×

เตรียมส่งนักวิทย์ไทยสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งแรก ศึกษาปัญหาโลกร้อน ไมโครพลาสติก

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2018
  • LOADING...

จากปัญหาขยะพลาสติกขนาดเล็กและภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นภัยคุกคามระดับโลก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ไทยเตรียมลงพื้นที่สำรวจขั้วโลกเป็นครั้งแรกเพื่อวิจัยปัญหาดังกล่าว

 

ในงานแถลงข่าวเรื่อง ‘การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย’ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จฯ เยือนบริเวณอาร์กติกในเดือนมีนาคม ปี 2556 หลังจากนั้นทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลกจากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ

 

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ เปิดเผยว่าถึงแม้อาร์กติกจะเป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บและห่างไกลจากแผ่นดินอื่น แต่แท้จริงแล้วบริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เป็นอย่างมาก เป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก อาร์กติกเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เนื่องจากในปัจจุบันบริเวณนี้กลายเป็น ‘ภาชนะรองรับของเสีย’ เป็นศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศและขยะทะเล บริเวณนี้จึงเป็น ‘ปราการด่านแรก’ ของโลกที่จะเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้

 

ด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการเดินทางไปศึกษาวิจัยในครั้งนี้จะเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ โดยจะมีการปฏิบัติการดำน้ำสำรวจวิจัยใต้ทะเลครั้งแรกของเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีนักวิจัยที่ได้พิชิตการดำน้ำทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อีกด้วย

 

โดยนักวิจัยชาวไทยจะออกเดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคม 2561 และจะปฏิบัติงานบนเรือบริเวณทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2561

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising