วันนี้ (4 มีนาคม) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวบนเวทีการประชุมให้ความรู้ ‘สาระรอบรู้เรื่องสมาชิกวุฒิสภา ปี 2567’ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยกล่าวว่า การเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ซึ่งทางสำนักงาน กกต. จะพยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจง่ายขึ้น
หากดูตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญออกแบบการได้มา สว. ให้เป็นผู้ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะเห็นข้อแตกต่างจาก สส. คือ สว. ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มสาขาอาชีพ และเป็นกลาง ซึ่งหมายถึงพรรคการเมืองจะเข้ามายุ่งไม่ได้ การเป็นสมาชิกวุฒิสภาจะยอมรับให้พรรคการเมืองเข้ามายุ่งไม่ได้
ส่วนสมาชิกพรรคการเมือง หากใครอยากเป็น สว. ก็ลาออกจากพรรคแล้วมาสมัคร แต่ถ้าเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือข้าราชการการเมือง ต้องพ้นมาแล้ว 5 ปี เพราะต้องการความเป็นกลาง ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่เป็นโจทย์ของสำนักงาน กกต. ที่ต้องตรวจสอบ
แสวงกล่าวต่อไปว่า สมาชิกวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิ จึงไม่ได้มาจากคะแนนนิยมเหมือนเวลาเลือก สส. จะเห็นได้ว่า สส. เกิดจากคะแนนนิยมทั้งความนิยมพรรคและความนิยมในพื้นที่ ส่วนวุฒิสภาคือผู้ทรงคุณวุฒิเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ จึงให้ผู้สมัคร สว. มาเลือก สว.
“นั่นหมายความว่า อย่าฮั้วกันมา อย่าจัดตั้งกันมา เราจึงจะได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้ นี่ก็เป็นโจทย์ของสำนักงาน กกต.”
สำนักงาน กกต. ต้องดูแลว่ามีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือผิดจากวิธีการแนะนำตัวอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่ง สว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและเป็นที่ยอมรับ ส่วนจะดีจะร้ายอย่างไรก็อยู่ที่ผู้สมัครที่เลือกกันมาเอง
ถ้าสมัครจำนวนแสนคน ก็คือคนแสนคนเป็นคนเลือก ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ถ้าประชาชนคิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติก็เข้ากระบวนการได้ โดยเป็นทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือกในตัวด้วย
ดังนั้นคนที่มาสมัคร สว. ต้องไม่ใช่จัดตั้งกันมาเพื่อมาเป็นแค่ ‘ผู้เลือก’ หมายความว่าจะมาสมัคร สว. เพียงเพื่อจะมาเป็นผู้เลือกนาย ก. หรือนาย ข. คนใด นั่นไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ผู้สมัคร สว. ไม่สามารถหาเสียงได้ ทำได้เพียงแนะนำตัว
แสวงกล่าวว่า อยากให้ความมั่นใจว่าสำนักงาน กกต. จะรักษาเป้าหมายตรงนี้ในการดำเนินการ จนกว่าเราจะได้วุฒิสมาชิกทั้ง 200 คน ส่วนวิธีการในระหว่างที่มีการเลือกครั้งนี้จะไม่มีการหาเสียง เพราะกฎหมายใช้คำว่าแนะนำตัว ส่วนแนะนำตัวแค่ไหน เราจะมีระเบียบให้แนะนำตัว เพราะกฎหมายถือว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว คือมีชื่อเสียงอยู่แล้ว แค่ใช้กระดาษแนะนำตัวขณะแนะนำตัวหรือใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่ง กกต. ให้ใช้ได้ ก็น่าจะเพียงพอที่จะเป็นข้อมูลให้กลุ่มอาชีพ หรือการเลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอไปถึงระดับประเทศ สามารถเลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างถูกต้อง
แต่ถ้ามาตรการอื่นๆ ที่ผู้สมัคร สว. จะทำเกินไปกว่านั้น เช่น ไปพบปะพูดคุยหรือทำเกินกว่าวิธีการแนะนำตัว เราก็จะต้องสอดส่องดูแล ในระดับอำเภอซึ่งมี 928 อำเภอ รวมเขตของ กทม. ด้วย
“เราก็คงจะต้องสอดส่องตรวจตราดูว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคนทำอะไรเกินกว่ากฎหมายหรือมีกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง อยู่เบื้องหลังหรือไม่ ไปประชุมกันที่ไหน ร้านอาหารไหน โรงแรมไหน หรือสถานที่ไหนในอำเภอ สำนักงาน กกต. จะเฝ้าตรวจดูทุกที่
อำเภอเล็กๆ ไม่เป็นปัญหาในการตรวจสอบ แต่อำเภอใหญ่ๆ หรือในเขต กทม. อาจจะมีการแอบไปทำที่ไหน แต่จริงๆ เมื่อเรารู้ตัวผู้สมัครแล้ว เรารู้พรรคการเมืองแล้ว ก็ไม่เกินวิสัยที่สำนักงาน กกต. จะทำได้ในส่วนการตรวจสอบนี้ จึงอยากให้ความมั่นใจไปยังประชาชนว่า คณะกรรมการ กกต. และสำนักงาน กกต. จะดูแลตรงนี้ให้ดีที่สุด” แสวงกล่าว
แสวงกล่าวถึงปัญหาการจัดตั้งกันมาเลือกกันเองว่า สำนักงาน กกต. จะให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อยากให้ความมั่นใจว่าสำนักงาน กกต. จะทำให้ได้ สว. อย่างที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ และคิดว่าจะบริหารจัดการการเลือก สว. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ได้ สว. ครบ 200 คน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย