×

เจาะยุทธศาสตร์ใหม่ EEC จุดแข็ง โอกาส และความสำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2021
  • LOADING...
เจาะยุทธศาสตร์ใหม่ EEC จุดแข็ง โอกาส และความสำเร็จ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เพื่อนำพาประเทศไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเทคโนโลยี และการยกระดับธุรกิจและ 12 อุตสาหกรรมหลักเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว 

 

แม้ปี 2563 ที่ผ่านมา โครงการ EEC จะต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่จากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ สกพอ. ยังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผลักดันโครงการไปแล้วกว่า 6.5 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมแผนงานในปี 2564 กับการผลักดัน 3 อุตสาหกรรม ที่จะเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

สำหรับปี 2564 โครงการต่างๆ ที่วางไว้ยังคงเดินหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยวางเป้าหมายให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท พร้อมสร้างการลงทุนที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น กล่าวคือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังดำเนินต่อเนื่อง 12 อุตสาหกรรมหลักเป้าหมายยังเดินตามแผนที่วางไว้ 

 

“สกพอ. ให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจังในปี 2564 นอกเหนือจากการเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน” ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าว

 

โดยปีนี้จะเน้นให้น้ำหนักที่อุตสาหกรรมหลักที่ภาครัฐมองว่ามีศักยภาพสูง และจะเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในสถานการณ์ปัจจุบัน อันประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Healthcare & Wellness) 2. กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G และ 3. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) 

 

 

1. กลุ่มธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Healthcare & Wellness) : ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์ 

 

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาค เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพและบริการที่ได้รับ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านบริการทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากนานาประเทศ และในขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 ไทยเราก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความสามารถในการรับมือกับโควิด-19 ได้ดี

 

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า “ในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เป็นนโยบายที่สำคัญของ สกพอ. ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกต้องการอุปกรณ์การแพทย์ป้องกันและรักษาโรคเพิ่มมากขึ้น” 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ใน EEC หลายโครงการ ได้แก่ โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอของคนไทย 50,000 ราย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาด้านการแพทย์ผลิตยารักษาโรค วัคซีน และวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับคนไทยและอาเซียน เพื่อให้ประชากรในภูมิภาคนี้ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้น การรักษาพยาบาลสามารถทำได้ในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเคสเข้ากรุงเทพฯ 

 

นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ใน EEC จะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งยังจะเกิดธุรกิจโรงพยาบาลที่จะรักษาได้เฉพาะจุดเฉพาะคน การใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมในการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ประกอบกับโรงพยาบาลของไทยก็มีชื่อเสียงในระดับโลก ทำให้นักลงทุนทั้งจากเอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ ต่างสนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลของไทย

 

 

2. กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G : ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G  

 

โลกกำลังจะก้าวสู่ยุค IoT (Internet of Things) ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นการทำงานของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเราจะทำงานได้อย่างอัจฉริยะ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง การใช้โดรนบินส่งของถึงบ้าน รวมถึงผู้ช่วยส่วนบุคคลที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมต่อและส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบว่า ประเทศไทยเรามีความได้เปรียบตรงที่เราลงทุนกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างรวดเร็วและรุดหน้ากว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เราจึงควรจะใช้จุดแข็งและโอกาสนี้ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาค 

 

ล่าสุด EEC และ TOT ได้ร่วมมือกันเดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับระบบ 5G และประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี 5G ในการบริหารจัดการ โดยกำหนดระยะเวลาประเมินผลไว้ที่ 3 เดือน หากมีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจของเอกชนและชาวบ้านในพื้นที่แล้ว จึงจะดำเนินการขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต 

 

ดร.คณิศ ยืนยันว่า “ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พื้นที่ EEC จะใช้สัญญาณ 5G ถึง 50 เปอร์เซ็นต์” พร้อมกล่าวถึงแนวคิดที่ท้าทายและเป็นความหวังในการพัฒนาครั้งนี้คือ “ถ้าเราสามารถบริการจัดการและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้ดี จะส่งผลให้มีคนสนใจมาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก้าวต่อไปที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เราใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนใน EEC”

 

 

3. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) : ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายการบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา 

 

ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เพราะตั้งอยู่บนศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์จึงเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ความรุดหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึงการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันทางด้านราคา ความรวดเร็ว คุณภาพของการบริการ รวมถึงความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีก็เพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นเดียวกัน 

 

ดังนั้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาประเทศหรือบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมด Smart Logistics โดยการประยุกต์เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องมีบทบาทในการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตและประกอบกิจกรรมต่างๆ ทางด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า-ส่งออก และกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ E-Commerce โดยนอกจากการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยี 5G จนปัจจุบันไทยมีความพร้อมที่สุดในอาเซียนแล้ว ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนระบบขนส่งในภาพรวม นั่นคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดำเนินการได้อย่างไม่ติดขัด

 

โดยความคืบหน้าล่าสุดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC คือ ได้เอกชนร่วมลงทุนแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา) 2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ 3. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 

 

ดร.คณิศ เล่าถึงความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC ว่า “ในช่วงที่มีโควิด-19 เราสามารถที่จะนำโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมาเซ็นสัญญาเอกชนได้ เรามีการทำงานที่ต่อเนื่องอยู่ตลอด โควิด-19 ไม่ได้หยุดงานเรา หลังจากทำสนามบินเสร็จ โลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC จะต้องขยายตัวเยอะขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีนักลงทุนสนใจมาลงทุนเป็นจำนวนมาก” 

 

เมื่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน จากความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าพื้นที่ EEC มีความต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์ประมาณ 90,500 ตำแหน่งงาน โดยทักษะเพิ่มเติมที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในบุคลากรรุ่นใหม่คือ ทักษะทางด้านเทคโนโลยีการจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติด้านการจัดการการขนส่ง และทักษะด้านภาษาอังกฤษเฉพาะทาง

 

3 ปีที่ผ่านมา สกพอ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คิดเป็นมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท โดยกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนอยู่ที่การเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐโดยใช้รูปแบบของ PPP ส่วนความท้าทายในปี 2564 อยู่ที่การเร่งวางโครงข่าย 5G รองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์, จีโนมิกส์ การแพทย์สมัยใหม่ และเริ่มวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ซึ่งบางโครงการ สกพอ. อาจต้องเข้าไปร่วมลงทุนกับชุมชนในพื้นที่ด้วย

 

3 ปีในการผลักดันโครงการต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง, พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีความคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นช่วงเวลาต่อจากนี้ เมื่อโครงข่าย 5G สำเร็จ จะเป็นก้าวสำคัญที่ดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคมาได้ ขณะที่อุตสาหกรรมในประเทศก็จะใช้โอกาสนี้ยกระดับสู่ Industry 4.0 ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว

 

ดังที่ผู้บริหาร EEC พูดอยู่เสมอว่า “ทั้งหมดที่ทำวันนี้ก็เพื่อยกระดับชีวิตคนไทย สร้างประโยชน์ สร้างสุขให้คนไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

 

ดังนั้น ในปี 2564 เราจะเห็นตัวเลขการลงทุนของโครงการต่างๆ ในเขตพื้นที่ EEC มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 312,893 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising