×

เครื่องดีเซลสาเหตุหลัก PM2.5 คุมเข้มรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ เป็นเวลา กทม. ยันล้างถนนช่วยได้ คาดมีนาคมดีขึ้น

14.01.2019
  • LOADING...

กรุงเทพฯ ได้ถูกโลกออนไลน์เปลี่ยนสมญานามจาก ‘สยามเมืองยิ้ม’ เป็น ‘สยามเมืองฝุ่น’ จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเป็นคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์

 

 

วันนี้ (14 ม.ค.) คำสั่งตรงจากนายกรัฐมนตรีลงมาที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้เร่งประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขชี้แจงโดยด่วน จากกำหนดเดิมที่นัดประชุมกันพรุ่งนี้ก็ถูกเลื่อนมาเป็นช่วงบ่ายวันนี้

 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ถึง 13 มกราคม 2562 พบว่า ช่วงก่อนปีใหม่ (19-26 ธันวาคม 2561) พื้นที่ กทม. มีแนวโน้มปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูง เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งทำให้มลพิษทางอากาศสะสมตัวมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเห็นเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน

 

ขณะที่ช่วงปีใหม่ (29 ธันวาคม 2561 ถึง 4 มกราคม 2562) ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะประชาชนส่วนมากเดินทางไปต่างจังหวัด ทำให้ปริมาณรถยนต์ในกรุงเทพฯ ลดลง

 

ช่วงหลังปีใหม่ คือวันที่ 5-8 และ 11-13 มกราคม 2562 ปริมาณฝุ่นละอองใน กทม. มีแนวโน้มสูงขึ้นจากมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมและมีหมอกในตอนเช้า

 

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า สาเหตุหลัก 50-60% มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล รองลงมาคือจากการเผาในที่โล่ง ประมาณ 35% ส่วนอีก 5-10% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการลอยของฝุ่นเข้ามาจากพื้นที่อื่น

 

 

กทม. คุมเข้มรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ เป็นเวลา

จากสาเหตุดังกล่าว ที่ประชุมได้สั่งให้ดำเนินการ โดย กทม. ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ได้ทำการตรวจวัดควันดำ ถ้าเกินมาตรฐานให้หยุดใช้รถและตรวจสภาพรถภายใน 1 เดือน

 

ส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่จะเข้มงวดให้เข้าเขตกรุงเทพฯ เป็นเวลา โดยกำหนด 2 ช่วงเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเด็ดขาดคือ 05.00-09.00 น. และหลัง 15.00-21.00 น. ห้ามเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นในทั้งหมด นับตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษกเข้ามาในเขตชั้นในทั้งหมด แต่จะใช้วิธีทำความเข้าใจชี้แจง จะไม่มีการจับ-ปรับ

 

ขณะที่สาเหตุรองลงมาคือ 35% เกิดจากการเผาในที่โล่งนั้น 5 จังหวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี และนครปฐม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งห้ามเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนมกราคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการก่อสร้างขนส่งสาธารณะ กทม. จะเข้าไปให้มีการควบคุมไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

 

 

ฉีดน้ำล้างถนนเพื่ออะไร ใครๆ ก็ว่าไม่ช่วยลด PM2.5

สำหรับการฉีดน้ำ รวมถึงการล้างถนนของกรุงเทพฯ นั้น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า การฉีดล้างผิวถนนเป็นการช่วยเสริมค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งมีตัวชี้วัดทั้งหมด 6 ตัว โดย PM2.5 และ PM10 รวมอยู่ในนั้น แม้ตอนนี้เรากำลังโฟกัส PM2.5 แต่ก็ไม่ละเลย PM10

 

สำหรับการฉีดน้ำมี 2 ประเด็นคือ รถฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย สามารถฉีดน้ำเป็นฝอยขนาดเล็ก ซึ่งช่วยจับฝุ่น PM2.5 ในอากาศให้ลดได้

 

ส่วนการฉีดด้วยเครื่องฉีดน้ำทั่วไป รวมถึงล้างถนน คือการลด PM10 ซึ่งทำให้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (AQI) ดีขึ้น

 

 

ค่าชี้วัด PM 2.5 ของไทยกับองค์การอนามัยโลก ทำไมจึงต่างกัน?

องค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐาน PM2.5 ไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. แต่ทำไมไทยตั้งไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม.

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกจะตั้งไว้สูงตามตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สูงตามไปด้วย ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย เช่น ที่ยุโรป มาตรฐานรถยนต์คือ ยูโร 6 แต่ของไทยยังมาตรฐานยูโร 3 กับรถบรรทุก ส่วนรถทั่วไปใช้มาตรฐานยูโร 4

 

เราก็พยายามจะขยับเป็นยูโร 5 แต่การจะขยับได้ต้องเข้าใจผู้ประกอบการและความเดือดร้อนของประชาชน เพราะต้องลงทุนมหาศาล เพราะฉะนั้นถ้าเรายังใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 3-4 เราจะไปใช้ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกไม่ได้ แต่มาตรฐานที่กำหนดในไทยเหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างไรก็ตาม ถ้าค่า PM2.5 สูงในระดับวิกฤต เราจะแจ้งผ่านสื่อทุกสื่อให้ประชาชนรับทราบ

 

 

คนไทยจะอยู่กับฝุ่น PM2.5 ไปถึงเมื่อไร?

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า PM2.5 เกิดขึ้นทุกวัน แต่ที่ผ่านมามันสามารถลอยขึ้นไปในอากาศได้ แต่เวลานี้ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนเข้ามาปกคลุมกรุงเทพฯ จึงมีลักษณะเหมือนอยู่โดม แต่ PM2.5 มีความเบามาก พอมีอากาศกดทับเข้ามาจึงไม่สามารถลอยออกไปได้ ดังนั้นจากสภาพอากาศเชื่อว่า หลังต้นเดือนมีนาคม ฝุ่น PM2.5 จะเริ่มลดลง

 

 

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ในอนาคตผู้ประกอบการจะมีการปรับเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้น้ำมัน B20 ซึ่งทำมาจากน้ำมันพืชหรือปาล์ม ซึ่งจะลด PM2.5 ไปไม่ต่ำกว่า 15%

 

อีกทั้งผู้ประกอบการจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดมากขึ้น และต่อไปรถไฟฟ้าทั่ว กทม. จะเสร็จ ส่วน ขสมก. ก็จะปรับเปลี่ยนรถจากรถเก่าเป็นรถเมล์ NGV 489 คัน  ในอนาคตเชื่อว่า PM2.5 จะลดลงไปอัตโนมัติตามการพัฒนาของระบบขนส่ง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising