×

หากการศึกษาไม่จำเป็นต้องสอนโดยสถาบันการศึกษา? คุยกับ ‘รุธิร์ พนมยงค์’ คณะพาณิชย์ฯ มธ. ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะหนีกระแส Disruption ได้

17.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • “ถ้าหากวันหนึ่งการศึกษาไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยสถานศึกษาอย่างเดียวอีกต่อไป” แล้วสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะสามารถหลีกหนีจากกระแสดิสรัปชันได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เดินเข้ามาพูดคุยกับ รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคนใหม่ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้โดนกระแสดิสรัปชันกลืน
  • รศ.ดร.รุธิร์ ย้ำว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยต้องมีความยืดหยุ่น ต้องสามารถเปิด-ปิดหลักสูตรได้เร็วตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คณาจารย์ต้องค้นคว้าวิจัย แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นผู้นำองค์ความรู้
  • นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเร่งทำในวันนี้ คือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้สอดรับกับพลวัตของเทคโนโลยี และโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ตรง ด้วยการพัฒนาห้องเรียนและพื้นที่การทำงานร่วม (Co-working Space)

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจต้องมีการทรานส์ฟอร์มองค์กรของตัวเอง เพื่อให้รอดพ้นต่อการถูกดิสรัปชันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ยากต่อการคาดเดา

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบที่เลี่ยงไม่ได้ให้กับสถาบันการศึกษา ที่ต้องสามารถก้าวทันต่อกระแสของการเปลี่ยนเปลงที่จะถาโถมอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะสถาบันการศึกษาคือหน่วยงานหลักที่ป้อนแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจ 

 

แต่ “ถ้าหากวันหนึ่งการศึกษาไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยสถานศึกษาอย่างเดียวอีกต่อไป” แล้วสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวอย่างไร ถึงจะสามารถหลีกหนีจากกระแสดิสรัปชันได้ 

 

คำถามดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เดินเข้ามาพูดคุยกับ รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคนใหม่ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้โดนกระแสดิสรัปชันกลืน

 

 

สถาบันการศึกษาต้องตอบบทบาทของตัวเองให้ได้

รศ.ดร.รุธิร์ เริ่มต้นการสนทนากับเราด้วยการตอบคำถามข้างต้นว่า เราต้องมองย้อนกลับมาที่บทบาทของมหาวิทยาลัย เพราะว่าในความเป็นจริงความรู้มีทุกหนทุกแห่ง ถ้าเรามีความสนใจเพียงพอ มีวินัย ก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง แต่อะไรคือสิ่งที่จะมาบอกนี่คือความรู้ที่คุณมี ‘ใบปริญญา’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานที่จะมาพิสูจน์ว่า คุณมีความรู้ แต่ขณะเดียวกันนอกจากความรู้ในเชิงวิชาชีพต้องมีสกิลอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

 

แต่พอเรามองย้อนกลับมาดูอีกที หลายๆ คนที่จบมาในสายหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำงานในสายนั้นเพียงอย่างเดียว กลายเป็นข้อจำกัดของสถาบันการศึกษาเอง และเจเนอเรชันใหม่ที่เข้ามาพวกเขาเหล่านี้สนใจหลายอย่าง หลักสูตรหลายหลักสูตรค่อนข้างแคบเกินไป มีการจำกัดเรื่องของความคิด  

 

ถ้าเรามองในเชิงดิสรัปชัน เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามา จริงๆ เราต้องมองสลับกัน มองในมุมมองของคนที่ต้องการความรู้จากการศึกษา สิ่งที่เขาอยากจะได้คืออะไร ความรู้จากการศึกษาจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือเนื้อหา ส่วนที่สองคือสกิลที่เขาจะต้องมีเพื่อจะอยู่ได้ สามารถทำงานได้

 

และในระดับของมหาวิทยาลัยเอง เราสอนสกิลน้อย เพราะเราเน้นเนื้อหามากกว่า โดยเฉพาะเนื้อหาในเชิงวิชาการ ถ้าเกิดมหาวิทยาลัยไม่เริ่มมองว่าจริงๆ แล้วบทบาทของตัวเองคืออะไร ก็จะทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ให้สังคมได้ และกลายเป็นประเด็นที่ว่าควรจะมีมหาวิทยาลัยอยู่ต่อไหม

 

 

มหาวิทยาลัยต้องมีความยืดหยุ่น

รศ.ดร.รุธิร์ ย้ำว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยต้องมีความยืดหยุ่น ต้องสามารถเปิด-ปิดหลักสูตรได้เร็ว ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นี่ก็ส่งผลต่อคณาจารย์ด้วย ต้องทำการค้นคว้าวิจัย ปรับตัวเองให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการทำงานของรัฐ ที่ต้องหาวิธีการว่าตีกรอบกันอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ภายในมีความยืดหยุ่นได้ ทำให้สามารถทำในสิ่งที่ควรจะทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยข้อจำกัดต่างๆ นานา

 

“หากอาจารย์ทำวิจัยอยู่ตลอดเวลา ก็จะสามารถเป็นผู้นำด้านความคิด ด้านองค์ความรู้ในหัวข้อนั้นได้ นี่คือการปรับตัว คือต้องแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีงานวิจัย และนี่จะกลายเป็นบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ต้องเป็นผู้นำด้านความคิด ผู้นำด้านความรู้ใหม่ๆ

 

“จริงอยู่ความรู้ใหม่ๆ มักอยู่ในต่างประเทศ แต่สุดท้ายสอดคล้องกับบริบทบ้านเราไหม เราต้องค้นคว้ามาปรับให้เหมาะสม และทำงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ ซึ่งที่ TBS มีระบบที่ช่วยให้คณาจารย์ของเราทำวิจัยตั้งแต่สนับสนุนเรื่องการเงิน ตลอดจนการลาไปทำวิจัยได้” 

 

ตัวอย่างเช่น ในเชิงด้านบริหารธุรกิจ เป็นสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรายิ่งต้องการการวิจัยอย่างมาก บริษัทไทยเริ่มออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น วิธีการไหนที่จะเหมาะสม จะไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไปไกลกว่านั้น เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทที่รวมกันแล้วมีอำนาจเหนือกว่าตลาด ผลกระทบเป็นอย่างไร เราจะต้องเดินหน้ายังไง จะดูแลในเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นคำถามที่สำคัญในเชิงสังคม

 

 

การเลกเชอร์ยาวๆ อาจไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของการศึกษา

ส่วนในแง่ของผู้เรียน การเลกเชอร์ยาวๆ อาจไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของการศึกษาอีกต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องดูก่อนว่าเนื้อหาที่จะสอนคืออะไร แล้วค่อยย้อนกลับมาคิดว่าวิธีการที่จะไปถึงผลสัมฤทธิ์นั้นทำอย่างไร การที่สอนโดยเลกเชอร์ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพียงแค่ต้องหันมามองว่ามีวิธีการอื่นอีกไหมที่มาเสริมได้ นี่คือประเด็นแรก

 

ประเด็นที่สอง จากระบบที่เป็นอยู่ เวลาลงทะเบียนสามหน่วยกิต ก็มีการกำหนดขึ้นมาว่า ต้องมีการเรียนการสอนอย่างน้อย 45 ชั่วโมง ก็คือในหนึ่งเทอมเกิน 15 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง จำเป็นจริงหรือเปล่า 

 

 

แต่ถ้าเกิดไม่สอนครบตามนั้นก็ไม่ได้ ระบบไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการ เราจะวัดว่า คุณจะทำตามกระบวนการทั้งหมด หรือคุณจะไปโฟกัสที่ผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงว่า คนที่เรียนสามารถทำงานได้สิ่งๆ ซึ่ง รศ.ดร.รุธิร์ ให้ความสำคัญกับอย่างหลังมากกว่า 

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือเราอยู่ในยุคการเรียนแบบฟาสต์ฟู้ด ต้องเรียนหลายวิชา สมัยก่อนเน้นบรรยายอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้อาจารย์ต้องให้ผู้เรียนลงมือทำจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ ส่วนอาจารย์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวก”

 

ต้องลดช่องว่างระหว่างการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยและโลกธุรกิจ 

ดังนั้นสิ่งที่ Thammasat Business School ต้องเร่งทำในวันนี้ คือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้สอดรับกับพลวัตของเทคโนโลยี และโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ตรง ด้วยการพัฒนาห้องเรียนและพื้นที่การทำงานร่วม (Co-working Space)

 

 

เช่น จัดพื้นที่สำหหรับส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน การทำงานเป็นทีม และการเปลี่ยนเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ทางธุรกิจระหว่างนักศึกษาทั้งในระดับ ปริญญาตรี โท และเอก รวมไปถึงคณาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ประกอบการ

 

สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบของออนไลน์ วิดีโอคลิป สำหรับให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ เนื้อหาส่วนที่เป็นพื้นฐานก่อนที่จะเข้าชั้นเรียนแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งและระยะเวลา เพื่อให้การศึกษาในชั้นเรียนเป็นรูปแบบของการต่อยอดความรู้ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ 

 

รวมไปถึงตั้งศูนย์พัฒนา Entrepreneur และ Startup โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการตื่นตัว และการเรียนรู้ที่เท่าทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เป็นต้น 

 

 

“วันข้างหน้าเราต้องลดช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยและโลกธุรกิจ ถ้าเกิดไม่ลด ต่างคนต่างไปก็จะไม่ตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน คณะเองก็ต้องการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติ ขณะภาคปฏิบัติก็มีความจำเป็นต้องเรียนรู้จากภาคทฤษฎีที่มาจากคณะด้วย ในอดีตเราสอนอย่างเดียวมันมีช่องว่างเกิดขึ้น พอมีงานวิจัยเราได้มีปฏิสัมพันธ์กับภาคเอกชน องค์ความรู้ก็จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” 

 

นี่คือสิ่งที่ รศ.ดร.รุธิร์ อยากจะเห็นในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 3 ปีข้างหน้า 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising