×

เกิด แก่ เจ็บ ตาย…บทสรุปวงการแฟชั่นในปี 2018

12.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ในปี 2018 บัลลังก์ของวีรสตรีอย่าง แอนนา วินทัวร์ เหมือนเจอศึกหนักตั้งแต่ต้นปี เพราะช่างภาพคู่ใจอย่าง มาริโอ เทสติโน และ บรูซ เวเบอร์ โดนข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศ แถมบริษัทพ่อของ Vogue อย่าง Condé Nast ก็มีรายงานถึงการขาดทุน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร และซีอีโอ บ็อบ เซาเออร์เบิร์ก ของ Condé Nast ก็โดนปลดจากตำแหน่ง
  • กระบอกเสียงที่สำคัญสุดในวงการแฟชั่นทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากกลุ่มคนที่ถูกสะท้อนในภาพยนตร์ The Devil Wears Prada กลายเป็นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมอย่าง @dietprada แทน แอ็กเคานต์ที่ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2014 โดยเพื่อนสองคน Tony Liu และ Lindsey Schuyler
  • ฟีบี ไฟโล อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Celine ที่ในปีนี้ไม่มีผลงานใหม่ออกมา แต่กลับเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ได้รับการพูดถึงมากสุด ซึ่งราคายอดขายต่อของไอเท็ม Resale ที่ฟีบีเคยดีไซน์ก็ขึ้นมากว่า 30% บนเว็บไซต์ The RealReal ส่วนบนเว็บไซต์ Vestiaire ก็ยอดขายขึ้น 43% และบน eBay ยอดเสิร์ชสินค้าก็สูงขึ้นถึง 700%
  • หลายแบรนด์ระดับมหาอำนาจของวงการได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดแฟชั่นโชว์ตามหัวเมืองสำคัญรอบโลกเพื่อ Boost กระแสและสร้างจุดยืนในแต่ละตลาด เริ่มด้วยประเทศจีน ที่รายงานการวิจัยของเว็บไซต์ Business of Fashion ร่วมกับ McKinsey & Company ได้เผยว่า ในปี 2019 จีนจะเป็นตลาดแฟชั่นลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก เอาชนะอเมริกาเป็นครั้งแรก
  • ทุกวันนี้ ‘ผู้นำ’ ตัวจริงของวงการนี้เป็นใครก็ได้ และการจะมาตีค่าคนผ่านชาติตระกูล สีผิว เพศ ขนาดรอบเอว เชื้อชาติ หรือการศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมาใช้เป็นบรรทัดฐานแห่งความสำเร็จ แค่คุณมีความฝัน ความทะเยอทะยาน และไอเดียที่ตีโจทย์แตกและมหาชนชอบ คุณก็เป็นใหญ่ได้

 

Louis Vuitton Spring/Summer 2019 Menswear โชว์แรกของ เวอร์จิล อาเบลาะห์ ในฐานะอาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์

 

“เฮ้ออออ…”

 

เสียงถอนหายใจแรงๆ ที่หลายคนได้ยินแล้วจะหงุดหงิดหรือต้องมองด้วยหางตาถ้าได้ยินบนรถไฟฟ้า คือเสียงที่ผมรู้สึกว่าตัวเองทำบ่อยมากในปีนี้ พอได้อ่านข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับวงการแฟชั่น

 

ใจหนึ่งผมก็รู้สึกดีที่หลายเหตุการณ์ในปีนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการเปลี่ยนดีไซเนอร์, พฤติกรรมดีไซเนอร์หรือช่างภาพ, ชุดที่คนใส่ไปงานแต่งงาน (หรือใส่แต่งงาน), การปรับเปลี่ยนของสื่อแฟชั่น หรืองานโชว์ระดับโลกก็ได้กลายเป็น ‘ข่าว’ ในกระแสหลักทั้งยังขับเคลื่อน พร้อมสะท้อนทัศนคติใหม่ๆ ต่อสังคมเทียบเท่ากับศิลปะแขนงอื่นๆ แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตและทำมาหากินในวงการนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่ามูลค่าจะสูงขึ้น 3.5-4.5% ก็ถือว่าได้เสียวสันหลังอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหรือไม่

 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ผมได้นิยามไว้ในบทความ Now Next 2018 ว่าวงการแฟชั่นเปรียบเสมือนรถไฟเหาะ ซึ่งในปีนี้เราก็ยังอยู่บนรถไฟเหาะคันเดียวกันนี้ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ มันกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปี 2019 โดยไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนก่อนแล้ว ซึ่งพูดง่ายๆ คุณต้องทรงตัวให้ดีและเกาะเอาไว้ให้แน่นๆ

 

แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อเมริกา และ อาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ บริษัท Condé Nast

 

ป้ายออฟฟิศ Condé Nast ที่ย่าน Mayfair ในลอนดอน

 

How’s Anna Doing?

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกควบคุมและขับเคลื่อนโดยนิตยสารห้าตัวอักษรของอเมริกา ‘VOGUE’ ที่ต้องเขียนตัวใหญ่เพื่อดูยิ่งใหญ่ แต่ความยิ่งใหญ่นี้ที่เราคุ้นเคยกันมาหลายทศวรรษได้เจอมรสุมพัดกระหน่ำในปี 2018 แบบที่บัลลังก์ของวีรสตรีและหนึ่งในฮีโร่ของผมอย่าง แอนนา วินทัวร์ เจอศึกหนักตั้งแต่ต้นปี เพราะช่างภาพคู่ใจอย่าง มาริโอ เทสติโน และ บรูซ เวเบอร์ โดนข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งก็ทำให้ทางนิตยสารต้องยุติการทำงานกับสองคนนี้ทันที และเลือกใช้ช่างภาพใหม่ๆ อย่าง ไทเลอร์ มิตเชลล์ ที่เป็นช่างภาพผิวสีคนแรกที่ได้ถ่ายปก Vogue ฉบับกันยายนกับ บียอนเซ่ หรือช่างภาพเชื้อสายอังกฤษอย่าง มาร์ติน พารร์ และ เจมี ฮอคส์เวิร์ธ ที่มีบทบาทมากขึ้นในเล่ม แทนที่จะเป็นแค่คลับช่างภาพเอ็กซ์คลูซีฟของเล่มเท่านั้น

 

แต่ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทั้งปีบริษัทพ่อของ Vogue อย่าง Condé Nast ก็มีรายงานถึงการขาดทุนและปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร จนนิตยสารอย่าง Glamour ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1939 ต้องปิดส่วนของเล่มและหันไปทำแค่ออนไลน์ ส่วนเล่มอย่าง W Magazine, Golf Digest และ Brides ก็กำลังหาคนมาซื้อกิจการ ซึ่ง Vogue เองถึงแม้จะยังเป็นราชินีของ Condé Nast แต่ในเดือนกรกฎาคมก็มีการประกาศว่าสองบรรณาธิการแฟชั่นคนสำคัญของเล่ม โทนนี กู๊ดแมน และ ฟิลลิส พอสนิก ถูกปรับเป็นพนักงานฟรีแลนซ์แทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลดต้นทุนของนิตยสาร โดยประเด็นนี้ก็ถูกเชื่อมโยงกับข่าวลือว่า แอนนา วินทัวร์ กำลังจะลาออก แต่ทางเธอกับ Condé Nast ก็ได้ปฏิเสธมาตลอด

 

ปลายเดือนพฤศจิกายน ทางซีอีโอ บ็อบ เซาเออร์เบิร์ก ของ Condé Nast ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง ซึ่งนักวิจารณ์แฟชั่นหลายคนมองว่าแอนนาอาจทนรับการทำงานกับซีอีโอคนอื่นไม่ได้หากเธอขาดทีมงานคู่บุญในยุครุ่งเรือง และเธอเองโดนปรับเปลี่ยนบทบาทที่สร้างมาอย่างดี แถมพอไปเทียบกับนิตยสารหัวอื่นๆ ในอเมริกาอย่าง Elle ที่ได้รับความสนใจมากกว่าตั้งแต่ นีน่า การ์เซีย มาเป็นบรรณาธิการบริหารคนใหม่ พร้อมดึงดูดดาราระดับแถวหน้ามาขึ้นปกเกือบหมด ทั้ง แอนเจลินา โจลี, มิเชล โอบามา, เลดี้ กาก้า, อะรีอานา กรานเด และ เอ็มมา สโตน เป็นต้น ส่วน InStyle กับบรรณาธิการบริหารชาวออสเตรเลีย ลอรา บราวน์ ที่ได้รับคำชื่นชมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อหาเล่มที่สะท้อนบริบทของสังคมได้แยบยลและสมจริงกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พลังในกำมือของแอนนานับวันเริ่มถูกลดทอน

 

ร้าน Dolce & Gabbana ที่กรุงปักกิ่ง

 

Diet Prada vs. The Devil Wears Prada vs. ‘Woke’ Era

ในมุมมองของผม กระบอกเสียงที่สำคัญสุดในวงการแฟชั่นทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากกลุ่มคนที่ถูกสะท้อนในภาพยนตร์ The Devil Wears Prada แต่กลับกลายเป็นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมอย่าง @dietprada แทน

 

แอ็กเคานต์นี้ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2014 โดยเพื่อนสองคน Tony Liu และ Lindsey Schuyle ซึ่งใน 2 ปีแรกจำนวนคนตามอยู่แค่หลักพัน และแอ็กเคานต์จะเน้นการจับผิดดีไซเนอร์ที่ก๊อบปี้รูปทรงหรือลวดลายจากคนอื่นๆ แต่พอมาในปี 2017 @dietprada ก็เริ่มจับประเด็นที่รุนแรงขึ้น เช่น เหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน

 

พอมาในวันที่ 21 พฤศจิกายนปีนี้ @dietprada ก็ได้ก้าวกระโดดมาอยู่แถวหน้าของการเป็นแพลตฟอร์มสื่อแฟชั่น กับเหตุการณ์แบรนด์ Dolce & Gabbana ประกาศยกเลิก ‘#DGTheGreatShow’ งานใหญ่ประจำปีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยเหตุผลเกิดจากคลิปวิดีโอซีรีส์โปรโมตงานชื่อ ‘Chopsticks Eating’ บนแพลตฟอร์ม Weibo ที่มีภาพนางแบบใช้ตะเกียบกินอาหารอิตาเลียนในทางที่ดูล้อเลียนวัฒนธรรมการกินของชาวจีน ซึ่ง @dietprada ได้เผยข้อความ Direct Message ระหว่าง @MichaelaTranova กับตัวดีไซเนอร์แบรนด์ @stefanogabbana ซึ่งตัวดีไซเนอร์ก็เขียนข้อความตอบกลับอย่างรุนแรงว่า เป็นเพราะทีมงานกลัวผู้มีอำนาจในจีน แต่ถ้าเป็นตัวเขา จะไม่มีทางลบคลิปออกจากแอ็กเคานต์ Weibo ของแบรนด์เด็ดขาด แถมยังบอกว่า ต่อไปตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อเมืองนอกจะบอกว่า ‘The Country of shit is China’

 

Screencap จากเหตุการณ์ที่ Diet Prada เปิดโปงเรื่องการยกเลิกแฟชั่นโชว์ Dolce & Gabbana ที่กรุงเซี่ยงไฮ้

 

การเปิดโปงของ @dietprada สร้างเอ็นเกจเมนต์และยอดแชร์อย่างมหาศาลภายในไม่กี่ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าเราได้เข้าสู่ยุคที่อำนาจการตัดสินใจของวงการแฟชั่นไม่ได้เป็นแค่จากคนในฟองอากาศของอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่พลังของมหาชนและโลกออนไลน์อาจทำให้หนึ่งงานล้มลงได้ในพริบตา โดยต่อไปแบรนด์ในระดับอะไรก็ตามแต่ต้องคำนึงให้ดีเกี่ยวกับทุกภาพที่ตัวเองเสนอออกไป และต้องเข้าใจว่า แม้ ‘การล้อเลียน’ หรือ ‘การล้อเล่น’ ของคุณอาจไม่ได้มาจากความรู้สึกลบ แต่เราอยู่ในยุคสมัยที่เซนสิทีฟมาก และคนกำลังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งการจะมาเล่นเรื่องเพศ เรื่องเชื้อชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ ผ่านแฟชั่นที่มีคนพันๆ ล้านคนได้เห็น ก็เป็นอะไรที่ควรคิดตรึกตรองให้รอบด้าน

 

มากไปกว่านั้น เราได้ก้าวสู่ยุคสมัยที่เรียกกันว่า ‘Woke’ ซึ่งคือการที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่สนใจเรื่อง ‘จรรยาบรรณ’ และความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งในการผลิตสินค้า จุดยืนของดีไซเนอร์ทางการเมือง และเรื่องการช่วยเหลือสังคม เป็นต้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในปี 2018 เราได้เห็นหลายแบรนด์หยุดการใช้หนังและขนสัตว์อย่าง Versace, Gucci, Michael Kors และล่าสุด Chanel มีการผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศผ่านลาย Pride สีรุ้ง อาทิ Burberry และมีการทำโปรเจกต์นำเสนอเรื่องสิทธิผู้หญิง เช่น Dior, Zadig & Voltaire และ Eileen Fisher ซึ่งต่อไปในปี 2019 หากแบรนด์จะขายกระเป๋า 3 ล้าน, 3 แสน หรือ 3 สามพันบาทให้กับคนกลุ่มเจนใหม่ คุณก็ต้องคำนึงถึงว่าสินค้าต้องไม่เพียงมีแค่ความสวยงามหรือหรูหราภายนอกที่ใช้ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมเป็นประจำ แต่ยังต้องใช้ถือแล้วมีคุณค่า ทั้งเป็นการสะท้อนว่าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่สร้างพลังบวกให้กับโลก

 

Céline Spring/Summer 2018 คอลเล็กชันสุดท้ายที่ ฟีบี ไฟโล จัดโชว์ในกรุงปารีส

 

Celine Spring/Summer 2019 คอลเล็กชันแรกที่ เอดี สลีมาน จัดโชว์ที่กรุงปารีส

 

Phoebe / Hedi

ถ้าให้เลือก ‘ดีไซเนอร์แห่งปี’ ผมพูดตามตรงคงเลือกไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่ากลัวผิด กลัวกระแสโจมตี หรือมีเรื่องราวของธุรกิจอยู่เบื้องหลัง แต่ผมแค่ไม่รู้ว่าเราใช้จะเกณฑ์อะไรมาตัดสิน…ขายได้ดีสุด? ได้รับคำชมมากสุด? เป็นกระแสสุด? โดนแบรนด์ Fast Fashion ก๊อบปี้เยอะสุด?

 

แต่ผมขอเลือกพูดถึง ‘ฟีบี ไฟโล’ อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Celine ที่ในปีนี้ไม่มีผลงานใหม่ออกมา แต่กลับเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่พูดถึงมากสุด โดยเฉพาะในช่วงที่ เอดี สลีมาน ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ (หรือชื่อตำแหน่งที่จะยาวไปไหน Artistic, Creative and Image Director) ได้โชว์ผลงานคอลเล็กชันแรกช่วงปลายเดือนกันยายนที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ลบล้างสไตล์เสื้อผ้าสาวสมัยใหม่แบบ Power Dressing ที่ฟีบีได้ผลักดันตลอด 10 ปี จน Celine ได้กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สำคัญสุดของโลก ซึ่งราคายอดขายต่อไอเท็ม Resale ที่ฟีบีเคยดีไซน์ก็เพิ่มขึ้นมากว่า 30% บนเว็บไซต์ The RealReal ส่วนบนเว็บไซต์ Vestiaire ก็ยอดขายขึ้น 43% และบน eBay ยอดค้นหาสินค้าก็สูงขึ้นถึง 700% แถมยังมีแอ็กเคานต์อินสตาแกรมชื่อ @oldceline สร้างขึ้นมา ที่ได้รับความนิยมทันทีกับคอนเทนต์รวบรวมผลงานเก่าๆ ของฟีบีที่ Celine ซึ่งตอนนี้ยอดฟอลโลเวอร์สูงถึง 162,000 แอ็กเคานต์

 

กลับมาที่ดีไซเนอร์คนปัจจุบันของ Celine อย่าง เอดี สลีมาน ส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบและนับถือเขามาตลอดตั้งแต่ยุค Dior Homme และ Saint Laurent เพราะเขาเล่นเกมเชิงพาณิชย์ของวงการแฟชั่นได้อย่างฉลาด พร้อมสร้างสรรค์สินค้าที่ปฏิวัติการแต่งตัวและสร้างเม็ดเงินมหาศาล ซึ่ง ‘แฟชั่น’ ก็คือธุรกิจแบบหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้และสร้างอาชีพให้คนนับล้าน

 

ถ้าถามว่าแปลกใจไหมที่เอดีได้ใช้สูตรเดิมที่ Celine เหมือนแบรนด์ก่อนๆ ที่เขาทำงาน? ไม่ และถามว่าผิดไหม? ไม่ เพราะมันไม่ได้เป็นกฎว่าเขาต้องสานต่อสิ่งที่ฟีบีทำหรือเก็บดีเอ็นเอความเป็นมาของ Celine ตั้งแต่แรกเริ่ม (ที่เป็นธุรกิจรองเท้าเด็ก) ส่วนเหตุผลที่คนต่อว่าเอดีในเรื่องไม่เชิดชูสิทธิของผู้หญิงผ่านเสื้อผ้าที่เน้นเดรสสั้นและความวาบหวิว ผมก็มองว่าเป็นประเด็นที่ไม่แฟร์ เพราะผมคิดว่าการที่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศอะไรก็ตามแต่ ‘คุณค่า’ ของคุณไม่ได้มาจากชุดที่ใส่ การที่ผู้หญิงจะใส่เดรสสั้นและเผยเนื้อหนังอะไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเธอจะต้องโดนดูถูกมากกว่าผู้หญิงที่ใส่สูทมัสคูลินสักหน่อย แต่! สิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายมากกว่าเกี่ยวกับเฮดีคือ การที่เขาเลือกทำเสื้อผ้าที่จำเจและเหมือนเดิมจนเกินไป โดยไม่พยายามผลักดันขอบเขตการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนั่นควรเป็นอันดับหนึ่งของทุกดีไซเนอร์ในมุมมองของผม

 

โชว์ Valentino Pre-Fall 2019 ที่กรุงโตเกียว

 

โชว์ Chanel Métiers d’Art 2018/2019 ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก

 

Scale and Spectacle

ถ้ามาในเชิงธุรกิจ มาร์เก็ตติ้งและแบรนด์ดิ้ง หลายแบรนด์ระดับมหาอำนาจของวงการได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดแฟชั่นโชว์ตามหัวเมืองสำคัญรอบโลก เพื่อ Boost กระแสและสร้างจุดยืนในแต่ละตลาด เริ่มด้วยประเทศจีนที่รายงานการวิจัยของเว็บไซต์ Business of Fashion ร่วมกับ McKinsey & Company ได้เผยว่า ในปี 2019 จีนจะเป็นตลาดแฟชั่นลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก เอาชนะอเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งเราเลยไม่แปลกใจ ทำไมแบรนด์อย่าง Coach, Miu Miu และ Tommy Hilfiger ต่างเลือกเซี่ยงไฮ้เป็นที่จัดแฟชั่นโชว์เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเหมือนกับ Dolce & Gabbana ที่กล่าวก่อนหน้านี้ (แต่พังไม่เป็นท่า) ส่วนแบรนด์ Dior กับ Valentino ก็เพิ่งไปจัดรันเวย์ที่กรุงโตเกียวไล่เลี่ยกัน ซึ่งตลาดญี่ปุ่นก็มีความสำคัญมาหลายทศวรรษ โดยแบรนด์อย่าง Valentino ก็ฉลาดในการจัดโชว์ช่วงเวลาเดียวกันที่จะเปิดร้านแฟลกชิปสโตร์ในย่านกินซ่า คล้ายๆ กับที่ Chanel เพิ่งจัดโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2018/2019 ที่นิวยอร์กหลังร้านที่ถนน 57th Street หลังจากเผยโฉมใหม่ที่ดีไซน์โดย ปีเตอร์ มาริโน ตามเคย

 

ความคุ้มค่าของการจัดงานใหญ่ระดับโลกตามเมืองต่างๆ อยู่ที่ แบรนด์จะสามารถเก็บยอด Coverage, Reach และ Engagement แบบ 2-in-1 หรือมากกว่า จากการได้ดาราแถวหน้ามาร่วมงานและเชิญเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ รอบโลกมาร่วมงาน ซึ่งในปี 2018 มาร์เก็ตติ้งเอเจนซี Mediakix ได้บอกว่า มูลค่าธุรกิจ Influencer Economy อยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับแบรนด์ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่สมาร์ทกว่าไปจ่ายเงินซื้อหน้าโฆษณาที่นับวันยอดขายนิตยสารก็อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ยกเว้นบางประเทศสำคัญอย่างอังกฤษ ที่การบริโภคสื่อทุกแพลตฟอร์มยังมีความสมดุลได้ดีอยู่

 

อาดุต อาเคช ที่โชว์ Dries Van Noten Spring/Summer 2019

 

เอซรา มิลเลอร์ ที่งานปฐมทัศน์ภาพยนตร์ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald ที่ลอนดอน

 

One Word: Inclusion

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากทิ้งท้ายเอาไว้สำหรับปีนี้เกี่ยวกับวงการแฟชั่นคือ ความหวัง ความสวยงาม และการเปิดกว้าง ที่ ‘ผู้นำ’ ตัวจริงของวงการนี้อาจเป็นใครก็ได้ และการจะมาตีค่าคนผ่านชาติตระกูล สีผิว เพศ ขนาดรอบเอว เชื้อชาติ หรือการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานแห่งความสำเร็จ แค่คุณมีความฝัน ความทะเยอทะยาน และไอเดียที่ตีโจทย์แตกและมหาชนชอบ คุณก็เป็นใหญ่ได้

 

ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นตอนที่เราได้เห็น เวอร์จิล อาเบลาะห์ ลูกชายผู้อพยพชาวกานา กลายเป็นดีไซเนอร์ผิวสีคนแรกของแบรนด์ Louis Vuitton พร้อมสร้างสรรค์รันเวย์สายรุ้งไล่สีที่สวน Palais Royal สำหรับคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ซึ่งมีการแคสต์นายแบบจากทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย คนเอเชีย คนผิวสี คนยุโรป โดยตอนจบเวอร์จิลก็ออกมาโค้งคำนับและเข้าไปกอด คานเย เวสต์ เพื่อนสนิท พร้อมร้องไห้ยาวเกือบนาที ซึ่งสำหรับเรามันเป็นนาทีที่เหมือนทลายกำแพงอะไรบางอย่างที่แต่ก่อนคนกลุ่มน้อยดูเหมือนจะเป็นได้แค่ตัวประกอบวงการและอยู่เบื้องหลังผ้าม่านของวงการนี้

 

ถ้าให้พูดถึงนางแบบที่ต้องเชิดชู ผมก็ขอเลือกสองคนที่มาจากรากเหง้า ครอบครัว หรือสถานะการเงินอาจต่างกันสุดขั้ว เริ่มที่ อาดุต อาเคช นางแบบวัย 19 ปี ที่เกิดและโตในค่ายลี้ภัยที่ประเทศเซาท์ซูดาน ก่อนจะย้ายไปประเทศเคนยา และต่อมาตอนอายุ 6 ขวบก็อพยพไปประเทศออสเตรเลียกับคุณแม่และพี่น้องอีก 5 คน อาดุตเริ่มทำงานเป็นนางแบบตอนอายุ 16 ที่ออสเตรเลีย ก่อนที่ Saint Laurent จะเซ็นสัญญาให้เธอเดินแบบเอ็กซ์คลูซีฟในโชว์ Spring/Summer 2017 และต่อมาเธอก็เป็นนางแบบผิวสีคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้เดินปิดโชว์ Chanel Haute Couture Fall/Winter 2018 ในตำแหน่งเจ้าสาว ‘Chanel Bride’ พร้อมยังได้แรงผลักดันจาก เอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล บรรณาธิการบริหารนิตยสาร British Vogue ซึ่งเป็นคนผิวสีที่อพยพมาจากประเทศกานา ได้เลือกให้เธอขึ้นปกถึง 2 ครั้งในปีนี้

 

คารา เดเลวีน ในชุดสูท Emporio Armani ที่งานแต่งเจ้าหญิงยูจีนีแห่งยอร์ก กับแจ็ค บรูกส์แบงก์

 

เวอร์จิล อาเบลาะห์ อาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ ของ Louis Vuitton Menswear

 

โดยมีอีกหนึ่งนางแบบที่เอ็ดเวิร์ดก็ได้เลือกขึ้นปกในปีนี้ที่ผมต้องเชิดชูนั่นก็คือ คารา เดเลวีน ซึ่งถึงแม้เธอเองจะไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นในปีนี้ แต่การปรากฏตัวของเธอบนรันเวย์ Burberry Fall/Winter 2018 คอลเล็กชันสุดท้ายของ คริสโตเฟอร์ เบลีย์ ในโค้ตสีรุ้ง Pride และการไปงานแต่งงานของเจ้าหญิงยูจีนีแห่งยอร์ก กับแจ็ค บรูกส์แบงก์ กับลุคสูทหางยาวของ Emporio Armani ก็เป็นโมเมนต์ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้เธอจะมาจากครอบครัวที่รวยสูงส่ง และคุณยายของเธอ เจน อาร์มีน เชฟฟีลด์ เคยเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เธอก็รู้ว่า เพราะสิ่งที่เธอเลือกทำ เลือกสวมใส่ หรือเลือกพูด ก็เป็นข่าวอยู่ดี เธอจึงเลือกทำในสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างประเด็นในสังคมเรื่องผู้หญิง เรื่องเพศ และเรื่องการแต่งตัวได้ไม่มากก็น้อย

 

ซึ่งสิ่งนี้ก็เชื่อมต่อกับเหตุการณ์ที่ส่วนตัวผมชอบสุดในปีนี้ก็คือ การแต่งตัวของนักแสดง เอซรา มิลเลอร์ ตอนโปรโมตภาพยนตร์ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald กับชุดเดรสแจ็กเก็ตบุนวมสีดำของ Moncler x Pierpaolo Piccioli ที่เขาใส่ไปพรีเมียร์ที่ปารีส หรือชุด Givenchy Haute Couture สีขาวประดับด้วยขนนกใส่ไปพรีเมียร์ที่ลอนดอน เพราะสิ่งที่เอซราได้ทำก็คล้ายกับคารา

 

เขาไปงานสำคัญระดับโลกที่ทุกคนต้องจับตามอง ซึ่งแทนที่เขาจะใส่ชุดสูทสุดเนี้ยบกับผม Slick-Back ตามกฎเกณฑ์เดิมๆ ของฮอลลีวูด เขาก็เลือกใส่ชุดที่สามารถช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคมและความคิดโบร่ำโบราณที่ทำให้เรายังอยู่แต่ในกรอบเดิม ซึ่งผมเชื่อ 1,000% ว่าแฟชั่นจะจุดชนวนและช่วยแก้สิ่งนี้ได้ เพราะ ‘แฟชั่น’ คือสิ่งที่คนเราใช้เป็นสิ่งบ่งบอกการเป็นตัวของตัวเอง และใช้เป็นเกราะกำบังให้คนเห็นว่า ‘นี่คือตัวตนของฉัน’ และถ้าสังคมเราต้องการประชาธิปไตยในความคิดกันมากนัก แล้วทำไมเราจะมีประชาธิปไตยในการแต่งตัวไม่ได้?

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising