×

เวลาที่ผันเปลี่ยน: การเมืองเรื่องเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้

09.04.2019
  • LOADING...
สามจังหวัดชายแดนใต้

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อดีตหัวคะแนนคนสำคัญของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในปัตตานีเล่าว่าหลายคนเริ่มหันมามีส่วนร่วมทางการเมืองกระแสหลัก (Electoral Participation) มากขึ้น หลังจากเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี 2518-2519 โดยมีการรวมตัวของผู้นำศาสนาในพื้นที่เพื่อเหตุผลทางการเมืองอย่างเปิดเผย
  • จนมาปีนี้จะเห็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของสมาชิกหลายๆ คนจากภาคประชาสังคมมากขึ้น มีการจัดทำเวทีอภิปรายเกี่ยวกับการเมือง สัมมนากลุ่มย่อย จัดทำเวิร์กช็อป มีการอภิปรายเรื่องนโยบายที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล เฉพาะกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม มีการประมวลรวมความคิดจนตกผลึกร่วมกันผ่านการตั้งเวทีและการรวบรวมแบบสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่ม
  • การที่เครือข่ายภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการความก้าวหน้าที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นไปอย่างสันติของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนักร้องโฟล์กซองเก่าแก่อย่าง บ็อบ ดีแลน จะต้องเคยได้ยินเพลง The Times They Are a-Changin’  ถือเป็นเพลงที่ดังมากในยุค 60s เนื้อหาของเพลงนี้เขย่าและสั่นคลอนอำนาจของผู้นำอเมริกาในยุคนั้น เป็นเพลงที่ต่อต้านสงครามในช่วงของสงครามเวียดนาม ต่อต้านการเหยียดสีผิวในช่วงของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) เป็นเพลงที่ปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นมาต่อกรกับการเมืองที่ไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมของสังคม โดยเนื้อหาท่อนหนึ่งของเพลงกล่าวว่า

 

พวกเราต้องมารวมตัวกัน

ควรยอมรับกันได้แล้วว่าระดับน้ำได้ท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนจะถึงจุดที่น้ำแทรกซึมแซะจนเข้าถึงกระดูกพวกเรา

หากใครไม่อยากปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเสียเปล่า

ให้ลุกขึ้นมาเริ่มลุยว่ายน้ำกันได้แล้ว

ไม่เช่นนั้นเราก็จะเหมือนก้อนหินที่จะค่อยๆ จมน้ำ

เพราะมันถึงเวลา มันถึงเวลาที่จะต้องผันเปลี่ยน (1)

 

พูดง่ายๆ ว่าเนื้อเพลงส่วนนี้ของบ็อบกระตุกให้คนฉุกคิดว่าอย่ายืนเป็นจ่าเฉย แต่ควรลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและสังคม

 

ทำให้นึกถึงคำสัมภาษณ์ของอดีตหัวคะแนนคนสำคัญของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่จังหวัดปัตตานี หัวคะแนนท่านนั้นบอกเล่าให้ฟังว่าหลายคนเริ่มหันมามีส่วนร่วมทางการเมืองกระแสหลัก (Electoral Participation) มากขึ้น หลังจากเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี 2518-2519 โดยมีการรวมตัวของผู้นำศาสนาในพื้นที่เพื่อเหตุผลทางการเมืองอย่างเปิดเผย (2)

 

ผู้นำศาสนากลุ่มนั้นได้ให้เหตุผลว่า “เราอยู่เฉยๆ แล้วจะเจ็บตัว” เป็นการกล่าวโดยนัยว่าจะนั่งเฉยๆ ตั้งรับกับการเมืองจากรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว รอบนี้ต้องเป็นฝ่ายลุกขึ้นมารุกรัฐผ่านวิถีทางการเมืองและการเลือกตั้ง

 

ซึ่งในส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ของผู้เขียนได้ตั้งข้อถกเถียงว่าเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีในปี 2518-2519 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ร้อยโยงกลุ่มคนจากทุกฝ่ายมารวมตัวกัน หลักๆ คือแกนนำผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักศึกษา นักการเมืองในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีการปะทุของวิวัฒนาการการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) โดยถ้วนหน้า

 

สามจังหวัดชายแดนใต้

 

จากนั้นจึงเริ่มเห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด ก่อนที่จะก้าวกระโดดมาถึงช่วงการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งรอบนี้ว่ามีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มภาคประชาสังคมถือเป็นตัวแสดงสำคัญในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้ เพียงแต่รอบนี้พวกเขามีบทบาทและส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งมากขึ้น

 

ทั้งนี้จากการสังเกตโดยตัวผู้เขียนมองเห็นว่า เมื่อย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2554 กลุ่มภาคประชาสังคมถือว่าให้ความสนใจกับการเลือกตั้งในพื้นที่น้อยมาก ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มประชาสังคมในช่วงนั้น บางคนก็บอกว่าไม่รู้เรื่องการเมือง บางคนก็บอกว่าเบื่อการเมือง บางคนก็บอกว่าไม่อยากยุ่งกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองขี้โกง

 

จนมาปีนี้จะเห็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของสมาชิกหลายๆ คนจากภาคประชาสังคมมากขึ้น มีการจัดทำเวทีอภิปรายเกี่ยวกับการเมือง สัมมนากลุ่มย่อย จัดทำเวิร์กช็อป ใครใคร่เชียร์พรรคไหนก็เชียร์กันไป มีการอภิปรายเรื่องนโยบายที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล เฉพาะกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม มีการประมวลรวมความคิดจนตกผลึกร่วมกันผ่านการตั้งเวที และการรวบรวมแบบสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างโดยเครือข่าย Peace Survey 19 องค์กร (โดยรวบรวมแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพร่วม 6 พันกว่าคน เก็บแบบสำรวจทั้งหมด 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2559-2561) ร่วมกับนักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชนเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรคเข้าร่วมฟังผลการรายงาน (3)

 

สามจังหวัดชายแดนใต้

 

การเลือกตั้งรอบนี้ยังมีอาสาสมัครจากหลายฝ่ายรวมกำลังคนร่วมกันสอดส่อง คอยตรวจสอบ ติดตาม ดูแลเรื่องราวการเลือกตั้ง เช่น กลุ่ม Projek Sama Sama ซึ่งเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของกลุ่มผู้สื่อข่าวและผู้ที่มีบทบาทการทำงานในกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ ถือเป็นกำลังสำคัญจากภาคประชาสังคมที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่าย กกต.

 

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกคนสำคัญหลายคนจากกลุ่มภาคประชาสังคมที่ตัดสินใจลงสมัครสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น ผู้สมัคร ส.ส. หญิงระบบสัดส่วนที่ลงสมัครในนามของพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของตัวแทนผู้หญิงที่ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อชาวบ้านที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง อีกทั้งยังมีผู้สมัคร 3 คนจากศูนย์ทนายความมุสลิม นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ (ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดยะลา เขต 1 ในนามพรรคพลังประชาชาติ – ชนะเลือกตั้ง) นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ (ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนราธิวาส เขต 3 ในนามพรรคประชาชาติ – ชนะเลือกตั้ง) และนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ (ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดปัตตานี เขต 2 ในนามพรรคภูมิใจไทย – ไม่ได้รับการเลือกตั้ง) โดยทนายความทั้ง 3 คนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปจากการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกตั้งข้อหาคดีด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ว่ากันว่าเป็นยุทธการแยกทางการเดินของพวกเขาเพื่อเข้าสภา (4)

 

จึงกล่าวได้ว่าการที่ผู้นำศาสนากระโดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองหลังเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี 2518-2519 ฉันใด กลุ่มองค์กรต่างๆ จากเครือข่ายภาคประชาสังคมก็ได้กระโดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งในปี 2562 ฉันนั้น

 

แล้วทำไมเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงเพิ่งเข้ามามีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา​

 

ผู้เขียนขอตั้งข้อถกเถียงทั้งหมด 2 ข้อ

 

ข้อแรกคือระยะเวลาของการเว้นวรรคทางการเลือกตั้งโดยประชาชนทั่วไป รอบนี้ถือว่านานกว่าทุกครั้ง เนื่องเพราะถูกทิ้งช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งจากครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 มาจนปัจจุบันถึง 8 ปี (5) นานจนสมาชิกเครือข่ายภาคประชาสังคมรู้สึกว่ามันนานเกินไป นานจนอึดอัด จนรู้สึกว่าไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้เลย

 

จากการสัมภาษณ์ อาจารย์อสมา มังกรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์ให้ความเห็นว่าภาคประชาสังคมของสามจังหวัดชายแดนใต้ถือกำเนิดขึ้นมาและมีบทบาทเป็นอย่างมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาจนปีนี้กลุ่มภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้นจนสถานะทางสังคมของการทำงานในพื้นที่ถือว่าเทียบได้กับระดับชนชั้นนำ (Elite) (6) อาจารย์ยังให้ความเห็นว่าแม้ภาคประชาสังคมจะทราบถึงความไม่ชอบมาพากลของการเลือกตั้งครั้งนี้ พูดได้ว่าเหมือนเป็นปาหี่ทางการเมือง แต่หลายคนในเครือข่ายภาคประชาสังคมมองว่าการได้มีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งนี้ แม้ว่าจะน้อยนิดก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

 

ข้อที่สอง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการที่ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนมีมากขึ้น

 

สืบเนื่องมาจากการที่มีกิจกรรมการรวมตัวพูดคุยเจรจาสันติภาพที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเวทีที่เป็นวงปิดหรือวงเปิด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น มีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มักคุ้นกันมากขึ้น นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าการรวมตัวถกเถียงกันเรื่องสันติภาพถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อพลวัตการลดเงื่อนไขความรุนแรงแล้ว พลังของบทสนทนาเรื่องสันติภาพยังมีอิทธิพลสำคัญต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงในสนามการเมือง สนามแห่งสันติภาพ และสนามการเจรจาสันติภาพดังที่อาจารย์ศรีสมภพได้กล่าวไว้ (7) ซึ่งการเปิดพื้นที่ทางการเมืองครั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าไม่ได้เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในมุมมองของความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นระบบการเมืองการเลือกตั้ง (Electoral Politics) อีกด้วย

 

สามจังหวัดชายแดนใต้

 

จากการสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมหลายคน พวกเขาได้ให้ความเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น พวกเขารู้สึกว่าการยุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ข้าราชการของรัฐเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ทั้งยังมีความรู้สึกว่าคนระดับผู้นำคงไม่ฟังพวกเขา แต่หลังจากที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนบทสนทนาร่วมกันหลายเวทีมากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดงานสัมมนา เข้าร่วมอบรมทั้งกับองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรภายในประเทศ จึงยิ่งทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะพูดมากขึ้น พวกเขามีพื้นที่ในการแสดงความเห็นมากขึ้น ทั้งนี้จึงกล่าวได้ว่าปฏิบัติการทางวาทกรรม (Discursivity) (8) ถือว่าได้เปิดพื้นที่ให้กับการมีบทสนทนาระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่น มารา ปาตานี และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้นำกับองค์กรจากภาคประชาสังคมอีกด้วย

 

การที่เครือข่ายภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการความก้าวหน้าที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นไปอย่างสันติของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้เขียนจึงเริ่มเกิดความหวังขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยว่าในห้วงเศษเสี้ยวของการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร ประชาธิปไตยในพื้นที่ที่โหยหาสันติภาพแห่งนี้ยังพอจะมีหนทางที่จะเติบโตบ้าง ซึ่งเป็นผลพวงจากหลายรัฐบาลไทยที่เปิดพื้นที่การพูดคุยให้คนในพื้นที่ในช่วงระยะที่ผ่านมานับสิบกว่าปี

 

ไฉนเลย ใครว่าการพูดคุยนั้นไม่สำคัญ…

 

ภาพ: AFP

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  1. ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง The Times They Are a-Changin’ โดย บ็อบ ดีแลน
  2. แม้ว่าผู้นำศาสนาจะมีบทบาทช่วยผลักดันให้หะยีสุหลงนำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐไทย แต่ก็ไม่ได้ออกมาแสดงตนต่อรัฐไทยอย่างเปิดเผยเท่าไรนัก (ผู้เขียน)   
  3. Prachatai newspaper online. (March 1, 2019). “เปิด 7 + 4 นโยบาย ‘Peace Survey-องค์กรสิทธิฯ’ เสนอพรรคการเมือง แก้ปมชายแดนใต้” prachatai.com/journal/2019/03/81277
  4. นันท์ชนก วงษ์สมุทร์, BBC Thai. (March 14, 2019). “เลือกตั้ง 2562: หาเสียงชายแดนใต้ 3 ทนายมุสลิมแยกทางเดิน ชิงคะแนนเข้าสภาฯ” www.bbc.com/thai/thailand-47554216
  5. ผู้เขียนมองว่าการเลือกตั้งในปี 2557 ไม่ได้เป็นไปอย่างปกติ เพราะมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส. บวกกับการที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในชายแดนใต้ได้คว่ำบาตรในการลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เขียนจึงไม่ได้นำมาร่วมประกอบการพิจารณาในการวิเคราะห์
  6. ชนชั้นนำดังกล่าว ได้แก่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นักการเมือง ตระกูลที่มีเชื้อสายรายาเก่าแก่ในพื้นที่ ฯลฯ (ผู้เขียน)
  7. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (กรกฎาคม, 2560). ความขัดแย้งชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี: ความซับซ้อนของสนามความรุนแรงและพลังของบทสนทนาสันติภาพในปาตานี deepsouthwatch.org/sites/default/files/blogs/attachment/deepsouthconflictin13years_th.pdf. (หน้าที่ 12)
  8. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (กรกฎาคม, 2560). “ความขัดแย้งชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี” (หน้าที่ 17)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising