×

‘ตลท. – FETCO – สมาคมนักวิเคราะห์’ ประสานเสียงเชิงบวก หวังแก้ ‘วิกฤตศรัทธาหุ้นไทย’

08.11.2023
  • LOADING...
ภากร-กอบศักดิ์-ไพบูลย์

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนี SET ติดลบ 15.6% ทำให้หุ้นไทยได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในบรรดาดัชนีตลาดหุ้นหลักของโลก จากการจัดอันดับของ Investing.com

 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนในมูลค่าการซื้อ-ขายมากที่สุดในปีนี้ราว 52% เทขายหุ้นไทยมาต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน และช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนก็ยังเทขายต่อเนื่องอีก 2.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้ว 1.75 แสนล้านบาท สวนทางกับปีก่อนที่เป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 2.02 แสนล้านบาท 

 

หุ้นไทยที่อ่อนแอกว่า (Underperform) ตลาดหุ้นอื่นๆ ทำให้เริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า ในเวลานี้นักลงทุนกำลังหมดความเชื่อมั่นต่อหุ้นไทยจนกลายเป็นวิกฤตศรัทธาหรือไม่

 

ทำไมหุ้นไทย Underperform?

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยในปีนี้อ่อนแอกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ 

 

  1. ดัชนีหุ้นไทยมาจากฐานที่สูงเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ผลตอบแทนของหุ้นไทยแข็งแกร่ง (Outperform) กว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ผลตอบแทนของหุ้นไทยปีนี้ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับหลายตลาด
  2. นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นจากกรณีของหุ้น MORE และ STARK 
  3. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย

 

สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยเทียบกับมูลค่าตลาดของนักลงทุนต่างชาติยังคงอยู่ที่ราว 29% เท่ากับเมื่อปีก่อน สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติที่เป็นกลุ่ม Passive Fund ซึ่งเน้นลงทุนระยะยาว ยังคงถือหุ้นไทย แต่กลุ่มที่ออกไปคือนักลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะสั้น

 

“กรณีของหุ้น MORE และ STARK ทำให้เรากลับมาปรับปรุงระบบ วิธีการทำงาน การกำกับการซื้อ-ขาย และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตลาดทุนไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า”​

 

ภากรกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเห็นได้ชัดในตลาดหุ้นไทยปีนี้คือ ผลตอบแทนของแต่ละอุตสาหกรรมไม่ได้ไปในทางเดียวกัน หรือเป็นลักษณะของ K-Shaped จะเห็นว่าหุ้นในกลุ่ม SETHD และกลุ่ม SETTHSI ค่อนข้าง Outperform กว่า SET อย่างมาก ขณะที่บางอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี และธนาคาร สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า

 

​อย่างไรก็ดี ในปีหน้าหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกจากการที่ไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ถูกคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3% หนุนจากการท่องเที่ยวและการค้าขายระหว่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศราว 32% 

 

ทั้งนี้ หุ้นที่มีธุรกิจที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมใหม่จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน ได้แก่ 1. อาหารรูปแบบใหม่ เช่น Plant-Based, 2. ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น Digital Nomad และ Wellness, 3. ความยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. เศรษฐกิจใหม่ เช่น ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

 

FETCO เผยความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ 

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 76.87 ลดลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้า ลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ส่วนนักลงทุนสถาบันและต่างชาติยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว 

 

ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดจากการสำรวจความเห็นคือ พลังงานและสาธารณูปโภค ส่วนหมวดที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

‘กอบศักดิ์’ ไร้กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอ

 

กอบศักดิ์กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมว่า ไม่น่ากังวลแล้ว หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ​ (Fed) ใกล้จบ ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยเข้าสู่จุดสมดุล และในปีหน้าจะเริ่มได้ยินความเห็นจากประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการเริ่มต้นลดดอกเบี้ย

 

“ตอนนี้ไม่กังวลใจกับเศรษฐกิจมหภาคแล้ว แต่สิ่งที่ยังมองไม่ทะลุคือภาวะสงคราม แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ราคาน้ำมันที่ไม่ปรับขึ้นแม้ว่าจะมีสงครามต่อเนื่อง อาจสะท้อนความเห็นของผู้คนที่ว่า สงครามไม่น่าจะขยายวงกว้าง แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูต่อไปเพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้”

 

ก่อนหน้านี้ความกังวลต่อเศรษฐกิจมหภาคสะท้อนอยู่ในตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวมาต่อเนื่อง และตัวเลขภาคการผลิตที่หดตัว แต่ล่าสุดเริ่มเห็นตัวเลขการส่งออกและการผลิตเริ่มทรงตัวได้แล้ว 

 

“ปัจจุบันเงินทุนกำลังเคลื่อนย้ายมาสู่ไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคคึกคักขึ้นอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า เพียงแต่ในช่วงสั้นเราต้องพยายามรักษาตัวให้รอด”

 

กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงเรื่องภาวะถดถอย (Recession) ของเศรษฐกิจโลก ยังมีความกังวลใจอยู่ค่อนข้างมากในฝั่งของยุโรป แต่ในฝั่งของสหรัฐฯ แม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลงแต่ไม่น่าจะลงลึก ทำให้การส่งออกของไทยน่าจะประคองตัวไปได้

 

FETCO เตรียมชงรัฐบาลต่ออายุ SSF ปรับเกณฑ์กองทุนระยะยาว

 

นอกจากนี้ กอบศักดิ์เปิดเผยว่า เตรียมเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2567 รวมทั้งนำเสนอกองทุนรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาว เช่น กองทุนด้าน ESG 

 

“นอกจากต่ออายุกองทุน SSF ก็จะเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการลงทุนให้ง่ายขึ้น อย่างเรื่องระยะเวลาถือครอง 10 ปี รวมทั้งถอดประสบการณ์จากกองทุน LTF ในอดีตซึ่งเป็นที่นิยม” 

 

‘ไพบูลย์’ คาดกำไร บจ. ไทย ปี 2567 ฟื้น 10% 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า จุดกลับตัวของ Fund Flow กลับมายังตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Market จะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนเห็นพ้องกันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ผ่านจุดพีคอย่างแน่นอนแล้ว และเมื่อเริ่มมีการคาดการณ์กันว่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยเมื่อใด จะเริ่มเห็นแรงกระเพื่อมในตลาดหุ้นตามมา 

 

“Fund Flow จะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นเร็วแค่ไหน อาจจะต้องรอถึงต้นปีหน้า แต่ฝั่งของแรงขายไม่มากแล้ว และปัจจัยต่างๆ น่าจะสะท้อนไปอยู่ในราคาหุ้นค่อนข้างมากแล้ว วันนี้รอว่าจะฟื้นได้เมื่อไรแค่นั้น”​

 

ส่วนหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงรุนแรงกว่าตลาดอื่นๆ ไพบูลย์มองว่า สิ่งที่ขาดหายไปคือเม็ดเงินลงทุนระยะยาว และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่มั่นใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็เริ่มเห็นความเชื่อมั่นที่ค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากที่รัฐบาลเริ่มรับฟังความเห็นและมีแนวโน้มจะปรับรูปแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

สำหรับหุ้นไทยในปีหน้ามีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะเติบโตได้อย่างน้อย 10% จากปีนี้ ตามทิศทางการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยใน Emerging Market ที่ประเมินกันไว้ที่ระดับ 15% 

 

“ตอนนี้เงินเริ่มไหลกลับมายัง Emerging Market หลังจากที่ไหลเข้าไปพักใน Money Market Funds ค่อนข้างมาก แต่เงินทุนเหล่านี้จะเริ่มกลับเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง”​

 

ส่วนความกังวลเรื่องสงคราม จากสถิติในอดีตของกว่า 10 เหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1979 จะเห็นว่าตลาดหุ้นใช้เวลาปรับตัวจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดเฉลี่ย 16 วันทำการ และดัชนีหุ้นโดยเฉลี่ยลดลงลึกสุด 6.3% ซึ่งสงครามอิสราเอล-ฮามาสล่าสุดดัชนีหุ้นลดลงมา 6% และเริ่มฟื้นตัวได้ 

 

ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของดัชนี SET จะเห็นว่า ที่ระดับ 1,400 จุดเป็นระดับที่ต่ำเกินไป ทั้งในมุมของ P/BV ที่ 1.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -1SD และหากอิงจากความเห็นของนักวิเคราะห์โดยเฉลี่ย มูลค่าที่เหมาะสมของดัชนี SET จะอยู่ที่ราว 1,700 จุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising