×

EIC ปรับคาดการณ์ ‘ส่งออกไทย’ ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 16.7% หลังตัวเลขเดือน ต.ค. ดีเกินคาด มองปีหน้ายังโตได้ 5.1% แม้ความเสี่ยงรุมเร้า

23.11.2021
  • LOADING...
ส่งออก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มจากเติบโต 15% เป็น 16.7% ตามตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องในเดือนตุลาคม ขณะที่ในปีหน้าคาดว่าการส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 5.1% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% 

 

EIC ระบุว่า โมเมนตัมการส่งออกในช่วงปลายปีนี้ที่เร่งตัวเร็วขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าหลายประเภททั่วโลก โดยเฉพาะราคาพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของมูลค่าส่งออกในปีนี้และปีหน้าหน้า โดยการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาในปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่จะได้ผลดีจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเศรษฐกิจปีนี้ที่เร่งตัวไปก่อนหน้าแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาหลายประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือยืดเยื้อจากปัญหาคอขวดด้านอุปทาน การเริ่มกลับมาระบาดของโควิดรอบใหม่ในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

สำหรับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าระวางและระยะเวลาขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูงนั้น คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งแรกของปี 2022 จากอุปสงค์การนำเข้าสินค้าทั่วโลกที่จะปรับลดลงตามฤดูกาล รวมถึงการนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดเล็กลง และผู้บริโภคมีแนวโน้มหันไปใช้จ่ายภาคบริการมากขึ้น แต่ค่าระวางเรือยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤต

 

ส่วนปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) คาดว่าจะยังคงลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์หรือ Lead Time ยังมีแนวโน้มนานขึ้น โดยคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 17.4% แต่ปรับชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการระบาดที่เริ่มกลับมาในยุโรป และปัญหาคอขวดด้านอุปทาน (Supply Disruption) ทั่วโลก สะท้อนจากดัชนีเวลาขนส่งวัตถุดิบ (Supplier Delivery Time) ที่ใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นมาก โดยปัญหาดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงปัจจุบัน

 

โดยหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวที่ 17% ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.7%

 

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนตุลาคม 2021 ขยายตัว 34.6% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 30.3% และหากหักทองคำจะขยายตัวที่ 25.5% ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 31.3% ในส่วนของดุลการค้าเดือนตุลาคมขาดดุล -370.2 ล้านดอลลาร์ หากรวม 10 เดือนแรกของปี 2021 จะเกินดุลที่ 1,646.6 ล้านดอลลาร์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising