×

Fasttect เฟอร์นิเจอร์ไม้จุ๊กจิ๊กที่ขอเข้าไป ‘สร้างความสุข’ ให้กับพื้นที่เล็กๆ ในบ้านของคุณ [Advertorial]

05.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Fasttect หรือ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด คือผู้ผลิต ‘เฟอร์นิเจอร์ไม้จุ๊กจิ๊ก’ สัญชาติไทย ที่พัฒนาสินค้าต่างๆ ที่มีขนาดกะทัดรัดออกมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในพื้นที่ขนาดเล็กภายในบ้าน หรือคอนโดมิเนียม
  • เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2533 จากการให้บริการซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ก่อนจะขยับไปสู่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบ Built-in จนกระทั่งเผชิญกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จึงผันตัวมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ขนาดเล็กในที่สุด
  • DNA แบรนด์ Fasttect คือพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ออกมาแก้เพนพอยต์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยใช้คำว่า ‘เฟอร์นิเจอร์’ เป็นเปลือกหน้าฉาบเคลือบความสุขของคนในครอบครัวที่ได้ทำกิจกรรม มีความทรงจำดีๆ ร่วมกัน

เมื่อไลฟ์สไตล์ของคนเมืองและคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเริ่มหันเหมาเลือกอสังหาฯ แนวดิ่งกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์หรือหอพัก ผลที่ตามมาจึงทำให้พื้นที่ในทุกๆ ‘ตารางเมตร’ ของการใช้ชีวิตต้องถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพกับผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด

 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างตนก็นับรวมเป็นแบรนด์ดีเอ็นเอและจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ ‘Fasttect’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้จุ๊กจิ๊กสัญชาติไทยที่เกิดขึ้นมาเพื่อต้องการแก้เพนพอยต์การใช้ชีวิตบนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยเช่นกัน

 

หลังก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 2533 หรือ 30 ปีที่แล้วจากการให้บริการซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ขยับไปสู่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบ Built-in โดยมี ‘ กรภัคร์ มีสิทธิตา’ ผู้เป็นแม่รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ (ควบตำแหน่งช่างไม้หญิงมือทอง!) กระทั่งผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด จึงผันตัวเองมาผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สำเร็จรูปขนาดเล็กมากขึ้น เพื่อปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ 

 

จนส่งผลให้พวกเขามีสินค้าขนาดกะทัดรัด เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็น ฉากกั้นห้อง แบ่งสัดส่วนกั้นสายตา, โต๊ะญี่ปุ่น รุ่นขาเหล็กล็อกกันล้ม, ชั้นไม้ติดผนัง รุ่นซ่อนขาเหล็ก และสินค้าจุ๊กจิ๊กอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น และยังมีส่วนทำให้บริษัทโต้คลื่นทวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs สัญชาติไทยที่ทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง

 

เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าของ Fasttect ตลอดจนตีกรอบคำนิยามของคำว่า ‘เฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊ก’ ให้ชัดเจนขึ้น THE STANDARD ชวนคุณมาสำรวจแนวคิดของ เอิน-พะณิชา มีสิทธิตา ทายาทรุ่นที่ 2 ที่รับไม้ต่อในตำแหน่งผู้บริหารแบรนด์ Fasttect จากคุณแม่กรภัคร์ไปพร้อมๆ กัน

 

เอิน-พะณิชา มีสิทธิตา ทายาทรุ่นที่ 2 ของ Fasttect

 

จาก ‘ช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้หญิง’ สู่การปั้นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้และจุดพลิกผัน ‘ฉากกั้นเสริมฮวงจุ้ย’!

พะณิชา เล่าให้เราฟังว่า แม่ของเธอเริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2529 (ก่อนจะเริ่มตั้งบริษัท ฟาสเทคโน จำกัด) ด้วยการรับให้บริการซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยอาศัยเปิดเป็นห้องเล็กๆ ตามตึกแถว “คุณแม่จะถนัดเรื่องงานไม้ ชอบทำงานไม้มาก แค่เคาะผิวไม้ก็รู้ทันทีเลยว่าเฟอร์นิเจอร์ตัวนี้ใช้ไม้ชนิดใดมาผลิต หรืออย่างกระบวนการการซ่อม แค่เห็นจุดชำรุดก็รู้เลยว่าต้องเริ่มจากขั้นตอนไหน”

 

เธอบอกต่อว่า แม้คุณแม่ของเธอจะควบตำแหน่งช่างไม้บวกกับเถ้าแก่ของฟาสเทคโน แต่คุณแม่กรภัคร์กลับไม่ได้มีความรู้หรือจบการศึกษาวิชาชีพด้านช่างไม้มาโดยตรง หากแต่อาศัยวิธีการเรียนรู้ครูพักลักจำ สังเกตดูการทำงานจริงของช่างไม้แล้วค่อยๆ เริ่มฝึกฝน ทดลองลงมือทำด้วยตัวเองจนชำนาญในที่สุด

 

“หลังจากนั้นคุณแม่ก็ออกมาทำกิจการของตัวเอง เริ่มต้นจากธุรกิจออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ Built-in รับตกแต่งให้กับลูกค้ากลุ่มโรงแรม จนกระทั่งช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ธุรกิจของเราแย่พอสมควร ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้ 

 

“ตอนนั้นคุณแม่ยังมีโรงงาน เลยคิดว่าต้องทำอย่างไรก็ได้ให้โรงงานยังอยู่รอดต่อไป ให้เรายังมีสถานที่ได้ทำธุรกิจ พอไม่สามารถทำธุรกิจ Built-in เฟอร์นิเจอร์ไม้ให้กับลูกค้าโรงแรมแบบเดิมได้แล้ว ด้วยความที่คุณแม่ยังรักและชอบงานไม้อยู่ แล้วยังมีไม้เหลืออยู่เยอะมาก ก็เลยเกิดไอเดียลองทำ ‘ฉากกั้นแก้ฮวงจุ้ย’ ขึ้นมา เพราะด้วยความเชื่อของคนไทยในช่วงวิกฤตปี 40 ที่อาจจะอยากลองปรับฮวงจุ้ย พลิกชีวิต สมมติว่าประตูเข้าบ้านกับประตูหลังบ้านตรงกัน เงินอาจจะไหลออก ฉากกั้นแก้ฮวงจุ้ยเราก็จะเข้ามาตอบโจทย์คนที่อยากได้สินค้ารูปแบบนี้

 

“ช่วงนั้นคุณแม่ลองทำฉากกั้นไม้นี้ออกมา แล้วลองเอาไปออกตามงานแฟร์ ปรากฏว่าผลลัพธ์คือขายดีมากๆ คุณแม่ก็เลยลองผลิตออกมาหลายๆ แบบ ส่งผลให้จากเดิมที่เราผลิตเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เตียงไม้ ตู้ไม้ ก็เปลี่ยนมาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นเล็กลง กลับกลายเป็นว่าสายการผลิตมันไปได้ดีขึ้น แล้วสินค้าก็เทิร์นโอเวอร์เร็วกว่าเดิมมากๆ”

 

จากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจ และแนวคิดของการปรับรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฟาสเทคโนก็ผันตัวเองมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ขนาดเล็ก เช่น ชั้นไม้ติดผนัง โต๊ะญี่ปุ่น จนเริ่มได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด และสามารถวางจำหน่ายตามร้านค้าโมเดิร์นเทรดได้สำเร็จ (ปัจจุบันสินค้าของ Fasttect มีวางจำหน่ายที่ HomePro, Mega Home, Global House, ไทวัสดุ, Dohome, บุญถาวร และ OfficeMate เป็นต้น)

 

 

เฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊กที่หวังจะเข้าไปสร้าง ‘ความสุข’ ให้กับ ‘พื้นที่เล็กๆ’ ในบ้านของคุณ

หลังจากที่ปรับตัวจนสามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเองมาอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ถึงคราวที่กรภัคร์จะส่งต่องานและฟาสเทคโนหรือ Fasttect ให้ลูกๆ ของเธอทั้งสองคน (สองพี่น้อง พะณิชา และธณายุ มีสิทธิตา) รับช่วงต่อดูแลกิจการของครอบครัวตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา 

 

ซึ่งผลพวงจากการที่คุณแม่กรภัคร์มักจะปลูกฝังให้ลูกๆ ทั้งสองคนคลุกคลีกับงานไม้ กิจการของครอบครัว ผ่านทั้งการชวนไปออกงานมหกรรมขายสินค้าต่างๆ ตั้งแต่เล็กๆ เรื่อยไปจนถึงการจ้างมาทำงานพาร์ตไทม์โดยได้รับค่าขนมเป็นสิ่งตอบแทน จึงทำให้ทั้งพะณิชาและธณายุผูกพันและรู้ข้อมูลทุกซอกทุกมุมของฟาสเทคโนเป็นอย่างดี

 

ภายใต้การบริหารงานของพะณิชา เธอได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดของฟาสเทคโนให้หวือหวา มีชีวิตชีวา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น เริ่มต้นจากการเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น ‘Fasttect’ หรือฟาสเทค เพื่อเลี่ยงกรณีคนสับสนจำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของเธอเป็นบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยี (เดิมคือ Fasttech) และ ‘Tect’ ในที่นี้ก็มาจาก Architect หรือสถาปนิกนั่นเอง

 

ด้านผลิตภัณฑ์ สองพี่น้องพะณิชาและธณายุก็เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยศึกษาจากเสียงสะท้อนของคนรอบตัว เพนพอยต์ของตัวเอง เรื่อยไปจนถึงการได้รับคำปรึกษาที่ล้ำค่าจากผู้เป็นแม่ จนกลายเป็นคำจำกัดความของการผลิต ‘เฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊ก’

 

“เรานิยามตัวเองว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊ก ด้วยความที่รูปแบบสินค้าของเรามันเป็นชิ้นเล็กๆ กะทัดรัด จุ๊กจิ๊ก ชั้นไม้ติดผนัง โต๊ะญี่ปุ่น ลูกค้าสามารถซื้อแล้วก็เอากลับไปใช้ได้เลย หรือขนาดใหญ่ที่สุดที่เรามีก็แค่ฉากกั้นห้อง ซึ่งฉากกั้นห้องถึงแม้วางขายหน้าร้าน ลูกค้าก็สามารถยกกลับไปใช้เองได้เลย นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เจ้าอื่นๆ 

 

“อีกความหมายหนึ่งที่เราตั้งใจจะสื่อว่ามันเป็นเฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊กคือ เราตั้งใจว่า อย่างน้อยที่สุด เราอยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เล็กๆ ของครอบครัวลูกค้าทุกๆ คน เช่น ลูกค้าซื้อชั้นไม้ไปติด บางทีเขาก็เอาไปวางรูปภาพครอบครัว หรือของที่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างถ้วยรางวัล เรามองว่าชั้นไม้ของเราเข้าไปสร้างพื้นที่เล็กๆ ที่แข็งแรงให้กับความทรงจำของลูกค้าอยู่ไปได้อย่างยาวนาน ตรงนี้ก็เป็นคุณค่าที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นจากสินค้าของเราเหมือนกันค่ะ”

 

และถึงแม้จะยังมีสเกลของการดำเนินธุรกิจไม่ต่างจากผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป แต่ทีมงานของ Fasttect ก็ใส่ใจในรายละเอียด และกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้แต่ละอย่างออกมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้งเป้าว่า ของทุกชิ้นที่พวกเขาผลิตออกมาจะต้องสร้างประโยชน์ แก้เพนพอยต์ผู้ใช้งาน และ ‘สร้างความสุข’ ให้กับพื้นที่เล็กๆ ในบ้านของผู้ที่ซื้อไปใช้ให้ได้มากที่สุด 

 

ดังนั้นก่อนจะปิ๊งไอเดียพัฒนาสินค้าชนิดใดออกมาก็ตาม ทีมผู้บริหารที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานด้าน R&D ของ Fasttect ด้วยตัวเองก็จะเริ่มศึกษาข้อมูล ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การรับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้ายามออกบูธในงานแฟร์ต่างๆ เทรนด์แฟชั่นและการตกแต่งที่มุ่งไปข้างหน้าอยู่เสมอ

 

โต๊ะสำหรับเด็กที่สามารถวาดรูประบายสีด้วยสีเทียน ซึ่งเกิดจากเพนพอยต์ของธณายุ
ที่มักจะพบว่าลูกของเขาชอบขีดเขียนโต๊ะไม้ตามประสาเด็กอยู่เป็นประจำ!

 

“เราจะคุยกันในทีมบริหาร ทั้งคุณแม่ น้อง และผม” ธณายุเล่าเสริม “เราจะตั้งโจทย์ง่ายๆ เลยว่า ถ้าสมมติคุณอยู่ห้องของตัวเอง อะไรคือสิ่งที่คุณอยากได้ อะไรที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น ง่ายขึ้น แล้วก็จะลองเอาเพนพอยต์ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันมาผสมผสานกันทุกรูปแบบ รวมถึงการออกงานอีเวนต์ ไปศึกษางานจากต่างประเทศบ้าง เรียกง่ายๆ ว่าเรา R&D กันทุกทิศทาง

 

“แล้วมันก็กลับมาตอบ DNA ของแบรนด์ Fasttect ที่เราอยากเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีความสำคัญในบ้านและครอบครัวของเขา เช่น โต๊ะญี่ปุ่นที่เราผลิตขึ้นมาจะเน้นความแข็งแรง (ขาเหล็กล็อกได้ ใช้วัสดุไม้แบบหนา) แล้วปรับดีไซน์ให้ตัวโต๊ะมีความสูง เพื่อที่ผู้ใหญ่จะสอดขาเข้าไปได้แบบสบายๆ 

 

“เมื่อสอดขาเข้าไปได้ พ่อ แม่ และลูก ก็จะใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นผ่านโต๊ะตัวนี้ เราอยากให้เขามีพื้นที่ตรงนั้นร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเราขายอะไร เฟอร์นิเจอร์มันเป็นแค่ ‘เปลือก’ เพราะกะเทาะลงไปข้างในแล้ว เราอยากขายความสุขและการสาน ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ ให้กับครอบครัวที่ซื้อไปมากกว่า”

 

ฉากกั้นไม้เสริมดวง แก้ฮวงจุ้ย ที่กลายเป็นจุดพลิกผันให้ Fasttect
ยังมีลมหายใจเฉกเช่นทุกวันนี้

 

มองทุกปัญหาให้เป็น ‘โอกาส’ สื่อสารกับลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ และ ‘จริงใจ’

เราพบว่าหนึ่งในจุดแข็งของ Fasttect นอกเหนือจาก DNA ของความตั้งใจที่อยากจะส่งต่อความสุขผ่านเฟอร์นิเจอร์ให้กับครอบครัวของผู้ใช้งาน คือการที่พวกเขามักจะพาตัวเองออกจากสถานการณ์คับขันได้อยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่ในยุคของคุณแม่กรภัคร์ ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจนต่อลมหายใจให้กับบริษัทได้สำเร็จ เรื่อยมาจนถึงยุคโควิด-19 ที่พะณิชาได้พา Fasttect ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน รุกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น

 

“ปัญหาคือโอกาส เราเชื่อว่าช่วงโควิด-19 มันเป็นปัญหาของทุกคนทั่วทั้งโลกเลยก็ว่าได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าเรายังมองมันเป็นปัญหา เราก็จะไม่กล้าสู้กับมัน เพราะฉะนั้นตัวเราเองเลยมองมันให้เป็น ‘โอกาส’ ที่เราจะได้ทดลองอะไรใหม่ๆ แทน

 

“ในเมื่อช่องทางการขายแบบโมเดิร์นเทรดไม่มีรายได้เหมือนช่วงปกติ เราก็เลยตัดสินใจพา Fasttect มาลุยช่องทางการขายออนไลน์ด้วยตัวเองทันที จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะทำกันในช่วงปลายปี ผ่านทั้งหน้าเว็บไซต์ (https://fasttect.com/), Lazada, Shopee รวมถึง Facebook แล้วก็เริ่มทำคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ถ่ายรีวิวสินค้าของเราเอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราจะมีวิดีโอสอนการติดตั้งและการใช้งานเป็นคู่มือประกอบสินค้าให้กับลูกค้าของเราด้วย”

 

ถึงแม้จะเริ่มรุกช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ได้ไม่นาน ประกอบกับสัดส่วนรายได้จากการขายแบบออฟไลน์ผ่านร้านค้าโมเดิร์นเทรดจะยังคงถือเป็นสัดส่วนหลักที่ 80-90% แต่พะณิชาก็บอกกับเราว่า เธอเริ่มเห็นอัตราการเติบโตของช่องทางออนไลน์ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก

 

นอกเหนือจากนี้ พะณิชาก็ให้ความสำคัญกับการลงไปฟังเสียงสะท้อน ความคิดเห็น และคำแนะนำจากลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊กของเธอเป็นอย่างมาก ด้วยมองว่าทุกคำแนะนำ ความคิดเห็น คือไอเดียที่เธอจะสามารถนำมาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ของ Fasttect ดีขึ้นกว่าเดิมได้ในทุกๆ มิติ

 

“สินค้าทุกชิ้นที่ Fasttect ผลิตขึ้นมา เราใส่ใจและให้คุณค่ากับมันมากๆ เพราะเราเชื่อว่าทุกชิ้นที่ออกไปอย่างน้อยต้องแก้ปัญหาของลูกค้าได้ เขาซื้อสินค้าเราไปแปลว่าเขาต้องมีเพนพอยต์บางอย่าง ดังนั้นถ้าสินค้าทุกชิ้นของเราสามารถเข้าไปแก้ปัญหาของลูกค้าได้ เราก็จะดีใจมากๆ เพราะนั่นหมายความว่าเราทำสำเร็จตามเป้าหมายของบริษัทแล้ว 

 

“แล้วเมื่อไรก็ตามที่ลูกค้าของเราพบปัญหาจากการใช้งาน หรือยังคงมีเพนพอยต์จากการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของเราไปใช้ รู้สึกไม่ตอบโจทย์ เราก็พร้อมที่จะรับฟังทุกๆ ปัญหาของเขา บางทีเราก็ไปตอบแชตลูกค้าด้วยตัวเอง เพราะอยากรับรู้ว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร อะไรบ้างที่เราจะสามารถช่วยพวกเขาได้ 

 

“หรือบางทีลูกค้าซื้อสินค้าของเราไปแล้วก็จะมีความเห็นกลับมาว่า ถ้าเพิ่มจุดนี้ได้ก็จะดี กลายเป็นว่าเราไม่ได้รู้สึกโกรธเลย แต่รู้สึก ‘ขอบคุณ’ ที่เขามาแชร์ไอเดียกับเรา ช่วยให้เราต่อยอดสินค้าให้ดีขึ้นได้ ทำให้แบรนด์เราแข็งแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเราเปิดโอกาส เปิดใจที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าทุกๆ คน”

 

 

นอกเหนือจากการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการ และเพนพอยต์ของผู้ใช้งานให้ตรงจุดอย่างต่อเนื่อง พะณิชายังทิ้งท้ายกับเราด้วยว่า เธอหวังจะให้แบรนด์ Fasttect เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และสร้างภาพจำให้คนนึกถึงเฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊กแล้วคิดถึงสินค้าของเธอให้ได้

 

“อย่างน้อยเราหวังว่าทุกคนจะต้องรู้จัก Fasttect เราอยากให้คำว่า ‘เฟอร์นิเจอร์จุ๊กจิ๊ก’ ติดปากคนมากขึ้น กลายเป็นคำที่ทำให้คนได้ยินแล้วคิดถึงเรา รวมถึงอยากให้อย่างน้อยที่สุด ทุกๆ บ้านมีสินค้าของเราสักหนึ่งชิ้นติดตั้งไว้และใช้งานกัน แค่นี้เราก็จะดีใจมากๆ แล้ว”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising