×

EIC SCB ชี้โควิด-19 จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจออกกำลังกาย

โดย efinanceThai
16.04.2020
  • LOADING...

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า ในขณะที่รัฐบาลพยายามจำกัดการแพร่กระจายของโควิด-19 ยิม ฟิตเนส และสตูดิโอออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มระยะห่างทางสังคม โดยฟิตเนสหลายแห่งได้ปรับตัวผ่านการนำเสนอคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนส่วนตัวผ่าน Video Call หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ฟิตเนสและสตูดิโอต่างๆ ยังพักการเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือยืดเวลาการเป็นสมาชิกเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโมเดลธุรกิจที่ต้องพึ่งพาค่าสมาชิกรายเดือนจากเมมเบอร์ หรือรายได้จากสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเป็นระยะ

 

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจฟิตเนสก็กำลังถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนออกกำลังกายที่บ้านได้ หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ Peloton ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้สมาชิกสตรีมคลาสต่างๆ เพื่อให้สมาชิกออกกำลังกายในบ้าน และยังจำหน่ายจักรยานและลู่วิ่ง ที่มีจอสัมผัสและลำโพงขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สมาชิกรู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในคลาสกับผู้สอนจริงๆ โดยจักรยานมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2,245 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ลูกค้าสามารถผ่อนได้ในราคา 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ได้ถึง 39 เดือน สำหรับคนที่ไม่อยากลงทุนซื้อจักรยานหรือลู่วิ่งก็สามารถโหลดแอปพลิเคชันมาเล่นคลาสต่างๆ ได้ด้วยราคาเพียง 12.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าราคาสมาชิกรายเดือนของฟิตเนสหลายแห่ง

 

นอกจากนี้ Peloton ยังใช้ครูที่มีชื่อเสียงในการสอนคลาสต่างๆ และยังมีดาราเป็นสมาชิกหลายคน ทำให้สมาชิกที่เล่นอยู่ที่บ้านรู้สึกว่าได้ออกกำลังกายไปพร้อมๆ กับคนดังอีกด้วย อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ออกกำลังกายที่บ้าน คือบริษัท Mirror ที่ขายเทคโนโลยีจอกระจกที่มีกล้องและลำโพงในตัว เมื่อเปิดจะแสดงคลาสและผู้สอนเพื่อให้สมาชิกเล่นตามได้แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ ที่ผู้สอนสามารถกระตุ้นและให้กำลังใจสมาชิกได้ขณะเล่นผ่านเทคโนโลยี Motion Sensor และเมื่อปิดจอก็จะกลายเป็นกระจกเต็มตัว โดยเทคโนโลยีจอกระจกของ Mirror มีราคา 1,495 ดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าสมาชิก 39 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน

 

ยังไม่ชัดเจนว่าผู้คนจะกลับไปออกกำลังกายตามปกติได้เร็วแค่ไหน เมื่อฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดใหม่ หรือว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อผู้บริโภคลงทุนในอุปกรณ์และปรับการออกกำลังกายเพื่อให้สอดรับกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้านแล้ว ผู้บริโภคเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกสมาชิกฟิตเนสไป โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในอุปกรณ์ราคาสูง เช่น จักรยาน ลู่วิ่ง หรือชุดอุปกรณ์ยกน้ำหนัก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่ไปฟิตเนสเพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆ หรือเพื่อสร้างสังคม สามารถ Join Community ในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้

 

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด เป็นไปได้ว่าฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายจะยังคงได้รับผลกระทบยาวนาน แม้ว่าการล็อกดาวน์จะจบลงไปแล้วก็ตาม เนื่องจากสมาชิกบางกลุ่มอาจยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติ อีกทั้งการหาสมาชิกใหม่ยากขึ้นด้วยภาวะเศรษฐกิจ หรือการที่สมาชิกสามารถออกกำลังกายที่บ้านได้ระหว่างล็อกดาวน์ ทำให้มีแนวโน้มยกเลิกการเป็นสมาชิก รวมถึงฟิตเนสต้องมีมาตรการเพิ่มการรักษาความสะอาดที่มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก ซึ่งหมายถึงค่าบริหารจัดการที่สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ฟิตเนสยังมีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการจ้างเทรนเนอร์ที่ลดลง เพราะเทรนเนอร์หลายคนมีการปรับตัวโดยการไปสอนตามบ้านเพื่อหารายได้เสริมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการสอนส่วนตัวตามบ้านจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินน้อยกว่า และเทรนเนอร์ได้เงินมากกว่า เพราะไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับฟิตเนส

 

EIC เสนอคำแนะนำ 4 ข้อสำหรับผู้ประกอบการฟิตเนสเมื่อต้องปรับตัวในช่วงล็อกดาวน์ และเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนี้

 

  1. เพิ่มบริการเช่าหรือยืมอุปกรณ์ออกกำลังกาย สำหรับการออกกำลังกายที่บ้านของสมาชิก เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เอง โดยเป็นบริการเพิ่มเติมนอกเหนือคลาส และการสอนตัวต่อตัวออนไลน์ในช่วงที่ฟิตเนสยังต้องปิดตัวอยู่ เช่น Crossfit ยิมที่สกอตแลนด์ อนุญาตให้สมาชิกยืมอุปกรณ์ไปเล่นที่บ้านได้แม้แต่เครื่องกรรเชียงบก
  2. ออกมาตรการสร้างระยะห่างโดยการจำกัดจำนวนสมาชิก เทรนเนอร์ในพื้นที่ และลดจำนวนคนเข้าในแต่ละคลาสเมื่อกลับมาเปิดให้บริการในระยะแรก โดยฟิตเนสในจีนที่เพิ่งเริ่มเปิดกลับมาระยะแรกก็จำกัดจำนวนสมาชิกที่เข้าได้ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยสมาชิกต้องจองเวลาใช้ไว้ก่อน
  3. จัดทำเกณฑ์ในการขยายเวลาพักการเรียกเก็บค่าสมาชิก หรือยืดเวลาการเป็นสมาชิกให้แก่ลูกค้าบางกลุ่ม ที่อาจจะยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติ โดยอาจจะพิจารณาจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น ผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นต้น
  4. สื่อสารกับลูกค้าด้านมาตรการเว้นระยะห่าง และรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนอบรมและกำชับพนักงานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้ เมื่อฟิตเนสและสตูดิโอต่างๆ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว ทั้งสมาชิก เทรนเนอร์ และเจ้าของธุรกิจล้วนอยากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ที่อาจจะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายปิดธุรกิจอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องจับตาดูเทรนด์เทคโนโลยี และเทรนด์การเปลี่ยนไปใช้การออกกำลังกายออนไลน์เพื่อนำเสนอตัวเลือกใหม่ๆ ให้แก่สมาชิก เช่น นำเสนอคลาสออนไลน์สำหรับคลาสที่เป็นที่นิยม เพื่อให้สมาชิกสามารถเล่นเองที่บ้านหรือเล่นที่สาขาอื่นได้ นำเทคโนโลยีการออกกำลังกายใหม่ๆ มาให้สมาชิกลองใช้ หรือแม้กระทั่งสมัครเป็นผู้แทนจำหน่ายเทคโนโลยี และนำเสนอคลาสที่ปรับให้เข้ากับลูกค้าคนไทย สุดท้ายผู้ประกอบการธุรกิจควรพิจารณาพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานการออกกำลังกายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ให้ยืดหยุ่นต่อความต้องการและพฤติกรรมการออกกำลังกายของสมาชิก

 

เรียบเรียง: ชุติมา มุสิกะเจริญ

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising