×

‘Fund Flow’ ยังไม่เข้าเอเชีย แม้หุ้น ‘ยุโรป-สหรัฐฯ’ ปรับฐาน

29.10.2020
  • LOADING...
‘Fund Flow’ ยังไม่เข้าเอเชีย แม้หุ้น ‘ยุโรป-สหรัฐฯ’ ปรับฐาน

ภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกช่วง 1 วันที่ผ่านมา เริ่มจากทางฝั่งตะวันตก คือตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้าในระดับ 3-4% ส่งผลให้ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชีย (วันนี้) ส่วนมากยืนอยู่ในแดนลบ แต่เป็นระดับการติดลบที่น้อยกว่าในช่วงประมาณ 0.5-1.5% เว้นแต่ตลาดหุ้นจีนที่พลิกกลับมายืนในแดนบวกได้ 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทย (SET) หลังจากเปิดตลาดช่วงแรก ดัชนีลดลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1,195.99 จุด ลดลง 11.95 จุด ก่อนที่ดัชนีจะปิดการซื้อขายที่ 1,201.64 จุด ลดลง 6.30 จุด หรือ -0.52% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปที่เพิ่งเปิดการซื้อขายล่าสุด ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ราว 0.2-0.7% จากวันก่อนหน้า 

 

อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผลจากการล็อกดาวน์หลังการระบาดหนักของโควิด-19 ระลอกสอง รวมถึงการลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

 

“แม้ว่าจะมีการเทขายหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป แต่ไม่คิดว่าจะเห็นการโยกเงินลงทุนกลับมาทางเอเชีย แต่น่าจะเห็นการดึงเงินออกมาก่อนเพื่อรอประเมินทิศทางหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า Fund Flow ในเอเชียยังไม่ได้ไหลเข้าชัดเจน อย่างไต้หวัน Fund Flow ไหลออก 4 วันติดต่อกัน ขณะที่เกาหลีใต้เห็นการไหลเข้าได้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นไทยยังคงเป็นเทรนด์ของการไหลออก”

 

ส่วนทิศทาง Fund Flow ภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ จากสถิติที่ผ่านมา มักจะเห็นการไหลออกของเงินลงทุนจากตลาดหุ้นไทย ในช่วงหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ 4 รอบที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลดลงก่อนสำหรับ 1-4 สัปดาห์แรก หลังการเลือกตั้ง 

“สาเหตุที่เงินทุนไหลออก และกลับไปยังสหรัฐฯ เป็นเพราะว่าหลังการเลือกตั้งจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สามารถออกมาได้ทันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้มาตรการดังกล่าวจะไปเกิดหลังการเลือกตั้ง และดึง Fund Flow กลับไปยังสหรัฐฯ และในไทยเองยังมีปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกด้วย”

ทั้งนี้ หากดัชนี SET หลุดระดับ 1,200 จุดลงไป ภาพระยะกลางมีโอกาสที่ดัชนีจะลงไปทดสอบระดับ 1,150 จุด หากการเมืองยังคงยืดเยื้อ ส่วนระยะสั้นประเมินแนวรับที่บริเวณ 1,190 จุด โดยที่แนวโน้มสัปดาห์หน้า ดัชนีน่าจะมีลักษณะ Sideway Down เพราะปัจจุบันยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกใดๆ เข้ามาสนับสนุน

“กลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นอาจจะ Wait and see ไปก่อน แต่ระยะกลางถึงยาว มองว่าระดับ 1,150-1,200 จุด คือระดับในการซื้อสะสมสำหรับการลงทุนในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า โดยราคาหุ้นปัจจุบันตอบรับปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว”

สำหรับการลงทุนควรเน้นเลือกหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว โดยเน้นไปที่หุ้นขนาดกลางและเล็ก เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลดลง คือ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการล็อกดาวน์ในยุโรป เช่น บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) ส่วนกลุ่มธนาคารอาจจะพอเก็งกำไรช่วงสั้นจากเรื่องผล Stress Test แต่ระยะยาวยังอาจถูกกดดันจาก NPL ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า เราให้น้ำหนักกับการที่สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ (โจ ไบเดน) จึงคาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงลบต่อนโยบายขึ้นภาษีนิติบุคคลที่จะกระทบต่อผลประกอบการหุ้นสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในเชิงของการจัดสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) คาดจะเห็นการลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐฯ และเพิ่มน้ำหนักหุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้การปรับลดลงของหุ้นเอเชียอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า

ระยะสั้นตลาดยังเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 แต่หลังจากนี้คาดว่าโมเมนตัมจะกลับไปยังหุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มผ่านจุดต่ำสุด ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่ลงมาลึกมีโอกาสฟื้นตัว

สำหรับการซื้อขายหุ้นไทยแยกตามกลุ่มนักลงทุนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิ 1.72 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 1.13 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2.57 หมื่นล้านบาท ขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 2.88 พันล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising