×

เมื่อ ‘กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์’ ขยับสู่ดิจิทัล จับตาการปรับตัวครั้งใหญ่ของธนาคารไทยยุค 4.0

21.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปี 2560 เป็นปีที่ธนาคารไทยปรับตัวตามกระแส Digital Banking และนโยบายการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของรัฐบาลอย่างคึกคัก
  • กสิกรไทย เปิดตัวแอปฯ K PLUS SHOP รองรับการรับ-โอนเงินด้วย QR Code เจาะกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มที่มียอดการรับโอนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
  • ไทยพาณิชย์ เผยโฉมใหม่ของแอปฯ SCB EASY เน้นจุดยืน Lifestyle Banking ที่เป็นมากกว่า Mobile Banking มุ่งตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล รองรับการชำระเงินตั้งแต่ร้านอาหาร จองตั๋ว บริจาคเงิน เรียกเก็บเงินปลายทาง พร้อมบริการจ่ายเงินให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมพร้อมเพย์ผ่าน QR Scan Payment

     นักท่องเที่ยวจีนออกท่องโลกพร้อมกับมือถือที่รองรับการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่

     ราคาสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 4,000 เหรียญสหรัฐ

     ธนาคารกลางในสิงคโปร์ ผนึกกำลังกับตลาดหลักทรัพย์ และ 8 ธนาคารชั้นนำ ทดลองโปรเจกต์นำร่อง ใช้บล็อกเชนในระบบการชำระเงินข้ามธนาคาร

     ประชาชนส่วนใหญ่ในเบลเยียม ฝรั่งเศส และแคนาดา แทบจะไม่ใช้เงินสดกันเลย

     นี่คือภาพรวมกว้างๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าภูมิทัศน์ของโลกการเงินกำลังเปลี่ยนไปทุกวินาทีด้วยพลังของเทคโนโลยี

     ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ช่วงต้นปี ธนาคารพาณิชย์ทยอยปิดสาขาไป 36 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง สวนทางกับกระแสธุรกิจฟินเทคที่มาแรงและลดบทบาทความสำคัญของตัวกลางอย่างธนาคารลงไปทีละน้อย ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ปิดสาขามากที่สุด 17 แห่ง รองลงมาคือ ธนาคารธนชาต 16 แห่ง ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย อย่างละ 3 แห่ง

     การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าธนาคารยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เราจึงได้เห็นธนาคารทุกสีแข่งกันปรับตัวอย่างดุเดือดในปีนี้ เช่น ลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ จัดตั้งกองทุนหนุนสตาร์ทอัพ แม้แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังเคยแถลงว่า ฟินเทคจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ สู่ระบบเศรษฐกิจไทย (อ่านต่อได้ที่นี่)

     วันที่ 21 ส.ค. สองธนาคารชั้นนำของไทยเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่พร้อมกัน กสิกรไทย เปิดตัวแอปฯ K PLUS SHOP บริการชำระเงินบนมือถือด้วย QR Code สำหรับกลุ่มร้านค้า ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยโฉมใหม่ของแอปฯ SCB EASY ที่มีฟีเจอร์เด็ดๆ อย่าง Cardless ATM ให้ผู้ใช้นำรหัสพินไปเบิกถอนเงินสดได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งบัตรเดบิต/เอทีเอ็มอีกต่อไป พร้อมมุ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล

     นอกจากจะเปิดศึกช่วงชิงพื้นที่สื่อกันอย่างเข้มข้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับตัวของสองเจ้านี้บอกให้เรารู้ว่า อนาคตใหม่อยู่ใกล้กว่าที่คิด

Photo: www.kasikornbank.com

 

KBANK ตอกย้ำเบอร์หนึ่งของ Digital Banking ผุดแอปฯ ใหม่ เจาะกลุ่มร้านค้ารายย่อย-ใหญ่

     กสิกรไทย ถือเป็นธนาคารแรกในไทยที่บุกเบิกพัฒนา Mobile Banking ให้คนไทยได้ใช้บริการโอน-ชำระเงิน และทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแอปฯ K-Mobile Banking Plus จนคุ้นเคยกับการใช้บริการ ‘ธนาคารบนมือถือ’ กันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ล่าสุด กสิกรไทยได้นำเทคโนโลยี QR Code มาต่อยอดในระบบการชำระเงินผ่านแอปฯ ใหม่ K PLUS SHOP หวังช่วยเพิ่มโอกาสให้ร้านค้าขายคล่อง คนซื้อจ่ายสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน โดยมุ่งเจาะกลุ่มร้านค้าขนาดย่อม 3 กลุ่มที่มียอดการรับโอนเงินไม่เกิน 50,000 บาท คือ

  1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
  2. ร้านสินค้าแฟชั่น
  3. การเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

     ที่น่าสนใจคือ ทางกสิกรไทยจะประเดิมใช้ก่อนในพื้นที่ 3 โซนหลัก คือ สยามสแควร์ จตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ กว่า 10,000 จุด ซึ่งล้วนเป็นย่านการค้าสุดคึกคักและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนจะขยายทั่วประเทศในสิ้นปีนี้ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้ารับชำระกว่า 200,000 ร้านค้า และมูลค่าธุรกรรมปีนี้อยู่ที่ 800 ล้านบาท

     นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้เราจะสามารถซื้อของตามร้านขายของชำ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านค้าขนาดใหญ่ หรือเรียกวินมอเตอร์ไซค์โดยไม่ต้องพกเงินสดสักบาท แถมยังตัดปัญหากรณีลืมพกหรือทำกระเป๋าสตางค์หายไปได้อีกด้วย!

     นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า K PLUS SHOP เป็นแอปฯ แรกที่รองรับการจ่ายเงินด้วย QR Code มีจุดเด่นคือ ขั้นตอนการใช้งานที่ง่ายและสะดวกสำหรับคนขายและคนซื้อ โดยใช้บัญชีของธนาคารในการสมัครเท่านั้น ไม่มีค่าธรรมเนียมการสมัคร หรือรับชำระเงินผ่าน K PLUS SHOP แต่อย่างใด

  • ฝ่ายคนขาย: ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการเงินสด เช่น ไม่มีเงินทอนให้กับลูกค้า เงินเข้าบัญชีได้ทันที พร้อมมีการแจ้งยอดรายการ โดยสรุปยอดขายได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน
  • ฝ่ายลูกค้า: ยิง QR Code เพื่อชำระเงินได้ทันที ตามสโลแกน ‘ยิงปิ๊บ จ่ายปั๊บ’ แถมจะใช้ Mobile Banking ของเจ้าไหน สแกน QR Code ก็ได้  

     นอกจากนี้ยังเผยว่า ในอนาคตจะรองรับการชำระเงินด้วย QR Code ผ่าน Alipay และ WeChat ของนักท่องเที่ยวจีน และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล

     “K PLUS SHOP จะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการขายสินค้าและบริการให้กับร้านค้าขนาดย่อม เนื่องจากการเติบโตของ Mobile Banking และผู้บริโภคมีแนวโน้มทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขผู้ใช้งาน Mobile Banking ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปี 2559 ที่เติบโตขึ้น 50% และแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้นำตลาด Mobile Banking มีจำนวนผู้ใช้กว่า 6 ล้านราย ในขณะที่กลุ่มเจ้าของร้านค้าขนาดย่อมจะมองหาบริการทางการเงินที่คล่องตัว เชื่อมโยงการรับจ่ายเงินแบบไม่มีสะดุด (Seamless Experience of Mobile Wallet) และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ใน ‘ทันที’ (now)” นายพัชรกล่าว

     การตัดสินใจกระโดดลงสู่สนามการรับ-จ่ายเงินผ่าน QR Code ของแบงก์สีเขียวจึงเข้ากับกระแสนักท่องเที่ยวจีน และการเตรียมประกาศใช้ QR Code ของธนาคารแห่งประเทศไทยพอดี สะท้อนให้เห็นว่ากสิกรไทยปรับตัวตามเทรนด์อย่างรวดเร็วมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการพัฒนาแอปฯ Mobile Banking หรือนำบล็อกเชนเข้ามาใช้กับหนังสือค้ำประกัน

     นับว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อยที่เราจะได้ลองใช้บริการเหล่านี้กับร้านค้ารายเล็กรายน้อยในชีวิตประจำวัน และเข้าใกล้ความเป็นสังคมไร้เงินสดไปอีกก้าว

     เรียกได้ว่าใครเห็นตลาด เห็นความต้องการก่อน และลงมือทำก่อน ก็มีสิทธิ์คว้าโอกาสได้ก่อน

 

Photo: mzstatic.com

 

SCB ผุดแอปฯ โฉมใหม่ SCB EASY ยกระดับ Mobile Banking สู่ Lifestyle Banking

     ในวันเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดตัวโฉมใหม่ของแอปพลิเคชัน SCB EASY ที่ไม่ใช่แค่ Mobile Banking อีกต่อไป แต่เป็น Lifestyle Banking เพื่อมุ่งตอบโจทย์และเข้าถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้ายุคดิจิทัลเต็มที่ โดยมีจุดเด่นและฟีเจอร์เด็ด ดังต่อไปนี้

     1. User Interface โฉมใหม่ สวย น่าใช้

     จุดนี้ถือว่า SCB ทำได้ดี เพราะฉีกแนวแอปฯ การเงินเดิมๆ ด้วยสีสันและลูกเล่น เช่น การออกแบบที่เอื้อให้ใช้งานง่าย เพิ่มการจัดหมวดหมู่เมนูกลุ่มเพื่อนและครอบครัว ทำให้เราทำธุรกรรมกับบัญชีปลายทางที่โอนหาบ่อยๆ โดยไม่ต้องเสียเวลา นับว่าตอบโจทย์การจัดการเรื่องการเงินแบบ Customization

     2. ฟังก์ชัน Cardless ATM ที่สามารถใช้แทนบัตรเดบิต/เอทีเอ็มได้เลย เพียงแค่ทำรายการบนแอปฯ รับรหัสพิน 6 หลัก และนำรหัสไปเบิกถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม แถมยังส่งรหัสพินให้คนอื่นในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนได้ด้วย

      3. ระบบรักษาความปลอดภัย Easy App Protection คุ้มครองความเสียหายวงเงินสูงสุด 1 แสนบาท ครอบคลุมตั้งแต่กรณีโทรศัพท์หาย/ถูกขโมย, บัตร/เอกสารสำคัญส่วนตัวถูกขโมย, มือถือถูกแฮก และถูกไวรัส/โปรแกรมขโมยข้อมูลเล่นงาน พร้อมย้ำว่าระบบจะเร็วและไม่ล่มแน่นอน

      4. จับมือกับร้านค้าแบรนด์ดัง มอบสิทธิพิเศษและส่วนลดเมื่อลูกค้าทำรายการ เช่น มิสเตอร์โดนัท, เครือเมเจอร์ฯ, อีจีวี และเอสเอฟ

     นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หมวด Dining ที่จับมือกับ Wongnai อัพเดตข่าวเกี่ยวกับเทรนด์ร้านอาหารที่น่าสนใจ พร้อมดีลส่วนลด, Request Money บริการเรียกเก็บหรือทวงเงินปลายทาง ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาทวงหนี้ให้ง่ายขึ้น, ระบบ QR Scan Payment ที่รองรับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าที่สมัครบริการพร้อมเพย์ ซึ่งนับว่าสอดรับกับนโยบายการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของรัฐบาลเช่นกัน

     ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทางธนาคารไม่ได้ทำแค่แอปฯ แต่เป็น ‘แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี’

     “จริงๆ เราเป็นแบงก์ที่พารานอยด์กันมาก เรากลัวที่จะ extinct (สูญพันธ์)”

     ธนาอธิบายว่า ปัจจุบันเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วและกลายเป็น new normal ถือเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าการสูญพันธุ์ของธนาคารมาก

     การปรับใช้เทคโนโลยี (Technology Adoption) ในสมัยก่อน สื่อเก่าอย่างโทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์ ใช้เวลา 20 กว่าปีกว่าจะเข้าถึงแมส ขณะที่ยุครุ่งเรืองของพีซีและมือถือกลับใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ Mobile Banking มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากหลักแสนมาเป็น 20 ล้านคนโดยใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่ธนาคารกลับปรับตัวไม่ทันต่อความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปเร็ว

     “เทคโนโลยีคือแพลตฟอร์ม แต่เราต้องสะท้อนเทคโนโลยีให้เป็น experience (ประสบการณ์) ให้ได้ ประสบการณ์ของลูกค้ามันต้องดีขึ้น ต้องรู้สึกได้”

     ธนาชี้ว่า ‘Banking is boring’ หรือการไปธนาคารเป็นเรื่องแสนน่าเบื่อ แล้วตั้งคำถามต่อว่ามันจะสนุกขึ้นได้ไหม จึงออกแบบให้ SCB EASY เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ใช้ และยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลาย ไม่ว่าจะฟังเพลง รับประทานอาหาร บริจาคเงิน หรือจองตั๋วหนังก็ตาม ซึ่งสามารถทำได้บนแอปฯ เดียวจบ

     แม้ว่าที่ผ่านมา SCB จะไม่ได้ออกตัวว่าเป็นผู้นำการพัฒนาแอปพลิเคชัน Mobile Banking รายแรก แต่การเปิดตัวโฉมใหม่ของแอปพลิเคชันนี้ก็สะท้อนจุดยืนที่น่าสนใจของธนาคารที่พยายามปรับตัวตามกระแสโลก โดยไม่ลืมที่จะมอบ ‘ประสบการณ์ที่ดี’ และเข้าไปอยู่ใน ‘การใช้ชีวิต’ ของลูกค้าอีกด้วย

 

     เรื่องความพึงพอใจของบริการ เราขอยกให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ตัดสิน แต่ต้องยอมรับว่าการขยับตัวของธนาคารทั้งสองรายนี้ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นที่จะมีทางเลือกใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้เราจัดการการเงิน การใช้จ่าย และทำธุรกรรมอื่นๆ ได้ทันใจสักที

 

Photo: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising