×

ศบค. เผย กทม. จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 200 ทีม หาผู้ติดเชื้อโควิดเข้าระบบ Home-Community Isolation

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2021
  • LOADING...

วันนี้ (12 กรกฎาคม) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า มีการหารือถึงแผนการแก้ไขปัญหาโควิดเชิงรุกในกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกรมการแพทย์เสนอสถานการณ์ล่าสุดพบว่า ประชาชนยังต้องการเตียงสูงมากตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการหารือเรื่องให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยเมื่อวานนี้ (11 กรกฎาคม) ยังมีรถนำส่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว แต่ด้วยอัตราติดเชื้อ มีผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและแดงมากขึ้น ก็จะมีการสงวนเตียงไว้รองรับผู้ที่มีอาการเข้าโรงพยาบาล (รพ.)

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ระดับชุมชนจะมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ เรียกว่า CCRT หรือ Comprehensive COVID-19 Response Team ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เช่น บุคลากรแพทย์ ฝ่ายความมั่นคง ผู้อำนวยการเขตทั่ว กทม. และส่วนหนึ่งของการทำงานจะค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน ปรับวิธีการให้ครอบคลุมการตรวจหาเชื้อมากขึ้น หากพบผู้ติดเชื้ออยู่ระดับเขียวก็จะให้แยกกักที่บ้าน แต่หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจะให้อยู่ในสถานที่พักคอยในชุมชนหรือโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation) โดยทีมจะต้องติดตามผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัย ส่วนผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อก็จะให้กักตัวที่บ้าน (Home Quarantine)

 

“สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สีเขียวเข้ม สีเหลือง หรือแม้จะเป็นผู้ไม่มีอาการแต่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการที่โรคแย่ลง จะมีการส่งต่อเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ซึ่งทั่ว กทม. จะมี 200 ทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่แนะนำให้มีการใช้ Rapid Antigen Test เพื่อตรวจหาเชื้อเนื่องจากความแม่นยำต่ำ แต่ด้วยสถานการณ์เปลี่ยน จึงต้องมีการใช้ Rapid Test Kit ที่มีมาตรฐานยอมรับได้มาใช้ตรวจให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า Rapid Test มีหลากหลายแบบ มีทั้งตรวจหาเชื้อด้วย Antigen และ Antibody ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องมีการวางทิศทางนโยบายการตรวจด้วย Rapid Test และจะแถลงต่อประชาชนต่อไป

 

“สำหรับผู้ที่ตรวจด้วย Rapid Test และมีผลลบก็อย่างนิ่งนอนใจ ขอให้เฝ้าระวังอาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสูง ระหว่างที่เฝ้าระวังอาการต้องแยกกักตัว แม้จะมีผลลบแต่มีคำแนะนำให้ตรวจซ้ำอีก 5-7 วัน ซึ่งจะเป็นระยะที่เชื้อมีปริมาณมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ตรวจครั้งแรกแล้วผลเป็นบวก ขอให้ติดต่อที่ 1330 เพื่อนำไปสู่การตรวจด้วยวิธีมาตรฐานและเข้าระบบรักษาอย่างปลอดภัย” พญ.อภิสมัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising