×

จาก COTTO สู่ SCGD บริษัทไทยที่กำลังจะปรับโครงสร้าง และ IPO ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในระดับอาเซียน

02.11.2023
  • LOADING...
SCG Decor

หากถามผู้ที่กำลังสร้างบ้านว่าเมื่อนึกถึงกระเบื้องเซรามิกสำหรับปูพื้น บุผนัง และสินค้าตกแต่งพื้นผิวอื่นๆ (Decor Surfaces) จะนึกถึงแบรนด์อะไรเป็นอันดับแรก

 

แน่นอนว่าชื่อที่ยืนหนึ่งต้องหนีไม่พ้น COTTO ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อันดับ 1 ของคนไทย

 

แต่รู้หรือไม่ว่าวันนี้ COTTO ได้อยู่ภายใต้บ้านหลังใหม่ที่ชื่อว่า ‘บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน)’ หรือ SCGD ที่ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้ว

 

SCGD นั้นเกิดจากการปรับโครงสร้างโดยรวมเอาธุรกิจที่เกี่ยวกับกระเบื้อง สินค้าตกแต่งพื้นผิว และสุขภัณฑ์ ที่มีตั้งแต่โรงงานผลิตไปจนถึงร้านค้าปลีกสินค้าแบรนด์ของตัวเอง ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เข้าไว้ด้วยกัน

 

ทำไม COTTO ต้องไปอยู่ภายใต้ SCGD และบริษัทที่กำลัง IPO นี้มีความน่าสนใจอย่างไร เราจึงจะชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้ผ่านบทสรุปจุดแข็งจำนวน 6 ข้อด้วยกัน

 

1. การเป็น ‘ผู้นำด้านธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในระดับภูมิภาค’ แม้ COTTO จะเป็นเบอร์ 1 ในไทยที่ทำธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ที่มีมูลค่าตลาดในประเทศไทยรวมกว่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่มหาศาลแล้ว แต่เทียบไม่ได้เลยกับตลาดในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่เมื่อรวมกับไทยแล้วมีขนาดใหญ่กว่า 6 เท่า โดยมีมูลค่าประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าจะกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ SCGD สามารถเติบโตได้อีกมาก โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว แบรนด์สินค้ากระเบื้องของ SCGD ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่วนแบรนด์สินค้าสุขภัณฑ์ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยอีกด้วย

 

SCGD มีโรงงานที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ ทั้งโรงงาน 7 แห่งในไทย, 6 แห่งในเวียดนาม, 1 แห่งในฟิลิปปินส์ และ 1 แห่งในอินโดนีเซีย ซึ่งตลาดหลักอย่างไทยและเวียดนาม SCGD ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำตลาดทั้งสิ้น

 

2. เป็น ‘แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน’ ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่ตลาดแมสไปจนถึงตลาดพรีเมียม หลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีครบทั้งแบรนด์ COTTO, SOSUCO และ CAMPANA ในไทย, แบรนด์ PRIME ในเวียดนาม, แบรนด์ MARIWASA ในฟิลิปปินส์ และแบรนด์ KIA ในประเทศอินโดนีเซีย

 

3. การยอมรับของแบรนด์ในอาเซียนไม่ได้เกิดจากสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมาจากการมี ‘ทีมออกแบบและพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญ’ ทำให้มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าสูง (High-Value-Added Products)

 

โดยเบื้องหลังมาจากการมีนักวิจัยและพัฒนาสินค้าผู้เชี่ยวชาญกว่า 250 คน ซึ่งส่งผลดีในแง่ของรายได้ และ SCGD ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะ 21% ของรายได้ในปี 2022 มาจากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-Value-Added Products)

 

4. ‘การผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย’ ก่อให้เกิดความเป็นเลิศด้านคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในการผลิตของ SCGD มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในหลากหลายด้าน ทั้งระบบหุ่นยนต์ในการผลิต และระบบรถขนถ่ายอัตโนมัติตามเส้นทางที่กำหนด เพื่อขนถ่ายสินค้าระหว่างกระบวนการผลิต

 

การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยในการวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพ ตลอดจนระบบบรรจุและการวางซ้อนสินค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการรับรองจากหลายองค์กร รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้บริหารต้นทุนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

 

5. ‘ช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย’ ทำให้ SCGD สามารถเข้าถึงลูกค้าในทุกรูปแบบ โดยมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย (Dealer) กว่า 500 รายในไทย และกว่า 250 รายในต่างประเทศ ตัวแทนจำหน่ายต่อ (Sub-Distributors) เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 รายทั่วโลก รวมถึงยังมีการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ทั้งในไทยและต่างประเทศอีกหลายราย

 

นอกจากนี้ยังมีช่องทางหน้าร้านและร้านออนไลน์ของตัวเองได้แก่ COTTO LiFE รวม 3 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และเชียงใหม่ มีคลังเซรามิกกว่า 100 สาขา ซึ่งมีสาขาตั้งอยู่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของไทย

 

รวมถึง CTM (Ceramic Tiles and More) ซึ่งเป็นร้านค้าจัดจำหน่ายสินค้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ และร้าน BELANJA ซึ่งเป็นร้านค้าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องบุผนัง และสุขภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้ง SCGD ได้ส่งออกไปยัง 57 ประเทศ

 

6. ‘การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ และกระบวนการที่คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นสิ่งที่ SCGD ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นผ่านกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น การนำพลังงานชีวมวลมาใช้สำหรับผลิตลมร้อน

 

ด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม SCGD ได้นำของเสียที่ไม่เป็นอันตรายกลับมาหมุนเวียนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการมีฉลากเพื่อยืนยันถึงผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงาน ซึ่งความจริงจังด้านความยั่งยืนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของ SCGD ได้รับฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงฉลากประหยัดน้ำ สำหรับสินค้าประเภท Sanitary Ware & Fittings

 

ผลลัพธ์จากจุดแข็งได้สะท้อนออกมาในรูปแบบที่สามารถวัดผลได้ชัดเจนที่สุด นั้นคือผลประกอบการ ซึ่งตอนที่เป็น COTTO รายได้ในปี 2022 อยู่ที่ 13,224 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ 449 ล้านบาท1 และมีทรัพย์สินรวม 11,310 ล้านบาท

 

แต่เมื่อเป็น SCGD พบว่ารายได้ในช่วงเดียวกันได้เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า เป็น 30,886 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ 2.6 เท่า เป็น 1,163 ล้านบาท1 และมีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า เป็น 40,576 ล้านบาท

 

แม้วันนี้ SCGD จะแข็งแกร่งแล้วแต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งได้วางแผนไว้ใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่

 

  1. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากโอกาสจะมาจากตลาดมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท และประชากรรวมกันกว่า 560 ล้านคนแล้ว SCGD ยังวางแผนคว้าโอกาสจากการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการใช้จุดแข็งจากการเป็นผู้นำของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในหลายๆ ประเทศในอาเซียน เพื่อต่อยอดขยายโอกาสเติบโตของธุรกิจสุขภัณฑ์ในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงการใช้สินค้าประเภท Smart Toilet ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
     
    เทียบให้เห็นภาพชัดเจน การใช้สินค้าประเภท Smart Toilet ในญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 80% และยังเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีสัดส่วนการใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าประเทศเหล่านั้นมาก ทำให้โอกาสยังมีอยู่อีกมาก

 

  1. ต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ในประเทศไทย และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ในภูมิภาคอาเซียน โดยการประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจที่เข้มแข็งของประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้ไปขยายใช้ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เพิ่มมูลค่าสูง (High-Value-Added Products) การขยายธุรกิจให้ครอบคลุมถึงวัสดุตกแต่งพื้นผิวอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกระเบื้องเซรามิก เช่น กระเบื้องไวนิล SPC (Stone Plastic Composite) กระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) ที่ปัจจุบันมีการเติบโตของตลาดเป็นอย่างดี

 

  1. ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces and Bathroom) เช่น เฟอร์นิเจอร์ในห้องน้ำหรือห้องครัว ปูนกาว ยาแนว เป็นต้น

 

  1. บริหารห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านการผลิตและการจัดหาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Regional Optimization and Global Sourcing Powerhouse) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำกำไร
     
    ในแง่ของ Regional Optimization นั้น ผลลัพธ์ที่ผ่านมา บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO สามารถลดต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิก 4 แห่งในประเทศไทย (80 ล้านตารางเมตร) ในขณะที่ SCGD มีโรงงานผลิตกระเบื้องรวมทั้งหมด 12 โรงงาน (187.2 ล้านตารางเมตร) ทั่วอาเซียน ซึ่งมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนจากการผลิต นอกจากนี้จะเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของ SCGD
     
    ขณะที่ Global Sourcing Powerhouse นั้น ผลลัพธ์ที่ผ่านมา COTTO จัดหากระเบื้องเซรามิก 12 ล้านตารางเมตรต่อปี โดย SCGD มีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มการจัดหากระเบื้องเซรามิกมากกว่า 20 ล้านตารางเมตรต่อปี ภายในปี 2024 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรองในการจัดหาสินค้าได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังวางแผนให้ SCGD ขยายขอบเขตการจัดหาไปยังสินค้ากลุ่มสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำต่างๆ อีกด้วย

 

  1. เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง SCGD ได้มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero) ทั้งหมดจะเกิดขึ้นใน 2 แกนหลัก ได้แก่

 

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

  • มีเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice คิดเป็น 80% ของยอดขายภายในปี 2030
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านกลุ่มผลิตภัณฑ์หมวดสุขภาพและความสะอาด เช่น กระเบื้องดักจับฝุ่น
  • ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน โดยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุหมุนเวียน 5-80% และสุขภัณฑ์ที่ลดการใช้น้ำลง 20-37%
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยต่ำ (น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

 

กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

  • เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ภายในปี 2030 (จากปี 2020)
  • เชื้อเพลิงทางเลือกผ่านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวลจาก 12% เป็น 46% ในปี 2030
  • เปลี่ยนแหล่งพลังงาน โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 15% ภายในปี 2030 และเพิ่มสัดส่วนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าเป็น 55% ภายในปี 2030
  • การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดพลังงานอย่างต่อเนื่อง

 

จะเห็นได้ว่า SCGD มีการวางแผนที่ชัดเจนที่นอกจากตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังสอดคล้องไปกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างมาก

 

สำหรับผู้ที่สนใจ SCGD สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=539740&lang=th

 

หมายเหตุ: 1  ไม่รวมค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองด้อยค่าของโรงงานผลิตแผ่นหินขนาดใหญ่

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising