×

เสียหายแค่ไหน? ถ้าธนาคารไทยไม่เร่งปรับตัวสู่ ‘ฟินเทค’

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ฟินเทคจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการเงินในทุกมิติ และจะช่วยยกระดับภาคการเงินไทยให้พร้อมรับมือกับความผันผวนในอนาคต
  • ธนาคารจะลดบทบาทการเป็นตัวกลางและลดต้นทุนการบริหารจัดการ เพราะคนทำธุรกรรมได้บนสมาร์ตโฟน การลงทุนระหว่างประเทศจะไร้พรมแดน ขณะที่บล็อกเชนจะเข้ามาตัดปัญหาระบบทะเบียนกลางที่ซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้ตรวจสอบและลดความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น

     ถ้าปี 2016 เป็นปีที่รัฐออกโรงหนุนสตาร์ทอัพไทยอย่างเด่นชัด จากการจัดงาน Startup Thailand อย่างใหญ่โต และยกให้เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

     เป้าหมายถัดไปคงต้องยกให้กับนวัตกรรมทางการเงิน หรือ ‘ฟินเทค’ (FinTech) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการเงินไทย

     สาเหตุที่ภาครัฐตื่นตัวมากขึ้นอาจเป็นเพราะว่าคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อของและทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ทำให้เกิดธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาด เช่น บริการจ่ายเงินของ Omise และ 2C2P, บริการด้านการลงทุนของ Finnomena และ Jitta, แพลตฟอร์มคลาวด์ฟันดิง เช่น Asiola และ Dreamaker เป็นต้น

     ทางฝั่งธนาคารพาณิชย์เองก็เริ่มแยกตัวออกมาเปิดบริษัทลงทุนและบ่มเพาะสตาร์ทอัพรุ่นใหม่กันอย่างครึกครื้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ

     นอกจากกระแสสกุลเงินดิจิทัล ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) จะมาแรงแล้ว ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือการรุกคืบของ Ant Financial Services ฟินเทคสัญชาติจีนผู้ให้บริการ Alipay เข้ามาในเอเชีย และประกาศจับมือกับ TrueMoney ในปีที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐเล็งเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับตัว

 

     

     จากงานสัมมนา ‘ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0’ หัวข้อ ‘ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้’ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า พร้อมจะดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านฟินเทคในภูมิภาค CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะโตเร็วใน 10 ปีข้างหน้า

     ฟินเทคจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงมิติทางการเงินของไทยอย่างไร ภาครัฐและสถาบันการเงินจะเคลื่อนไหวในด้านใดบ้าง

     THE STANDARD ได้สรุปประเด็นสำคัญมาไว้ให้แล้ว

 

 

รองนายกฯ ย้ำ ถ้าธนาคารไม่ปรับตัวสู่ฟินเทค อนาคตจะลำบาก

     สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในงานสัมมนาว่า โลกปัจจุบันเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดต่าง เพราะธุรกิจใหม่ขับเคลื่อนบนอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับภาคการเงินที่มีประสิทธิภาพ หากภาคธนาคารซึ่งเป็นผู้ควบคุมระบบการเงินในขณะนี้ไม่ปรับตัวสู่ยุคของฟินเทค ก็ต้องเผชิญกับความลำบากในอนาคตอย่างแน่นอน พร้อมชี้ว่าสิงคโปร์ซึ่งเป็นเจ้าแห่งการเงินก็ตบเท้าสู่สังเวียนฟินเทคเช่นกัน

     ทั้งนี้รองนายกฯ แนะว่าต้องเร่งสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทบทวนกฎระเบียบให้เหมาะสม และรองรับนวัตกรรมทางการเงินหรือฟินเทค โดยตั้งเป้าว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของฟินเทคในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ทั้งนี้รัฐบาลเชื่อมั่นว่าอนาคตไทยจะสดใสแน่นอน

 

ธปท. ชี้ ฟินเทคจะกระทบ 5 มิติสำคัญของการเงิน

     กระแสของฟินเทคได้จุดประเด็นตั้งคำถามว่า ‘ธนาคาร’ ยังจำเป็นหรือไม่ ในเมื่อทุกคนสามารถโอนชำระเงินหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ทางออนไลน์ได้ง่ายกว่า เร็วกว่า แล้วธนาคารควรปรับตัวอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงนี้

     วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ฟินเทคจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุค 4.0 และจะเข้ามาเปลี่ยนทั้งหลักคิดและรูปแบบของภาคการเงินใน 5 มิติด้วยกัน

 

     

     1. ลดบทบาทของ ‘ตัวกลาง’

     ฟินเทคกำลังลดบทบาทการเป็น ‘ตัวกลาง’ ของสถาบันทางการเงินลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้บริโภคหันไปใช้บริการใหม่ที่สะดวกรวดเร็วกว่า ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดีกว่า เช่น บริการชำระเงิน บริการคลาวด์ฟันดิง แพลตฟอร์มลงทุนกู้ยืมแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer) ที่จับคู่คนที่มีเงินออมกับคนที่ต้องการเงินทุนเข้าด้วยกัน คนที่มีเงินออมเกินก็สามารถนำไปปล่อยกู้ในโครงการต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

 

     2. บล็อกเชนเขย่าโลกการเงิน แทนที่ระบบทะเบียนกลาง

     ระบบบัญชีแบบกระจายตัว (Distributed Ledger Technology: DLT) จะช่วยให้เราไม่ต้องตรวจเช็กความถูกต้องจากศูนย์ข้อมูลกลางหรือทะเบียนกลาง เพราะชุดข้อมูลธุรกรรมจะถูกกระจายไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้พร้อมกันทันที ซึ่งบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งของ DLT ด้วยวิธีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความโปร่งใส ลดขั้นตอนเดิมที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน

 

     3. ธุรกรรมบนสมาร์ตโฟนจะสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น

     สมาร์ตโฟนในมือของเราวันนี้ไม่ต่างอะไรจากอวัยวะหนึ่งของร่างกาย แถมยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่าย และจะดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามารองรับ เช่น ไบโอเมตริกส์ (Biometrics) ที่ให้ผู้ใช้พิสูจน์ตัวตนด้วยข้อมูลทางชีวภาพ ประสบการณ์การซื้อของออนไลน์จะลื่นไหลขึ้น ในอนาคตเราอาจใช้บริการผ่านสาขาธนาคารกันน้อยลง ขณะที่ธนาคารเองก็จะได้ลดต้นทุนจากการตั้งสาขาธนาคาร และให้บริการผ่านสมาร์ตโฟนแทน

 

     4. ก้าวสู่ยุคการลงทุนไร้พรมแดน

     ฟินเทคจะเชื่อมโยงตลาดเงินและตลาดทุนเข้าด้วยกัน และทำให้พรมแดนภาคการเงินระหว่างประเทศพร่าเลือน อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินของแต่ละประเทศอาจผันผวนได้ง่ายกว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง ผู้คนจะสามารถลงทุนและระดมทุนระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะมีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพขึ้นมาก

 

     5. Big Data คือองค์ประกอบสำคัญ

     การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะก่อให้เกิด digital footprint ในทุกมิติของการใช้ชีวิต ภาคธนาคารสามารถรวบรวมข้อมูลทางธุรกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น บริหารความเสี่ยง วางแผนทางการเงิน และสร้างนวัตกรรมทางการเงิน

 

 

ฟินเทคกับอนาคตของประเทศไทย

     วันนี้โลกของเรากำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านจากความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) หรือโลกแห่ง VUCA

     แล้วฟินเทคจะตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศไทยในภาวะดังกล่าวได้อย่างไร

     วิรไท สันติประภพ กล่าวว่า ภาคการเงินจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาคการเงินจะต้องมีบทบาทสำคัญ ดังนี้

 

     1. เพิ่มผลิตภาพ (Productivity)

     เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนของสถาบันการเงินโดยรวม เช่น ต้นทุนเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ ต้นทุนการซื้อสินทรัพย์ถาวร และต้นทุนการบริการเงินสด ซึ่งการบริการฝากถอนที่ธนาคารนั้นมีต้นทุน 60-80 บาทต่อรายการ

 

     2. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความผันผวน ไม่แน่นอน

     ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัล โดยนำฐานข้อมูล Big Data เข้ามาช่วยยกระดับการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่การกระจายความเสี่ยงด้านเครดิตและการตลาด ลดความผิดพลาดที่เกิดการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ ตลอดจนช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญ เทคโนโลยีไบโอเมตริกส์และบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยตรวจสอบการทุจริต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐและเอกชนอีกด้วย

 

     3. กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

     ปัจจุบันยังมีคนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินถึงร้อยละ 20 ของประชากร การนำฟินเทคเข้ามาจะช่วยตอบโจทย์ทางด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ง่าย เช่น สินเชื่อ การโอนชำระเงิน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบรายย่อยมีโอกาสทำธุรกิจมากขึ้น ภาครัฐสามารถช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีได้อย่างเหมาะสม


     ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงิน รวมทั้งปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้อง

 

 

     ในประเด็นของ Cybersecurity หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่าเป็น 1 ใน 10 ความเสี่ยงอันดับแรกของโลกที่ต้องเฝ้าระวัง ตามรายงานจาก The World Economic Forum ทั้งนี้ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่าจะยกระดับด้าน Cybersecurity เพื่อรับรองความปลอดภัยของการใช้ Digital Banking โดยร่วมมือกับกสทช. แต่ยังไม่เปิดเผยว่าร่วมมือกับประเทศใดบ้าง พร้อมย้ำว่า Financial Technology Literacy หรือความรู้ด้านเทคโนโลยีการเงินเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ส่วนในเรื่องบิตคอยน์นั้นเล็งเห็นแนวโน้มของโลกและกำลังศึกษา แต่กฎหมายไทยในปัจจุบันยังไม่รองรับมาชำระสินค้า เนื่องจากไม่มีผู้กำกับดูแลโดยตรง อีกทั้งยังมีความผันผวนสูง

     นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐและภาคธนาคารตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่โจทย์สำคัญที่รัฐต้องลงมือปฏิบัติได้แล้วคือ ศึกษา ปรับกฎหมายพื้นฐานให้ยืดหยุ่น และเอื้อให้ฟินเทครายเล็ก-ใหญ่สามารถดำเนินกิจการและแข่งขันกันอย่างอิสระมากขึ้นด้วย พร้อมกับให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศ แทนที่จะลงมาแข่งกับเอกชนเสียเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเช่นกัน

     ถ้าทำได้ อนาคตของการเงินไทยก็น่าจะมีหวังอยู่ทีเดียว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising