×

สคฝ. เผย ยอดเงินฝากภายใต้การคุ้มครองปี 64 พุ่งเฉียด 15.6 ล้านล้านบาท โต 4.39% หลังคนแห่ออมเงินเพราะกังวลโควิด

22.03.2022
  • LOADING...
เงินฝาก

สคฝ. เผย ยอดเงินฝากปี 2564 ภายใต้การคุ้มครอง พุ่งเฉียด 15.6 ล้านล้านบาท โต 4.39% หลังคนแห่ออมเงินเพราะกังวลโควิด ยันวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทยังเป็นระดับเหมาะสม แต่พร้อมปรับเปลี่ยนในอนาคต

 

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ยอดเงินฝากภายใต้ความคุ้มครองของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 14.936 ล้านล้านบาท เป็น 15.592 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 6.56 แสนล้านบาท หรือ 4.39% โดยสาเหตุหลักเกิดจากความกังวลของคนไทยที่มีต่อการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่ผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนปรับเพิ่มขึ้นจาก 82.38 ล้านราย เป็น 85.83 ล้านราย เติบโตขึ้น 3.45 ล้านราย หรือ 4.19%

 

อย่างไรก็ดี จำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากที่เพิ่มขึ้นทั้งสองส่วนโดยส่วนใหญ่เป็นเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนกว่า 98% ครอบคลุมสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 34 แห่ง

 

เมื่อถามว่า สคฝ. จะมีการพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ ทรงพลกล่าวว่า โดยปกติ สคฝ. มีการทบทวนความเหมาะสมของวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งหลักการและปัจจัยที่นำมาใช้พิจารณาคือ สัดส่วนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนจะต้องมีไม่น้อยกว่า 90% ประกอบกับอัตรารายได้เฉพาะต่อหัวของประชากรไทย

 

“ปัจจุบันเรามองว่าวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาท ยังเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะคนไทยที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท มีอยู่เพียง 2% แต่ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นวงเงินคุ้มครองก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ โดยปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีเงินอยู่ประมาณ 134,456 ล้านบาท” ทรงพลกล่าว

 

ผอ.สคฝ. ระบุอีกว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงินว่าจะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือปิดกิจการ ในปีนี้ สคฝ. ได้จัดทำแคมเปญสื่อสาร ‘DPA พร้อม’ พร้อมคุ้มครอง พร้อมเข้าถึง พร้อมเคียงข้าง เพื่อตอกย้ำพันธกิจและการเตรียมความพร้อมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 

 

สำหรับความพร้อมด้านแรกคือ พร้อมคุ้มครอง สคฝ. ได้เตรียมความพร้อมของ ‘ระบบ’ ด้วยการวางโครงข่ายระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีการจำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) กระบวนการจ่ายคืน รูปแบบการสื่อสารกับผู้ฝาก รวมถึงการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดในวันที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต 

 

ขณะเดียวกันยังได้เตรียมความพร้อมด้าน ‘คน’ ผ่านการซักซ้อมอยู่เสมอ เพื่อให้ระบบพร้อมใช้งานและคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ก้าวไปให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินและเศรษฐกิจ เสริมทักษะและความรู้ผ่านโปรแกรมแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมบังคับคดี เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนากระบวนการทำงานให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้ดียิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีความพร้อมเรื่อง ‘กองทุนคุ้มครอง’ ด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องเงินที่นำมาใช้คุ้มครองผู้ฝาก ซึ่ง สคฝ. เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองเพื่อสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก 

 

อย่างไรก็ดี อีกส่วนที่มีความสำคัญคือความพร้อมของ ‘ประชาชน’ ซึ่งสามารถทำได้โดยการอัปเดตข้อมูลของตัวผู้ฝากเองให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้กับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากและผูก PromptPay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

ขณะที่ความพร้อมด้านที่สองคือ พร้อมเข้าถึง นอกจากการเตรียมช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิตยุคใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมแต่ละเจเนอเรชันผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว สคฝ. ยังมีข้อมูลความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ข้อมูลอัปเดตสถาบันการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความรู้ด้านการเงินอื่นๆ พร้อมให้ผู้ฝากทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก 

 

ส่วนความพร้อมด้านสุดท้ายคือ พร้อมเคียงข้าง สคฝ. ยืนยันว่า พร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในโลกการเงิน มีการศึกษาข้อมูลและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อเคียงข้างประชาชนผู้ฝากเงิน 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising