×

เปย์ไม่อั้น-สัญญายาว เปิดกลยุทธ์การ Disrupt ตลาดนักเตะของเชลซี ที่แฟนทีมอื่นได้แต่ตาร้อน

02.02.2023
  • LOADING...

ย้อนกลับไปในช่วงของตลาดการซื้อ-ขายผู้เล่นที่ผ่านมา หนึ่งในคำถามที่คนในวงการฟุตบอลอยากรู้คำตอบคือ ทำไมเชลซีถึงสามารถใช้เงินไปมากกว่า 300 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อตัวผู้เล่นเข้ามาเสริมทีมได้มากมายถึง 8 คนในรอบตลาดเดียว และใช้เงินมากกว่าทุกสโมสรของลีกระดับ ‘Big Five’ แห่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นบุนเดสลีกา, เซเรียอา, ลาลีกา และลีกเอิง ใช้รวมกัน

 

เอาล่ะ เรื่องสถานะทางการเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องคือมันไม่ผิดกฎ Financial Fair Play เหรอ?

 

สิ่งที่เราพอจะบอกได้คือ แผนการเสริมทัพของเชลซี ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาว แต่รวมถึงตลาดการซื้อ-ขายในรอบฤดูร้อนด้วยที่มีการซื้อผู้เล่นเข้ามามากมายถึง 16 คน และใช้งบประมาณมากกว่า 500 ล้านปอนด์ ‘ยังไม่มีการกระทำผิด’ ในกฎการเงินแต่อย่างใด

 

แต่มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าการ Disrupt วงการตลาดนักเตะได้หรือไม่? 

 

ก่อนอื่นอย่างแรกสุด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเรื่องการปรับทัพเสริมทีมของเชลซีในช่วง 2 รอบตลาดการซื้อ-ขายที่ผ่านมานั้น แม้จะเหมือนกับการซื้ออย่างบ้าคลั่งที่ชวนให้คิดถึงในวันที่ โรมัน อบราโมวิช อดีตเจ้าของสโมสรชาวรัสเซีย เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรในปี 2003 และทุ่มเงินมหาศาลในช่วงแรก เพื่อดึงดูดนักฟุตบอลระดับท็อปเข้ามาอย่างมากมายในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่สำหรับ ทอดด์ โบห์ลี และ เคลียร์เลก แคปิตอล มันผ่านกระบวนการวางแผนมาอย่างละเอียด

 

โดยเฉพาะในเรื่องของกฎ Financial Fair Play (FFP) ซึ่งพวกเขาเป็นหนึ่งในสโมสรที่ถูกจับตามองจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) (มาโดยตลอด) เกี่ยวกับเรื่องของการใช้จ่ายเงินที่อาจละเมิดต่อกฎได้ แต่โบห์ลีและทีมงานฝ่ายการเงินและกฎหมายได้ศึกษากฎ FFP มาอย่างละเอียด

 

ในการศึกษานั้นทำให้พวกเขาค้นพบจุดอ่อนที่สำคัญคือ การที่มันสามารถใช้เทคนิคทางการบัญชีเพื่อ ‘เกลี่ย’ ตัวเลขรายจ่ายได้ 

 

พูดง่ายๆ คือ เชลซีสามารถเกลี่ยเงินค่าตัวของนักฟุตบอลที่ไม่ว่าจะแพงเท่าไรให้เป็นเหมือนการ ‘ผ่อนจ่าย’ ในระยะยาว โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การ ‘ยืดระยะเวลาการจ่าย’ ออกไปให้นานที่สุด ซึ่งเราได้เริ่มเห็นสัญญาณนี้จากการเซ็นสัญญากับ มิไคโล มูดริก สตาร์กองหน้าชาวยูเครนที่ย้ายมาด้วยค่าตัว 89 ล้านปอนด์ ในสัญญาระยะเวลา 8 ปีครึ่ง เช่นเดียวกับ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ มิดฟิลด์แชมป์โลกทีมชาติอาร์เจนตินาที่ย้ายมาจากเบนฟิกาด้วยค่าตัว 105 ล้านปอนด์ ก็เซ็นสัญญาในระยะเวลาเท่ากัน

 

ทั้งสองจะเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ ในบัญชีของเชลซีที่รายงานต่อ UEFA ราวปีละ 10 ล้านปอนด์ด้วยกัน

 

 

เทคนิคทางการแต่งบัญชีแบบนี้ไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องใหม่ของวงการ ไม่ถึงกับเป็นการ Reinvent อะไร พราะเป็นเรื่องปกติที่สโมสรแต่ละแห่งจะทำแบบนี้ (เหมือนเช่น ลิเวอร์พูลซื้อ ดิโอโก โชตา มาร่วมทีมในปี 2020 ทั้งๆ ที่เริ่มมีโควิด ด้วยการจ่ายเงินก้อนแรกน้อยที่สุด) เพียงแต่สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและอาจจะถือเป็นการ Disrupt ได้จริงๆ คือการขยายระยะเวลาในสัญญาให้ยาวที่สุด

 

ในปัจจุบันสโมสรฟุตบอลจะมีความระมัดระวังในเรื่องของมูลค่าและระยะเวลาในสัญญาของนักฟุตบอลอย่างมาก แทบจะมีการ Personalisation สัญญาของนักฟุตบอลแต่ละคนให้ตอบโจทย์ที่สุด เช่น บางคนอาจต้องการสัญญาระยะยาว 4-5 ปีในค่าเหนื่อยพอประมาณ แต่กับบางคนอาจต้องการสัญญาระยะยาวและได้ค่าตอบแทนสูง

 

อีกทั้งสโมสรจะพยายามเลี่ยงการเซ็นสัญญาระยะเวลายาวนาน เพราะยิ่งสัญญานานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ลองจินตนาการว่าหากนักเตะที่ซื้อมาไม่ได้เรื่อง เล่นไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย แต่มีสัญญาระยะเวลายาวนาน ซึ่งหมายถึง ‘ภาระผูกพัน’ ที่สโมสรต้องรับผิดชอบโดยไม่เต็มใจ

 

เรื่องนี้เชลซีพยายามแก้ลำด้วยการจ่ายเงินค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลเหล่านี้ไม่สูงเกินไปนัก อย่างในรายของมูดริกอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 แสนปอนด์ ไม่ถึงกับเป็นภาระทางบัญชีของสโมสรมากนักเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีเหล่าสตาร์ค่าเหนื่อยมหาศาลมากมาย

 

อย่างไรก็ดี หลังจากเห็นเชลซีใช้ช่องโหว่ของกฎ FFP แบบนี้ ด้าน UEFA ก็จัดการอุดรูรั่วทันทีด้วยการตัดสินใจว่านับตั้งแต่ตลาดการซื้อ-ขายในรอบฤดูร้อนของปี 2023 ที่จะเริ่มในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ถึงสโมสรจะสามารถเสนอสัญญาระยะยาวให้แก่นักฟุตบอลได้ แต่ในเรื่องของการชำระเงินค่าตัวให้แก่สโมสรคู่ค้าจะแบ่งได้ไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น

 

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเชลซีแล้ว อย่างน้อยพวกเขาได้นักเตะ ‘แห่งอนาคต’ ในจำนวนที่แทบจะตั้งทีมได้เลยทีเดียว สิ่งที่เหลือหลังจากนี้คือเรื่องของการพยายามควบคุมเรื่องตัวเลขการขาดทุนในบัญชีที่ห้ามเกินไปกว่าที่ FFP ตั้งไว้

 

โดยตามกฎ FFP ของพรีเมียร์ลีก สโมสรสามารถขาดทุนสะสมได้ 105 ล้านปอนด์ภายในระยะเวลา 3 ปี ในขณะที่กฎ FFP ของ UEFA สโมสรสามารถขาดทุนได้ 53 ล้านปอนด์ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทอดด์ โบห์ลี และทีม เชื่อว่าพวกเขาสามารถบริหารจัดการได้

 

กระบวนการ ‘ถอนทุนคืน’ ได้เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้วด้วยการขาย จอร์จินโญ ออกไปให้กับอาร์เซนอลได้ 12 ล้านปอนด์ ซึ่งดีกว่าการยอมเสียนักเตะไปแบบฟรีๆ หลังสิ้นสุดฤดูกาลเมื่อสัญญาหมดลง และมีคิวนักเตะที่จะโดนโละออกจากทีมอีกไม่ว่าจะเป็น ฮาคิม ซิเยค (ซึ่งดีลการย้ายไปเปแอสเชล่มอย่างน่ากังขา…), ราฮีม สเตอร์ลิง, คริสเตียน พูลิซิช, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย คนใดคนหนึ่ง รวมถึง โรเมลู ลูกากู ที่ยังมีสัญญากับสโมสรที่อาจจะมีโอกาสย้ายทีมในช่วงซัมเมอร์นี้ และในกลุ่มกองหน้าอย่าง อาร์มันโด โบรยา, ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง และ ไค ฮาเวิร์ตซ์ ที่อาจมีการผ่องถ่ายเพื่อหาทุนคืนกลับมา

 

เรียกว่าทั้งหมดเป็นแผนของโบห์ลี (ซึ่งถอยจากบทผู้อำนวยการสโมสรชั่วคราวแล้ว) และทีม Recruitment ที่มองภาพอนาคตเอาไว้ โดยในวงการฟุตบอลอังกฤษนั้นพบว่าเจ้าของทีมเบสบอลแอลเอ ด็อดเจอร์ส เป็นคนที่เก่งจนน่าประทับใจ ไม่ใช่ตาแก่ไร้ความคิดหน้ามืดไปวันๆ แต่อย่างใด

 

สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือ งานหนักของ เกรแฮม พอตเตอร์ ในฐานะผู้จัดการทีม ที่อยู่ๆ ก็ได้นักเตะชุดใหม่มามากมาย (จริงอยู่ที่บางรายอาจจะยังไม่ได้มาร่วมทีมตอนนี้ เช่น คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู หรือ มาโล กุสโต แบ็กขวาที่ถูกส่งตัวกลับไปให้ลียง สโมสรเก่า ยืมใช้งานไปจนจบฤดูกาล) ที่จะต้องพยายามพาทีมกลับมาทำผลงานที่ดีให้ได้อีกครั้ง

 

เรื่องการสร้างทีมฟุตบอลที่เป็นทีมจริงๆ อาจจะยากกว่าเรื่องการตัดสินใจของโบห์ลีว่าอยากได้ใคร ไม่อยากได้ใคร แต่นั่นก็ไม่ใช่งานของโบห์ลีแล้วเหมือนกัน เมื่อเขาก็พยายามทำในส่วนของเขาอย่างดีที่สุดแล้ว

 

ในการลุยตลาดที่จะถูกบันทึกเอาไว้เล่าได้อีกยาวนานถึงการช้อปปิ้งที่โคตรมันและชั้นเชิงในการหาช่องโหว่ของ FFP ที่ต่อให้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีการคิดกัน ก็ไม่เคยมีใครกล้าทำแบบนี้มาก่อน

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising