×

โควิด-19 ทำเมเจอร์ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี แค่โรงหนังจึงไม่พอ ต้องเป็น ‘คอนเทนต์โปรไวเดอร์’ ถึงอยู่รอด

22.12.2020
  • LOADING...
โควิด-19 ทำเมเจอร์ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี แค่โรงหนังจึงไม่พอ ต้องเป็น ‘คอนเทนต์โปรไวเดอร์’ ถึงอยู่รอด

จากที่วางไว้ว่าปี 2563 จะเป็นปีทองของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพราะรายได้ในช่วงที่ผ่านมาต่างเติบโตทุกปี สะท้อนจากยอดขายตั๋วชมภาพยนตร์ ปี 2560 ขายได้ 29.5 ล้านใบ, ปี 2561 ขายได้ 33 ล้านใบ และปี 2562 ขายได้ 36.5 ล้านใบ ดังนั้นปีนี้คิดคาดว่าจะสามารถทำได้ 40 ล้านใบได้ไม่ยาก แต่กลับไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเกิดวิกฤตที่ชื่อว่าโควิด-19 เสียก่อน

 

“เดือนมกราคมไปได้สวย เดือนกุมภาพันธ์เริ่มเข่าทรุด เดือนมีนาคมสลบไปเลย เดือนเมษายนนั่งงงอยู่เพราะต้องทำงานจากที่บ้าน” วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

 

วิชายกให้ปี 2563 เป็น The Dark Year เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์จอมืด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก และวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้เมเจอร์ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี โดยจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ช่วง 9 เดือน ปี 2563 เมเจอร์มีรายได้รวม 2,879.67 ล้านบาท และขาดทุน 855.02 ล้านบาทด้วยกัน

 

“ซีอีโอทุกคนก็มึน ไม่รู้จะทำอะไร ต้องตั้งสติพอสมควร แต่ละอุตสาหกรรมเจอเอฟเฟกต์ที่ไม่เหมือนกัน ตอนแรกคิดว่าไม่กระทบเยอะ แต่ไปๆ มาๆ กลับเจอหนัก เพราะเราไม่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาฉาย ปกติไม่มี 1 เดือนว่าหนักแล้ว แต่นี้ไม่มีถึง 10 เดือนเต็มๆ” 

 

วิกฤตที่ชื่อว่าโควิด-19 ยังทำให้วิชาค้นพบสัจธรรม ที่ผ่านมาวิชามองว่าตัวเองนั้นเป็นโรงภาพยนตร์มาตลอด แต่โควิด-19 ทำให้วิชาต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ด้วยหลายคนอาจมองว่า โรคระบาดอาจทำให้คนไม่อยากดูภาพยนตร์ในโรง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคนยังมาดูภาพยนตร์ แต่ไม่มีภาพยนตร์ให้ดู

 

ดังนั้นในปี 2564 นี้เมเจอร์ต้องปรับทัพใหม่เพื่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น วิชามองโรคโควิด-19 จะมาแล้วก็ไป ไม่ใช่ดิสรัปชัน (Disruption) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม โดยเมเจอร์นั้นต้องปรับตัวให้เร็วและยืดหยุ่น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้อยู่รอด โดยเฉพาะการปรับตัวเองจากโรงภาพยนตร์ไปสู่คอนเทนต์โปรไวเดอร์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

 

การเป็นคอนเทนต์โปรไวเดอร์จะมาพร้อมกับ T ตัวแรกในกลยุทธ์ 3T ที่เมเจอร์วางไว้ในปี 2564 ซึ่งนั้นคือ Thai Movie โดยที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถผ่านจุดวิกฤต โดยมีภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งนั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักดอกผักบุ้ง, เลิกคุยทั้งอำเภอ ที่สามารถตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ไปถึง 43 ล้านบาท ตามมาด้วย อีเรียมซิ่ง ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท

 

โดยหากคอนเทนต์ทำได้น่าสนใจและโดนใจคนดู คนก็จะออกมาดูภาพยนตร์ ดังนั้นเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จึง Rethink ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้บริษัทผลิตภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องจาก “เมื่อตลาดโรงภาพยนตร์โลกขาดสินค้าหรือคอนเทนต์ที่เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉาย แต่หากเรามีภาพยนตร์ Local Film ที่สร้างเอง ก็จะทำให้มีคอนเทนต์ป้อนตลาด โดยไม่ต้องรอภาพยนตร์ฮอลลีวูด”

 

ปีหน้าเมเจอร์จะใช้เงิน 350-400 ล้านบาท สำหรับการลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยประมาณ 20-25 เรื่อง จากบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยในเครือเมเจอร์ 6 ค่าย ได้แก่ M Pictures, M39, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และรฤก โปรดั๊กชั่น ซึ่งเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง

 

“แม้ปีนี้อาจเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักของโรงภาพยนตร์ แต่ปีหน้า ปี 2564 จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time to Die จะมีภาพยนตร์เข้าฉายให้ลูกค้าได้ชมกันมากถึง 260 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ไทยประมาณ 50 เรื่อง”

 

โดยนอกจากค่ายในเครือเมเจอร์แล้ว ค่ายอื่นๆ ก็ยังมีการสร้างอยู่ เช่น GDH 4 เรื่อง, สหมงคลฟิล์ม 7 เรื่อง, ไฟว์สตาร์ 3 เรื่อง ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายมีประมาณ 210 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เลื่อนฉายจากปี 2563 ในช่วงโควิด-19 เป็นภาพยนตร์ที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด บ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน อาทิ Black Widow, Godzilla vs. Kong, Fast & Furious 9, Mission: Impossible 7, Spider-Man Sequel และ The Matrix 4 เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกันการเป็นคอนเทนต์โปรไวเดอร์ของเมเจอร์คือการทำรายได้จากภาพยนตร์ที่ตัวเองสร้างขึ้น โดยการขายภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องหลังจากออกโรงแล้ว 3 เดือนให้กับสตรีมมิงที่กำลังเติบโต ซึ่งวิชามองสตรีมมิงเป็นอีกหนึ่งรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนอื่นๆ ที่น้อยลงไป โดยเฉพาะในส่วนของ DVD และ VCD 

 

การขายของเมเจอร์นั้นวิชาย้ำว่า จะไม่มีการผูกปิ่นโตไว้กับค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่จะขายให้กับค่ายที่เสนอราคาสูงที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีขายไปแล้วทั้ง โปรเม อัจฉริยะ | ต้อง | สร้าง ให้กับ Netflix ในราคา 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ และ แสงกระสือ ให้กับ Netflix เช่นเดียวกันในราคา 5.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

 

ส่วน T ตัวที่ 2 คือ Technology โดยเมเจอร์ได้วางงบ 200 ล้านบาทสำหรับลงทุนเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น

 

T สุดท้ายคือ Trading ซึ่งถือเป็น New Business ซึ่งเกิดจากการขายป๊อปคอร์นทางออนไลน์ในช่วงที่โรงภาพยนตร์ต้องปิด แล้วประสบความสำเร็จค่อนข้างดี เมเจอร์จึงได้ต่อยอดยายไลน์สินค้าป๊อปคอร์นด้วยการเปิดตัวป๊อปคอร์นพรีเมียม POPSTAR ซึ่งมีทั้ง ป๊อปคอร์นแบบซอง, สำหรับอบเองที่บ้าน และบรรจุกระป๋องสำหรับซื้อเป็นของฝาก

 

เบื้องต้นยังวางขายอยู่ในโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ แต่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาสำหรับไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเมเจอร์ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจ Trading คิดเป็นสัดส่วนราว 10% จากรายได้ของป๊อปคอร์นที่ขายได้ราว 2,000 ล้านบาท 

 

สำหรับแผนการขยายสาขาในปี 2564 เมเจอร์จะลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชาอีก 2 สาขา 6 โรง ด้วยงบประลงทุนรวม 200 ล้านบาท ปัจจุบันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แยกเป็น     

 

– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง  

– สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง

– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising