×

#เลือกตั้ง2566 ศึกขั้วเดียวกัน เสรีนิยมแข่งกัน อนุรักษนิยมสู้กัน

05.05.2023
  • LOADING...
เลือกตั้ง2566

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

ถึงกรณีพรรคการเมือง ‘ฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษนิยม’ ในการต่อสู้กันเอง วิธีสังเกตการรวมเสียงให้ได้ครึ่งหนึ่งของสภา และความวุ่นวายของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีต่อรัฐสภา

 

รวมถึงกรณี ‘คุณสมบัติหรือมาตรฐานการเป็นนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมที่สุด’ กับแนวโน้มโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

 

พรรคขั้วเดียวกันแข่งขันกันเองในเกมเลือกตั้ง 2566

คู่แข่งของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่แท้จริงคือ พรรคเพื่อไทย (พท.) ดังนั้น ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จะเป็นการแข่งขันของสองพรรคดังกล่าว (พรรคฝั่งเสรีนิยมแข่งกันเอง) และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งแข่งขันกันเองในฝั่งอนุรักษนิยม โดยมี 2 ปัจจัย ดังนี้

 

ปัจจัย ‘ระบบเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์’ โดยทุกคะแนนจะแปรเปลี่ยนไปเป็นที่นั่งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือคิดง่ายๆ ว่า ร้อยละ 1 ต่อ ส.ส. 1 คน เมื่อร้อยละ 100 ก็เท่ากับ ส.ส. 100 คนพอดี แต่ ส.ส. เขตที่มี 400 คนกลับมีผู้ชนะเพียงแค่คนเดียว ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินครึ่ง 

 

ในอดีต กลยุทธ์ของการเลือกตั้งคือ เมื่อแข่งขันกันในเขตเลือกตั้ง ถ้าทราบอยู่แล้วว่าพรรคของตนเองมีโอกาสแพ้มากกว่าชนะ ก็จะต้องหาคนที่อยู่ฝั่งเดียวกับฝ่ายตรงข้ามของตนเองเพื่อตัดคะแนนของฝ่ายตรงข้ามให้เพลี่ยงพล้ำ แต่ในครั้งนี้เป็นการแข่งขันและตัดคะแนนกันเองโดยธรรมชาติ 

 

สำหรับพรรคก้าวไกล (เดิมมาจากพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน ส.ส. เขตจากพรรคไทยรักษาชาติ (ที่ถูกยุบก่อนการเลือกตั้ง 2562) 

 

แต่ครั้งนี้ พรรคก้าวไกลจะไม่มีที่นั่งของพรรคเพื่อไทยที่เว้นให้แล้ว นี่จะเป็นการพิสูจน์ว่า ‘พรรคก้าวไกลจะก้าวไปสู่พรรคการเมืองที่ยิ่งใหญ่ได้หรือไม่’ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็แข่งขันอย่างจริงจังเพื่อต้องการชนะให้ขาดลอยแบบ ‘แลนด์สไลด์’

 

ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญฯ และ Swing Voter ส่งผลกับการเมืองไทยอย่างไร

อีกปัจจัยหนึ่ง คือความไม่ปกติของประเทศไทยจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ออกแบบ รธน. เพื่อให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (พรรคพลังประชารัฐ ณ ขณะนั้น) สามารถยึดอำนาจเป็นนายกฯ ต่อไปได้ด้วยการมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวมเสียงเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น จึงต้องประกาศ ‘นโยบายแลนด์สไลด์ 310 หรือ 376 เสียง’ หากไม่ถึง 250 เสียงก็อาจมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล แต่สามารถบีบ ส.ว. และรวมกับพรรคอื่นๆ ได้ 

 

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ Swing Voter หรือกลุ่มที่ยังลังเลใจและไม่ตายตัวว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหน โดย ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ค่อนข้างจะชัดเจนในการเลือกพรรคการเมืองที่ชอบมากกว่าแบบแบ่งเขตที่จะมียุทธศาสตร์เชิงลึกเพื่อแย่งชิงหรือตัดคะแนนกันเองได้ เช่น พรรคก้าวไกลบุกเขตเชียงใหม่ (จุดยุทธศาสตร์หลักพรรคเพื่อไทย) พรรคเพื่อไทยบุกเขตกรุงเทพมหานคร (จุดยุทธศาสตร์หลักพรรคก้าวไกล)

 

ส่วนปมความขัดแย้งของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย เรื่องกัญชาเสรี ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมานั้น มองว่าเป็นแค่เกมการเมืองและการหาเสียง 

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตเรื่องปมความบาดหมาง ‘เนวิน ชิดชอบ’ บาดหมางกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กับการดึง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยมาสู่ภูมิใจไทย

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ใครได้คะแนนเสียงเกินครึ่งก็จะได้เป็นรัฐบาลไป ดังนั้นทุกพรรคการเมืองมีสิทธิที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 

 

ฝั่งอนุรักษนิยมรัก ‘ประยุทธ์’ มากที่สุด ?

ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยม โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะอยู่อันดับ 3 หรือ 4 แต่กลับได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบ ‘ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี’ และ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี’ หันมาเทคะแนนให้กับกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นเพียงพรรคเดียวที่ระบุชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ รทสช. จะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้นก็อาจจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน ไม่ได้ปิดกั้นโอกาส แม้จะเคยปราศรัยที่อาจกระทบกันอยู่ก็ตาม

 

วิธีการรวมเสียงให้ได้เกินครึ่ง และมาตรฐานของนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสม

‘วิธีการรวมเสียงให้ได้เกินครึ่ง’ ต้องดูจาก ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎรคือใคร มาจากไหน’ โดยมีระยะเวลา 30 วันในการดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 60 วันในการประกาศผลการเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น และถ้ามี ส.ส. เกินร้อยละ 95 หรือ 475 คน ก็สามารถเปิดประชุมสภาได้ ซึ่งวาระแรกของการประชุมสภาคือการเลือกประธานสภาที่ต้องได้เสียงเกินครึ่ง 

 

จากนั้น บันไดขั้นต่อไปคือ ‘มาตรฐานหรือคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีหรือเหมาะสม คือต้องได้ 376 จาก 500 เสียงขึ้นไป และประชาชนควรมีส่วนร่วม’ ซึ่งหากจะรวมเสียง ส.ส. ของเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ ให้ได้ 376 เสียงคงจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าได้ 310 เสียง และมีคะแนน ส.ว. โหวตตามอีก 70 เสียง รวม 380 เสียง ก็จะมีคะแนนเกินครึ่งและมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าแบบแรกในการจัดตั้งรัฐบาลและรับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับ ‘ส.ว.’ หากจะนิยามก็คงกล่าวได้ว่า คือกลุ่มที่ ‘สร้างความปั่นป่วนและไม่ปกติต่อสภา’ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อย่างมาก ดังนั้น ในเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องระบุข้อมูลให้ชัดเจนว่า ‘จะไม่มีพรรคไหนหรือว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใดเป็นนายกฯ ด้วยเสียง ส.ว.’ ทั้งนี้ เกือบระยะเวลา 9 ปีแล้วที่ยังมี ส.ว. ที่มาจากคณะรัฐประหารมาเลือกนายกรัฐมนตรี ต่อให้ประชาชนจะเห็นต่างทางความคิดมากเพียงใด แต่ก็ควรเคารพผลการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นที่ตั้ง 

 

เมื่ออ้างอิงจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 จะพบว่ามีวิธีปฏิบัติการออกเสียงลงคะแนนอย่างเปิดเผย ดังนี้ 

 

ข้อ 56 (2) ระบุว่า ‘เรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามตัวอักษรหรือการคละชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว.’ นอกจากนี้ ข้อ 56 (3) ระบุว่า ‘วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมรัฐสภาเห็นสมควรโหวต 376 เสียงขึ้นไปโดยที่ ส.ว. ไม่เห็นชอบก็ย่อมทำได้’ หรือการที่ให้ ส.ส. โหวตให้ครบก่อนแล้วตามด้วย ส.ว. ซึ่งต้องเคารพในเจตนารมณ์ของการลงมติ โดยเรื่องดังกล่าวเป็นการเปิดเผยครั้งแรกในสื่อและรายการประเทศไทย

 

ประการที่สอง คือ ‘การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน’ โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ อดีตนักการเมืองได้ร่างไว้ว่า 

 

‘ถ้าเป็นตำแหน่งต่อเนื่องกันถือว่าได้แสดงบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว’ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่แท้จริงว่า ‘พล.อ. ประยุทธ์ถึงไม่อยากเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1’ โดยครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองคนแสดงข้อมูล คือวันที่ 24 สิงหาคม 2557 

 

ดังนั้น การออกมาประกาศบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกคน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับประชาชน

 

และประการสุดท้าย คือ ‘การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องอ่านให้ครบถ้วน’ โดยครั้งที่แล้ว (เลือกตั้ง 2562) พล.อ. ประยุทธ์ อ่านตกไป 1 ประโยค คือ ‘ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ’ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าผิดพลาด ดังนั้น เมื่อทุกคนที่ได้เป็นนายกฯ ต้องประกาศว่าจะอ่านให้ครบ มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ 

 

‘โค้งสุดท้าย’ การเลือกตั้ง 2566 มาแล้วหรือไม่

สำหรับตอนนี้ ที่สื่อมวลชนพยายามเสนอข่าวว่าเป็น ‘ช่วงสุดท้ายของเลือกตั้งนั้น’ ยังไม่เป็นความจริง เพราะยังเหลืออีก 2-3 ช่วงสุดท้าย ถ้าจะดูว่าช่วงไหนเป็นช่วงสุดท้ายจริงๆ ให้จับตา 2 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองจะติดสโลแกนบนป้ายหาเสียง เสมือนทีเด็ดของแต่ละพรรค ซึ่งสถานการณ์ของการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เหมือนกับ 4 ปีที่แล้วอยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อปี 2562 ยังไม่ได้สู้ในข้างเดียวกัน แต่ครั้งนี้ปี 2566 เป็นการสู้ในข้างเดียวกัน อย่างฝั่ง ‘อนุรักษนิยม’ เช่น พรรคประชาธิปัตย์กับรวมไทยสร้างชาติก็แย่งชิงพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯ กันเอง ส่วนฝั่ง ‘เสรีนิยม’ เช่น พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล ก็แย่งชิงพื้นที่หาเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือกันเอง ถ้าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะไม่ได้เดินเกมสูสีมากเท่าครั้งนี้ เพราะช่องว่างของคะแนนสามารถคาดคะเนได้ง่ายกว่า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising