×

จาก G20 ถึง APEC เวทีประชุมที่ผู้นำโลกตั้งความหวัง ท่ามกลางวิกฤตที่ต้องการความสามัคคีกว่าที่เคย

15.11.2022
  • LOADING...

ช่วงสัปดาห์นี้ ถือเป็นสัปดาห์ที่ทั่วโลกจับตามอง เนื่องจากจะมีการประชุมสำคัญ 2 เวทีใหญ่ เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กำลังจัดขึ้น ณ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ตามด้วยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

 

การประชุมทั้ง 2 เวที มีขึ้นท่ามกลางความคาดหวังของประชาคมโลก ในการระดมภูมิปัญญาและยกระดับความพยายาม เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทับซ้อนกัน อาทิ โรคระบาดใหญ่อย่างโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด ตลอดจนสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิศาสตร์การเมืองโลก อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนความขัดแย้งข้ามช่องแคบ ระหว่างไต้หวันและจีน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปราะบาง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

ทางออกของวิกฤตเหล่านี้ คือการสร้างฉันทามติและส่งเสริมการประสานงานกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Major Economies) เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และชาติยุโรป ซึ่งจะเป็นผู้นำความพยายามของโลก และเป็นจุดโฟกัสหลักของการประชุมทั้งสองเวที

 

ในขณะเดียวกัน ยังมีกระแสเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการวางแผนจัดการที่ดี และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมดุล

 

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าการที่จะฝ่าฟันความยากลำบากเหล่านี้ได้ บรรดาสมาชิก G20 และ APEC จำเป็นต้องจับมือกันทำงานด้วยความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมบรรยากาศแห่งความร่วมมือ

 

โลกต้องการความสามัคคีมากกว่าที่เคย

 

บทความจากสำนักข่าว Xinhua สื่อทางการจีน ชี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับการบ่อนทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างรุนแรง จากภาวะความแบ่งแยกและปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้า ตลอดจนการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพิเศษของประเทศต่างๆ 

 

โดยอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยูกิโอะ ฮาโตยามะ (Yukio Hatoyama) ให้สัมภาษณ์ต่อ Xinhua ระบุว่า โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และชะตากรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็เชื่อมโยงกัน โดยวิกฤตในประเทศหนึ่งก็ส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ

 

ในช่วงเวลาวิกฤตินี้ สมาชิก G20 และ APEC ซึ่งต่างเป็นเวทีหลักสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำเป็นต้องใช้การรวมตัวกันทั้งสองครั้ง เป็นโอกาสเพื่อเชื่อมโยงความแตกต่าง และส่งเสริมการสื่อสาร ตลอดจนสร้างฉันทามติในระดับโลก พร้อมทั้งทำงานร่วมกันด้วยความเป็นเอกภาพ

 

และเพื่อจัดการกับความท้าทายได้ดีขึ้น บรรดาผู้นำทั้ง G20 และ APEC ต่างถูกเรียกร้องให้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลของโลก ในขณะที่เสริมสร้างการประสานงานซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ เช่น การต่อสู้กับโรคระบาด การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรักษาระบบเศรษฐกิจโลกให้มีเสถียรภาพ

 

สำหรับกลุ่ม G20 ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มีตัวเลข GDP รวมกันกว่า 80% ของทั้งโลก และตัวเลขการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 75% ในขณะที่มีประชากรมากถึง 2 ใน 3 ของประชากรโลก ถูกมองว่าจะต้องเป็นผู้นำและแบกรับความรับผิดชอบในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับช่วงหลังวิกฤตการเงินใน 2008

 

ส่วน APEC นั้น มีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ รวมมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อย่าง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง และมีประชากรในประเทศสมาชิกรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีตัวเลข GDP รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก อีกทั้งยังมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

 

ทางด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง แสดงความเห็นว่า การประชุม G20 และ APEC นั้นอาจช่วยรับมือกับความท้าทายได้และไม่ได้ในบางเรื่อง เนื่องจากชาติสมาชิกที่มีทั้งความเห็นพ้องและเห็นต่างกัน

 

โดยใน 2 เวที มีการหารือประเด็นที่เหมือนกัน อาทิ เรื่องสถาปัตยกรรมด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน แต่ท่าทีของชาติสมาชิกในบางประเด็น เช่น เรื่องพลังงาน ยังมีมุมมองแตกต่างกัน

 

ในประเด็นความมั่นคงทางอาหารนั้น ปัจจัยหลักเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ถือว่าดีขึ้น จากการที่รัสเซียยอมทำข้อตกลงเปิดทางให้เรือบรรทุกธัญพืชจากยูเครน สามารถเดินทางออกจากท่าเรือในทะเลดำ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้ 

 

โดย รศ.ดร.สมชาย มองว่าทั้งเวที G20 และ APEC สามารถเป็นแรงกดดัน ให้รัสเซียยอมเดินหน้าข้อตกลงส่งออกธัญพืชนี้ต่อไป เนื่องจากการหยุดข้อตกลงนั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งหลายประเทศเป็นพันธมิตรของรัสเซียเองด้วย

 

ขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า สมาชิกกลุ่ม G20 และ APEC มีประเทศที่ต้องการให้ราคาพลังงานลดลง อาทิ สหรัฐฯ ในขณะที่บางประเทศ เช่น รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ไม่ต้องการให้ราคาพลังงานลดลงเนื่องจากอาจกระทบต่อรายได้และผลประโยชน์ของชาติ ทำให้การบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้นยากที่จะสำเร็จ

 

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวนนั้น รศ.ดร.สมชาย มองว่ามีองค์ประกอบที่ทั้ง 2 เวทีประชุม อาจช่วยได้บ้าง โดยทุกประเทศต่างรับรู้ว่าต้องมีบทบาท แม้บางประเทศ เช่น อินเดีย จะมีความไม่พอใจและมองว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และต้องการให้มีการสนับสนุน แต่ก็มีโอกาสที่สถานการณ์จะดีขึ้น หากดูจากตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้ ที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เตรียมเสนอข้อตกลงสภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนทางด้านการเงิน มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้าน แลกกับการที่อินโดนีเซีย เร่งปิดกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และจำกัดโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

 

การพัฒนา นำสู่เส้นทางแห่งการฟื้นฟู

 

เดวิด มัลพาสส์ (David Malpass) ประธานธนาคารโลก กล่าวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เตือนว่าเศรษฐกิจโลก “ใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย” เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ธนาคารโลก ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2023 จาก 3% เป็น 1.9%

 

โดยการระบาดของโควิด ยังคงก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ปัญหาโดยรวม ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งรวมถึงด้านการค้าและการลงทุนแบบเปิด รวมถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการเงินที่ยั่งยืน

 

การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในหัวข้อ “ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม (Recover Together, Recover Stronger)” จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาปัตยกรรมด้านสุขภาพทั่วโลก ตลอดจนเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขช่องว่างการพัฒนาที่กว้างขึ้น ระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน

 

ลำดับความสำคัญดังกล่าว ยังเป็นประเด็นหลักในเวทีประชุม APEC ด้วย โดย รีเบคกา สตา มาเรีย (Rebecca Sta Maria) ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการ APEC ชี้ว่า การบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง การปฏิรูปทางโครงสร้าง และความสอดคล้องกันของกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ APEC ให้ความสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ยังได้ร่วมกันขยายความร่วมมือและส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค ทำให้เศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก มีพลวัตที่ก้าวหน้าและดูมีอนาคตมากที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยมีการก่อตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับภูมิภาค ที่มุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังเปิดตัวความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกำลังดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการสร้างเขตการค้าเสรีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก

 

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ภาวะโรคระบาดที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ กระทบต่อชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ระบุว่า ในปี 2021 มีจำนวนประชาชนที่อดอยากเพิ่มขึ้นอีก 46 ล้านคน เป็น 828 ล้านคน ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ ยิ่งออกห่างจากการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030

 

ในบริบทเหล่านี้ ประชาคมโลกจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การรับมือโควิด และการฉีดวัคซีน ตลอดจนการบรรเทาความยากจน 

 

โดยประเทศที่พัฒนาแล้วควรปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การพัฒนาทั่วโลกเป็นไปอย่างสมดุลและครอบคลุมมากขึ้น

 

ขณะที่ผลจากการเผชิญหน้ากับความท้าทายที่หลากหลายและซับซ้อน ทำให้ที่ประชุม G20 และ APEC คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นจริง และส่งมอบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ให้กับประเทศและภูมิภาคที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการฟื้นฟูแก่ทั่วโลก

 

ทางด้าน แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซียกล่าวว่า การเป็นประธาน G20 ของอินโดนีเซียในปีนี้ เป็นการเสริมสร้างระบบพหุภาคี และความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเปิดกว้าง ยุติธรรม เป็นประโยชน์ร่วมกัน และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนจนและผู้ที่เปราะบาง

 

สงครามยูเครนทำให้ชาติ APEC แบ่งแยก?

 

ด้านสำนักข่าว Voice of America (VOA) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ แมตต์ เมอร์เรย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน APEC ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งชี้ถึงความแบ่งแยกภายในกลุ่ม APEC จากมุมมองกรณีการทำสงครามในยูเครนของรัสเซีย โดยระบุว่าเป็นเรื่องยากที่ 21 ชาติสมาชิก APEC จะเห็นพ้องต้องกัน ในการออกแถลงการณ์ร่วมเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะสงครามยูเครน

 

“ประเด็นสำคัญหลักใน APEC สำหรับปีนี้ ที่มีความท้าทายอย่างมาก คือการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และสถานการณ์ที่ก่อตัวขึ้นทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตอาหารและพลังงาน” เมอร์เรย์กล่าว

 

มุมมองที่แตกต่างกันของชาติสมาชิก APEC เกี่ยวกับสงครามยูเครน ทำให้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกไม่สามารถเห็นพ้องและออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามได้ และมุมมองหนึ่งที่บางชาติสมาชิก เช่น รัสเซีย ไม่สบายใจ คือการเลือกใช้ภาษาในแถลงการณ์ เช่น คำว่า ‘สงคราม’ ซึ่งรัสเซียยืนกรานมาตลอดว่า การส่งกำลังทหารไปรบในยูเครนนั้นเป็นเพียง ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ 

 

“มีบางเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างแน่นอน ที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะรวมภาษานั้นไว้ในถ้อยแถลง” 

 

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย มองว่าประเด็นความไม่สบายใจในการเลือกใช้ภาษานั้น ชาติสมาชิก APEC ต้องหารือกันเพื่อที่จะได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจ ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีโอกาสที่ชาติสมาชิกจะเห็นต่างกันจนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมในเรื่องผลกระทบจากสงครามยูเครน

 

ภาพ: Jack Taylor / AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising