×

ชัยชนะอีกครั้งของอังกฤษ เสียงคำรามสิงโตหนุ่มที่ก้องทั่วป่า

25.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read

อังกฤษทำผลงานน่าผิดหวังในฟุตบอลโลกมานานหลายปี โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผลงานตกต่ำจนแฟนบอลหมดศรัทธาต่อทีมชาติ

  • คนอังกฤษก็ไม่กล้าคาดหวังอะไรจากทีมชาติอังกฤษชุดนี้ เพราะผู้จัดการทีมอ่อนประสบการณ์ และนักเตะส่วนใหญ่เป็นดาวรุ่งที่ห่างไกลจากคำว่าสตาร์
  • หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติอังกฤษในยุคก่อนหน้าที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Golden Generation หรือทีมยุคทอง ล้มเหลวนั้นเกิดจากความสัมพันธ์ภายในทีมที่ไม่ค่อยดี
  • นักเตะอังกฤษชุดนี้ไม่มีกำแพงระหว่างใจและลงเล่นโดยปราศจากความคาดหวัง ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

นานมากแล้วนะครับที่แฟนบอลทีมชาติอังกฤษไม่ได้เบิกบานกับผลงานของทีม ‘สิงโตคำราม’ ในสนามฟุตบอลโลก

 

ให้คิดย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาดีๆ ก็อาจต้องไปไกลถึงฟุตบอลโลก 1990 ที่ประเทศอิตาลี ที่อังกฤษภายใต้การนำของยอดผู้จัดการทีมสุภาพบุรุษลูกหนัง เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน คุมทัพนำทีมไปได้ไกลถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะพ่ายต่อเยอรมนีตะวันตก แชมป์โลกในปีนั้นแบบเจ็บปวดในการดวลจุดโทษ

 

วันนั้นอังกฤษมีผู้เล่นชั้นยอดอย่างแกรี ลีนิเกอร์, ไบรอัน ร็อบสัน, จอห์น บาร์นส์ และเพชรเม็ดงามของวงการในเวลานั้นอย่างพอล แกสคอยน์

 

อีกครั้งที่อังกฤษทำให้แฟนบอลหัวใจเต้นแรงอาจจะเป็นฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการกลับมาเล่นฟุตบอลโลกอีกครั้งหลังไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปี 1994 ทีมยุคนั้นมีเกล็น ฮอดเดิล อดีตผู้เล่นตำแหน่งปีกในระดับซูเปอร์สตาร์ของวงการ เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลที่มีวิสัยทัศน์ล้ำสมัยมากที่สุดคนหนึ่งคุมทัพ และมีนักเตะอย่างเดวิด เบ็คแฮม และดาวเด่นอย่างไมเคิล โอเวน ที่เป็นความหวัง


และในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ถือเป็นฟุตบอลโลกที่เหมือนจะดีสำหรับอังกฤษ ซึ่งมีทีมที่ดีพอสมควรภายใต้การนำของสเวน-โกรัน อีริกส์สัน ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติคนแรก โดยสามารถไปได้ไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่แพ้ต่อแชมป์โลกในสมัยนั้นอย่างบราซิลด้วยฟรีคิกมหัศจรรย์ของโรนัลดินโญ แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าทีมวันนั้นจะน่าตื่นเต้นเท่าทีมในปี 1990 และ 1998

 

ที่ลุ้นมากกว่าผลงานในเวลานั้นน่าจะเป็นอาการบาดเจ็บกระดูกเท้า Metatarsal ของเบ็คแฮมแตก และทำให้เราได้เห็นภาพเท้าของนักฟุตบอลขึ้นปกหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก

 

หลังจากนั้นในฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี อังกฤษเหมือนเจอฝันร้าย เพราะตัวหลักอย่างโอเวนก็เจออาการกระดูกเท้าแตกก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มราว 6 เดือน และพยายามเร่งกลับมาลงสนามทั้งที่อาการค่อนข้างหนักกว่าคนอื่น สุดท้ายกลายเป็นฝันร้ายตลอดชีวิต เพราะเขาบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าฉีกในเกมกับสวีเดน และต้องพักการเล่นยาวโดยไม่สามารถกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมอีกเลยตลอดชีวิตการเล่นที่เหลือ

 

ฟุตบอลโลกครั้งนั้นอังกฤษตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้งด้วยการแพ้ต่อโปรตุเกส คู่ปรับเก่าที่มีบัญชีแค้นกันมาตั้งแต่ยูโร 2004 แต่สุดท้ายก็ตกรอบอีกเหมือนเดิม และเราได้เห็นช็อตปัญหาที่คริสเตียโน โรนัลโด พยายามกดดันผู้ตัดสินให้แจกใบแดงแก่เวย์น รูนีย์ ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมกัน ซึ่งทำได้สำเร็จ แถมยังมีขยิบตาให้โค้ชและเพื่อนร่วมทีมที่ข้างสนามด้วย

 

มาถึงฟุตบอลโลก 2010 อังกฤษอยู่ในยุคของฟาบิโอ คาเปลโล แต่ก็ไปได้ไกลแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย แพ้เยอรมนีขาดลอย 1-4

 

ส่วนฟุตบอลโลก 2014 ภายใต้การนำของรอย ฮอดจ์สัน ไม่ต่างอะไรจากการตกลงไปในหลุมดำที่มืดมนอนธการ

 

และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้แม้แต่คนอังกฤษก็ไม่กล้าคาดหวังอะไรจากทีมชาติอังกฤษอีกต่อไป

 

รวมถึงในฟุตบอลโลกครั้งนี้

 

 

จะคิดแบบนั้นก็ไม่แปลก เพราะอังกฤษอยู่ภายใต้การนำของแกเร็ธ เซาท์เกต ผู้จัดการทีมประสบการณ์น้อยที่เคยจับงานในระดับสโมสรเพียงทีมเดียวคือมิดเดิลสโบรห์ และไม่ประสบความสำเร็จ นอกนั้นคือการคุมทีมชาติในระดับเยาวชนและฝังตัวเป็นทีมงานของทีมชาติ

 

ที่เขาได้งานมาก็เพราะแซม อัลลาร์ไดซ์ เกิดเรื่องเกิดราวอื้อฉาวขึ้นมา ทำให้อดีตปราการหลังมาดนิ่งยอมรับข้อเสนอที่ตัวเองเคยปฏิเสธไปแล้วเพราะไม่มั่นใจในฝีมือและประสบการณ์ของตัวเอง

 

ไม่นับขุนพลนักเตะในทีมชาติ 23 นักเตะที่เซาท์เกตเลือกใช้งานในครั้งนี้นั้นเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม

 

ว่ากันว่าเป็นทีมชาติอังกฤษชุดที่ขี้เหร่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และพานทำให้เกิดความกังวลถึงอนาคตของวงการฟุตบอลของชาติที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แม่’ ของเกมลูกหนังว่าจะตกต่ำดำดิ่งลงเหวเข้าไปอีก

 

แต่ดูเหมือนจากสองนัดที่ผ่านมาในฟุตบอลโลกที่รัสเซียมันชัดพอที่จะบอกได้ว่าความคิดเช่นนั้นผิด

 

เพราะอังกฤษดีกว่าที่คิดเอาไว้มาก

 

การชนะสองนัดรวด โดยเฉพาะการถล่มปานามาถึง 6-1 ได้ จะไม่ให้ชมเลยก็ใช่ที่

 

อาจจะมีเสียงทัดทานบ้างว่าคู่แข่งทั้งสองนัดแรกอย่างตูนิเซียและปานามานั้นไม่ใช่ของยาก แต่ในฟุตบอลโลกมันก็ไม่ได้มีของง่ายอยู่แล้ว มีแต่ยากมากหรือยากน้อยเท่านั้น

 

สาระสำคัญสำหรับฟอร์มของอังกฤษนั้นพอที่จะเห็นได้คือ 1. เล่นกันเป็นระบบ 2. มีทิศทางที่พอใช้ได้ 3. มีนักเตะที่เป็นแกนของทีมตั้งแต่หลังไปหน้า

 

และข้อ 4. ซึ่งสำคัญมากคือเราสัมผัสได้ถึงความกลมเกลียวของนักเตะชุดนี้

 

เรื่องนี้เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ครับ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติอังกฤษในยุคก่อนหน้านี้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Golden Generation หรือทีมยุคทอง เพราะมีนักเตะระดับสตาร์หลายรายในทีมไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลยในรายการระดับทีมชาติ

 

เหตุผลเพราะด้วยความที่นักเตะอย่างสตีเวน เจอร์ราร์ด, แฟรงค์ แลมพาร์ด, พอล สโคลส์, แกรี เนวิลล์, ริโอ เฟอร์ดินานด์, เวย์น รูนีย์ นั้นต่างเป็นคู่แข่งที่เข้มข้นในระดับสโมสร ความรู้สึกเป็น ‘อริ’ เหล่านั้นมีส่วนในการทำให้พวกเขาต่อกันไม่ค่อยติด

 

มันเหมือนจะกอดคอกันได้ แต่สบตากันไม่ได้

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในทีมยุคนี้ของเซาท์เกตครับ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักเตะชุดนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้เล่นดาวรุ่งอายุไม่มาก (อังกฤษเป็นทีมที่ค่าเฉลี่ยอายุน้อยเป็นอันดับ 2 ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่ 26 ปีเท่ากับฝรั่งเศส เป็นรองแค่ไนจีเรียที่อายุเฉลี่ย 25.9 ปีแค่ทีมเดียว)

 

นักเตะเหล่านี้ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนรุ่นพี่ แม้กระทั่งแฮร์รี เคน กัปตันที่เป็นดาวเด่นที่สุดก็ไม่ได้มีบุคลิกที่แข็งกร้าวอะไร

 

เมื่อไม่มีกำแพงระหว่างใจ การจะคิดอ่านทำอะไรของทีมชาติอังกฤษมันก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นครับ

 

 

รวมกับเรื่องที่พวกเขาลงสนามโดยปราศจากแรงกดดันจากสื่อและแฟนบอลที่ไม่อยากคาดหวังอะไรทำให้เล่นกันได้ง่าย

 

อยู่ที่ทำให้ดีที่สุดแค่นั้น ซึ่งอังกฤษก็เล่นได้น่าชื่นชมครับ

 

จากจุดเริ่มต้นด้วยการเก็บชัยชนะเหนือตูนิเซียได้ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บในเกมแรก พวกเขาต่อทุนด้วยชัยชนะถล่มทลายเหนือปานามา

 

แฮร์รี เคน ทำแฮตทริกในเกมฟุตบอลโลกรอบแรกได้เป็นคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ต่อจากเจฟฟ์ เฮิร์สต์ ในปี 1966 และแกรี ลีนิเกอร์ ในปี 1986 ถึงแม้ว่ามันจะมาจากการยิงจุดโทษ 2 ลูก และบอลมาสะกิดส้นเท้าตัวเองเปลี่ยนทิศเข้าประตูก็ตาม

 

แต่ 2 ประตูของจอห์น สโตนส์ และลูกปั่นโค้งสุดสวยของเจสซี ลินการ์ด ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังขา

 

ด้วยฟอร์มแบบนี้ มันไม่ต่างจากการที่เราเริ่มได้ยินเสียงคำรามของเหล่าฝูงสิงโตหนุ่มที่กังวลและน่าเกรงขามอยู่ในที

 

มันไม่แปลกหากจะเริ่มมีใครเริ่มตั้งคำถามและคิดตามว่าอังกฤษชุดนี้จะไปได้ไกลถึงไหนกัน

 

ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ไปคิดถามอะไรเยอะ เพราะอังกฤษชุดนี้ยังเป็นสิงโตหนุ่มที่อ่อนประสบการณ์ พวกเขาต้องเจอบททดสอบหนักๆ อีกมาก

 

โดยเฉพาะกับเบลเยียมในนัดสุดท้ายของรอบแรก ถึงมันอาจจะไม่เข้มข้นแบบที่ควรจะเป็น เพราะผ่านเข้ารอบกันหมดแล้ว แต่อย่างน้อยเราน่าจะได้เห็นอะไรเพิ่มอีกว่าแท้จริงแล้วระดับฝีเท้าที่แท้จริงของอังกฤษอยู่ตรงไหน

 

90 นาทีที่คาลินอินการ์ด สเตเดียม ในวันที่ 29 มิถุนายน น่าจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้

 

อย่างไรก็ดี กับทีมแบบนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้นครับ

 

เพียงแต่ ณ เข็มนาฬิกาเดินไป แฟนสิงโตคำรามไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่าการมีความสุขไปกับช่วงเวลาดีๆ เหล่านี้

 

So far, so good ครับ 🙂

Photo: Reuters

FYI
  • อังกฤษยิงได้เกิน 4 ประตูในฟุตบอลโลกครั้งแรก นับตั้งแต่นัดชิงฟุตบอลโลก 1966 ในเกมกับเยอรมนีตะวันตก
  • ชัยชนะเหนือปานามาและตูนิเซียทำให้เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่พวกเขาชนะใน 2 เกมแรกต่อจากปี 1982 และ 2006
  • สกอร์ 6-1 เป็นสกอร์ที่มากที่สุดที่อังกฤษ ยิงได้ในรายการระดับเมเจอร์
  • จอห์น สโตนส์ กลายเป็นกองหลังคนแรกของอังกฤษที่ยิงได้ 2 ประตูในเกมฟุตบอลโลก
  • แฮร์รี เคน นำดาวซัลโวในเวลานี้ด้วยจำนวน 5 ประตู โดยทั้ง 5 ประตูมาจากการยิงเข้ากรอบ 5 ครั้ง (รวมจุดโทษ)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising