึงคนธรรมดาทั่วไป จึงเป็นสูตรที่ผู้คนใช้กันมานานแล้ว
  • กระเทียมจึงใช้เป็นยารักษากระฝ้าได้ เพราะคุณสมบัติของมันนี่เอง โดยจะออกฤทธิ์ดีกับกลุ่มฝ้ามากกว่ากระ สารสกัดจากกระเทียมช่วยป้องกันแสงแดด ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตใต้ผิวหนังดีขึ้น ทำให้ฝ้าดูจางลง ต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่แนะนำให้นำมาทาหน้าสดๆ 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำคนโบราณว่าไว้ ‘เอากระเทียมทาหน้าแก้กระฝ้าได้’ แต่จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครบอกได้ หลายคนก็ปฏิบัติตามๆ กันมาโดยไม่ได้มีข้อโต้แย้งอะไร เพราะคิดว่าอะไรที่ผู้ใหญ่บอกว่าดี สิ่งนั้นน่าจะเชื่อถือได้ ครั้งนี้ผมเลยอยากไขข้อสงสัยเรื่องกระเทียมกับกระฝ้าบนใบหน้าสักนิดว่า จริงๆ แล้ววัตถุดิบก้นครัวอย่างกระเทียมนั้นมีสรรพคุณครอบจักรวาล สามารถรักษาหน้าเราได้จริงหรือ  

 

แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เรามารู้จักกระเทียมกันก่อน กระเทียมเป็นพืชที่มนุษย์ใช้บริโภคมามากกว่า 7,000 ปี เป็นพืชกลุ่มเครือญาติกับหอม ต้นกำเนิดแถบเอเชียกลาง เป็นอาหารของคนทั่วไป สมัยโรมันมีคำพูดว่า กระเทียมคืออาหารของชนชั้นล่าง สมัยอียิปต์โบราณนอกจากใช้เป็นอาหารก็ยังใช้เป็นยา ปัจจุบันประเทศที่ปลูกกระเทียมส่งออกมากที่สุดคือประเทศจีน คนไทยก็บริโภคกระเทียมกันมาก กระเทียมเมื่อปอกเปลือกเรียกกว่ากระเทียมสด กระเทียมสดถูกสับและนำมาบรรจุในถ้วยน้ำจิ้มในร้านสุกี้หม้อต้มชื่อดัง เป็นเครื่องเคียงเวลารับประทานอาหาร หรือร่วมเป็นเครื่องปรุงรสกับพริกเม็ดผสมในซอสสุกี้ได้

 

Benefits of Garlic for face Skin

 

สรรพคุณของกระเทียม

กระเทียมมีอยู่หลายสายพันธุ์และใช้รับประทานกันทั่วโลก คำพูดที่ว่า เอากระเทียมทาหน้าแก้กระฝ้าได้ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย หากติดตามข่าวสารชาวต่างประเทศที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้การดูแลผิวหน้า ก็จะเห็นกระเทียมเป็นสูตรหนึ่งที่ใช้ผสมในครีมหรือทรีตเมนท์ต่างๆ ใช้กันตั้งแต่คนดัง เซเลบ จนถึงคนธรรมดาทั่วไป จึงเป็นสูตรที่ผู้คนใช้กันมานานแล้ว

 

ในตัวกระเทียมเอง เมื่อเราไปดูส่วนประกอบแล้วจะพบว่ามีวิตามินบี ทั้ง B1, B2, B3, B5, B6, B9 มีวิตามินซี มีเกลือแร่ แร่ธาตุหลายชนิด แคลเซียม, เหล็ก, แมกนีเซียม, แมงกานีส, ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม, เซเลเนียม, สังกะสี ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการเสริมภูมิต้านทานและการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี งานวิจัยพบว่า กระเทียมรูปแบบรับประทานช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ ลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยต้านโรคหวัดด้วย สารสกัดจากกระเทียมจึงเป็นยาแบบหนึ่ง มีคุณลักษณะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะหากตำกระเทียมหรือสับกระเทียมแล้วทิ้งไว้ 20-30 นาที จะมีน้ำกระเทียมที่ออกมาแล้วมีคุณลักษณะของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดสูง ดีต่อสุขภาพ กระเทียมยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ดี ทั้งในรูปแบบรับประทานและรูปแบบทา ในรูปแบบทายังยับยั้งผลเสียจากแสงแดด โดยเฉพาะรังสียูวีบี (UVB) ได้ด้วย

 

ส่วนกระฝ้านั้นเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากหลายปัจจัย พบมากในผู้หญิง โดยกรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องมาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ส่งผลให้ผิวหน้าเป็นกระฝ้าได้ง่าย และหากใช้ชีวิตโดนแดดบ่อยๆ ก็ทำให้มีจุดน้ำตาลหรือจุดสีคล้ำๆ เกิดขึ้นบนหน้าได้ ถ้าเป็นจุดเล็กๆ กระจายทั่วหน้า เห็นได้ชัด ก็จะเป็นกลุ่มพวกกระ ถ้าเป็นปื้นแถบกว้าง สีคล้ำ เห็นไม่ชัด ก็จะเป็นฝ้า หากผิวหน้าโดนแดดมาก นอกจากจะเป็นกระฝ้าก็ยังเป็นโรคเนื้องอกผิวหนัง ไฝ ขี้แมลงวัน ผิวหยาบกร้าน โดนแสงแดดทำลายจนเกิดริ้วรอย และทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอกันได้ สำหรับเรื่องฝ้านั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังมีปัญหา ทำให้เป็นฝ้าแบบลึกและแบบตื้นได้

 

กระเทียมจึงใช้เป็นยารักษากระฝ้าได้ เพราะคุณสมบัติของมันนี่เอง โดยจะออกฤทธิ์ดีกับกลุ่มฝ้ามากกว่ากระ สารสกัดจากกระเทียมช่วยป้องกันแสงแดด ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตใต้ผิวหนังดีขึ้น ทำให้ฝ้าดูจางลง ต้านอนุมูลอิสระ คือต้านฝุ่นละออง มลพิษ แสงแดดที่จะมาทำลายผิวได้ ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดหลายตัวที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ 

 

Benefits of Garlic for face Skin

 

ดีจริง แต่ไม่เหมาะกับการทาหน้า

สำหรับคำถามว่าเอากระเทียมสดๆ มาทาหน้านั้น ก็คงช่วยเรื่องกระฝ้าได้พอควรหากใช้สม่ำเสมอ แต่สำหรับผมคงไม่แนะนำ เพราะกระเทียมสดมีปัญหาเรื่องกลิ่น และหากสารจากกระเทียม โดยเฉพาะน้ำกระเทียมเข้าตาโดยตรงก็จะแสบได้ หากใช้ทาผิวหนัง บางคนก็แพ้ได้จากการที่ใบหน้าจะสัมผัสกับสารความเข้มข้นสูงเกินไป ผิวหนังอาจจะระคายเคืองหรือถูกกัดจนลอกหลุดออกมาได้ (แต่นี่ก็คงเป็นที่มาว่าทำไมมีคำพูดว่ากระเทียมสามารถรักษากระได้ คือกัดผิวบริเวณที่เป็นจนหลุดได้เพราะความเข้มข้นที่สูงเกินไป) มีรายงานหลากหลายจากผู้ใช้กระเทียมสดกับผิวทั่วโลก ดังนั้นแนะนำว่าหากสนใจใช้กระเทียมสด ให้ใช้วิธีรับประทานจะดีกว่า แต่ก็ระวังเรื่องกลิ่นปากและลมหายใจจะเหม็นกระเทียมได้

 

สำหรับการบำรุงหน้า วิธีที่จะปลอดภัยกว่าการเอากระเทียมสดทาหน้าคือ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ความงามเหล่านี้ หลักๆ ที่มีส่วนผสมของกระเทียม 4 ตัว ได้แก่

 

  1. raw garlic juice (RGJ)
  2. heated garlic juice (HGJ)
  3. dehydrated garlic powder (DGP) 
  4. aged garlic extract (AGE) 

 

โดย AGE เป็นตัวที่พบมากที่สุด เป็นสารสกัดจากกระเทียมที่บ่มไว้นานกว่าปกติ วิธีการสกัดกระเทียมใช้กรรมวิธีตัดกระเทียมเป็นแว่นๆ แล้วผสมแอลกอฮอล์ ก่อนสกัดบางส่วนออกมาใช้งาน สารอีกสองตัวที่เป็นสาระสำคัญในกระเทียมคือ S-allylcysteine (SAC) และ S-allylmercaptocysteine (SAMC) ที่กล่าวมาทั้ง 6 ชื่อภาษาอังกฤษนี้ หากพบในผลิตภัณฑ์ความงามก็ให้รู้ได้ว่ามีกระเทียมที่ผ่านการสกัดในมาตรฐานโรงงานเป็นส่วนประกอบ 

 

Benefits of Garlic for face Skin

 

พวกนี้จะอยู่ทั้งในผลิตภัณฑ์บำรุงหน้า ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ผลิตภัณฑ์กันแดด และช่วยทั้งเรื่องบำรุงผิว ลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำสีผิวไม่สม่ำเสมอ และช่วยรักษากระฝ้าได้บ้าง การที่เราควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยเมื่อใช้กับผิวอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม หากบางคนต้องการความเป็นธรรมชาติ อยากทดลองใช้กระเทียมสดๆ ผสมทรีตเมนท์ตามสูตรต่างๆ ตามเพื่อน ตามเคล็ดลับที่แชร์กันว่อนอินเทอร์เน็ต หรือตามสูตรคนโบราณว่าไว้หมอก็ไม่ขัดศรัทธา แต่ขอให้ใช้อย่างพึงระวัง ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการแสบ แดง คัน อาการลอกมาก มีผดผื่น ให้หยุดใช้ และพบแพทย์นะครับ

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

1. Garlic in dermatology

Nader Pazyar and Amir Feily

Dermatol Reports. 2011 Jan 31; 3(1): e4.

Published online 2011 Apr 28. doi: 10.4081/dr.2011.e4

PMCID: PMC4211483

PMID: 25386259

 

2. Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e

Lowell A. Goldsmith, Stephen I. Katz, Barbara A. Gilchrest, Amy S. Paller, David J. Leffell, Klaus Wolff

 

3. Garlic Burn to the Face.

J Spec Oper Med. Winter 2016;16(4):80-81.

Oberle M, Wachs T, Brisson P.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising