×

EIC เผย ส่งออกไทยไปจีนหดตัวครั้งแรกรอบ 17 เดือน พิษล็อกดาวน์ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเริ่มโตแผ่วลง

27.05.2022
  • LOADING...
EIC

EIC เผยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนเมษายนเริ่มโตแผ่วลง โดยการส่งออกไปจีนติดลบครั้งแรกรอบ 17 เดือน ผลจากการล็อกดาวน์ ขณะที่การส่งออกไปยุโรปขยายตัวต่ำสุดรอบ 14 เดือน

 

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนเมษายน พบว่า ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 9.9% แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 19.9% แม้เป็นตัวเลขการขยายตัวที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 แต่ถ้าหักทองคำออก พบว่า การส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัวได้เพียง 8.9% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 9.5% 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า การส่งออกไทยในเดือนเมษายนถือว่าชะลอตัวลงไปมาก ซึ่งถ้าดูการส่งออกรายตลาด พบว่า เกือบทุกตลาดล้วนมีแนวโน้มหดตัวหรือทรงตัว มีเพียงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ที่เร่งตัวขึ้น โดยมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ ได้แก่ การส่งออกไปจีนที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ -7.2% 

 

นอกจากนี้ การส่งออกไปยุโรปยังขยายตัวได้ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนยังคงหดตัวรุนแรงที่ 76.8% และ 94.9% ในขณะที่การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ยังขยายตัวได้สูงที่ 392.2% จากการส่งออกทองคำเป็นหลัก

 

ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้า พบว่า แม้ส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ แต่มีบางหมวดสำคัญที่หดตัวหรือชะลอตัวลง โดย 

 

  1. สินค้าเกษตร ขยายตัวได้ 3% โดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าว แต่มีผลไม้และยางพาราเป็นปัจจัยฉุด 

 

  1. สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 22.8% โดยเฉพาะจากไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย และอาหารเลี้ยงสัตว์ 

 

  1. สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.3% โดยเฉพาะจากอากาศยานฯ, เหล็ก, เหล็กกล้า, เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมและแผงวงจรไฟฟ้า แต่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ และ 

 

  1. สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ขยายตัว 39% โดยเฉพาะจากน้ำมันสำเร็จรูป

 

มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการส่งออกมาก ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล

 

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนเมษายน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 21.5% โดยในเดือนนี้ขยายตัวในเกือบทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (+99.3%) ที่ขยายตัวตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงจากผลของสงครามในยูเครน, สินค้าทุน (+10.9%), สินค้าอุปโภคบริโภค (+1.2%) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+11.7%) ยกเว้นสินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-25.2%) โดยในเดือนนี้ ดุลการค้าขาดดุล 1,908.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 มียอดดุลการค้าขาดดุลรวม 2,852.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

EIC ระบุว่า หากพิจารณาการส่งออกที่หักทองคำ พบว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน เริ่มสะท้อนถึงผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับแรงกดดันหลายปัจจัย ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กดดันกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภคทั่วโลก

 

ประกอบกับสงครามในยูเครนและปัญหาชะงักงันของอุปทานและภาคขนส่งที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งนี้การชะลอตัวของการส่งออกไทยสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญอื่นๆ ที่ชะลอตัวลงเช่นกัน รวมถึงข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลง และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 หรือ ‘หดตัว’ 2 เดือนติดต่อกัน

 

ส่วนแนวโน้มการส่งออกระยะข้างหน้า EIC ประเมินว่า จะยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกไทยขยายตัวจากด้านราคา 3.9% และด้านปริมาณ 11% แต่ระยะถัดไปปัจจัยด้านปริมาณมีแนวโน้มชะลอตัวจากอุปสงค์โลกที่ลดลง

 

โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะสงครามและเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ แต่จะได้รับแรงหนุนหลักจากราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าพลังงานและอาหาร จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อนานกว่าคาด 

 

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่าจากปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยปรับตัวลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลต่อเนื่องในปีนี้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising