×

กระทรวงดีอียืนยัน ไม่มีประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษ วอนประชาชนเช็กก่อนแชร์ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์

04.08.2019
  • LOADING...
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

วานนี้ (3 ส.ค) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี เปิดเผยว่า ตามรายงานข่าวประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษนั้นยังยืนยันว่ายังไม่มีการประกาศพื้นที่หรือเขตควบคุมพิเศษใดๆ และฝ่ายความมั่นคงได้มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณสำคัญทุกพื้นที่แล้ว และขอความร่วมมือจากประชาชนพี่น้อง 2 เรื่องด้วยกัน คือ ก่อนส่งต่อข้อมูลควรตรวจสอบให้แน่ชัด เพราะการส่งต่อข่าวลักษณะดังกล่าวจะสร้างความตระหนกให้กับสังคมสับสนได้ และส่วนที่ 2 คือ ขอให้ใช้ประโยชน์จากสื่อโซเซียลในมิติที่เป็นประโยชน์ ด้วยการช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งที่จะเห็นว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และไม่ตื่นตระหนกโดยไม่มีการกลั่นกรองความถูกต้องต่างๆ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ แชร์หรือส่งต่อข้อความที่จะทำให้มีความตระหนกตกใจกัน

 

อันเนื่องมาจากข่าวระเบิดป่วนเมืองที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ในวันที่ 2 สิงหาคม การก่อความไม่สงบและทำให้เกิดการตื่นตระหนกของประชาชน รวมทั้งมีการแชร์ภาพ ข้อความต่างๆ ที่ทำให้ตื่นตระหนกโดยไม่มีการกลั่นกรอง คัดกรองกันก่อน กระทรวงดิจิทัลฯ ห่วงใยและจะเร่งดำเนินการงานด้านดิจิทัลเพื่อความมั่นคง หาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์คัดกรอง กลั่นกรอง ป้องกันเรื่องของ Fake News Center เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงด้านความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

 

หลังจากมีการประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เป็นการเร่งรัดนโยบายด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านดิจิทัล มุ่งเน้นความมั่นคงด้านข่าวสาร โดยจะตั้งหน่วยงานศูนย์ Fake News Center เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงด้านความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ เร่งรัดหามาตรการในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆ กับภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและอาชญากรรมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กับกรณีศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในบริบทของประเทศไทย 

 

ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือสูงถึง 180% ของประชากร และมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงมาก โดยมีผู้ใช้งาน Facebook สูงสุดถึง 54 ล้านคน LINE 42 ล้านคน Twitter 12 ล้านคน ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี และมีความขัดแย้งต่อกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการจัดเก็บภาษี กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น และจะหามาตรการในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆ ดังนี้ 

 

1. พฤติกรรมที่รุนแรงและเกี่ยวกับอาชญากรรม ความรุนแรง การยุยง บุคคลและองค์กรที่เป็นอันตราย การส่งเสริมหรือการเผยแพร่อาชญากรรม การร่วมมือกันทำอันตราย สินค้าควบคุม 

 

2. ความปลอดภัย อาทิ การฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง ภาพโป๊เปลือยของเด็ก และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้ใหญ่ การข่มเหงรังแกและการก่อกวน การละเมิดความเป็นส่วนตัวและสิทธิความเป็นส่วนตัวของรูปภาพ เรื่องล่อหลอกให้ถูกโจรกรรมทรัพย์สิน 

 

3. เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อาทิ คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง เนื้อหารุนแรงและโจ่งแจ้ง เนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ภาพโป๊เปลือยของผู้ใหญ่และกิจกรรมทางเพศ การชักชวนทางเพศ ความรุนแรง และการทำร้ายจิตใจ 

 

4. การหลอกลวงและข่าวปลอม อาทิ สแปม การบิดเบือนความจริง การล่อหลอก แอ็กเคานต์ปลอม 

 

5. การเคารพทรัพย์สินทางปัญญา 

 

6. คำขอที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา อาทิ คำขอจากผู้ใช้ มาตรการป้องกันเพิ่มเติมสำหรับผู้เยาว์ 

 

7. ความสงบเรียบร้อยของสังคม อาทิ สถาบันหลักของประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังกล่าวถึงกระบวนการทำงานของ Fake News Center จะต้องมีการดำเนินการให้มีความรวดเร็ว ตรวจสอบให้ได้รับรู้ถึงความถูกต้องและมีวิธีการบริหารจัดการข่าวปลอมให้ได้เร็วที่สุด โดยจะมีทีมงานติดตามและคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม ทีมงานดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนคณะทำงานประสานตรวจสอบข้อมูลและจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง

 

“ด้วยความห่วงใยต่อประชาชนและประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลฯ จะแจ้งให้ประชาชนระมัดระวังกับปัญหาที่เกิดจากสื่อหลอกลวงด้วยภาพหรือข้อความที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่หวังดี มีวัตถุประสงค์สร้างความปั่นป่วนในสังคม ต้องการสร้างกระแสในสังคม และด้วยเพราะสื่อสังคมออนไลน์ ที่การกดแชร์สามารถทำได้ง่าย จึงทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นโดยที่ยังไม่ได้ทบทวนหรือพิจารณาความเป็นจริงของข้อมูลก่อน และเมื่อมีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดกระแสความเชื่อที่ผิดในสังคม กลายเป็นข่าวลวง (Fake News) ที่กลายเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว” พุทธิพงษ์กล่าว

 

ด้าน พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวเสริมว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในเหตุการณ์เช้าวานนี้ สร้างความสับสนให้แก่พี่น้องประชาชน ดังนั้นจึงวอนพี่น้องประชาชนก่อนที่จะส่งข้อมูลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคม ควรเช็กให้ชัวร์ก่อน อาจจะเช็กจากเว็บไซต์สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้ หรือหน่วยงานอื่นๆ ก่อน

 

ภาพ: Royal Thai Government 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising