×

‘สุพัฒนพงษ์’ ย้ำพร้อมรับมือราคาพลังงานพุ่งหากวิกฤตยูเครนบานปลาย ด้าน ‘อาคม’ มองน้ำมันแพงเป็นปัญหาระยะสั้น

23.02.2022
  • LOADING...
ราคาพลังงาน

รองนายกรัฐมนตรียันรัฐบาลพร้อมรับมือวิกฤตราคาพลังงานหากปัญหารัสเซีย-ยูเครนบานปลาย ด้าน รมว.คลัง มองปัญหา ‘ค่าครองชีพ-ราคาน้ำมันแพง’ กระทบไทยระยะสั้น ชู 7 เรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดัน GDP ปีนี้โต 4%

 

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาออนไลน์ 2022 Next Economic Chapter: New Challenges and Opportunities ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 จัดโดยธนาคารกรุงไทยว่า รัฐบาลยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 จะยังขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า GDP จะขยายตัวได้ราว 3-4% 

 

อย่างไรก็ดียอมรับว่าในระยะสั้นไทยยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ต้องเผชิญในช่วงการฟื้นตัวหลังจากวิกฤตโควิด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ได้แก่ การจัดเตรียมวัคซีนสำรองเอาไว้ 90 ล้านโดส สำหรับใช้ฉีดกระตุ้นหากสถานการณ์แพร่ระบาดยังยืดเยื้อ การเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่ง รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา

 

สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนมีความเป็นห่วงในเวลานี้คือภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาในส่วนของการกักตุนสินค้าต่างๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ดีในด้านของราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นเหตุจากปัจจัยภายนอก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งยากจะควบคุม

 

“เราจะดูแลราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากไปกว่าประเทศที่มีสถานะเป็นผู้นำเข้าพลังงานเหมือนกัน ซึ่งหากดูในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนก็ไม่สูงมากนัก ก็หวังว่าเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนจะไม่บานปลาย แต่ถ้าบานปลายรัฐบาลก็จะใช้หลักการดูแลราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป โดยราคาจะต้องให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสามารถในการแข่งขันกับชาติอื่นได้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเดียวกันว่า ในช่วงต้นปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาระยะสั้นจากค่าสินค้าบางประเภทและราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นบางประเภทนั้นเกิดจากปัญหาซัพพลายช็อก โดยรัฐบาลได้เข้าไปควบคุมดูแลแล้ว แต่ในด้านของพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมัน

 

อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิต คือ ดีเซล ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และในฝั่งของกระทรวงการคลังก็ลดภาษีน้ำมันดีเซลสรรพสามิตให้ 3 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนอีกทาง

 

“ที่ไม่ได้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงทั้งหมด แต่ลดลง 3 บาทต่อลิตรนั้น คลังคำนึงถึงการสูญเสียรายได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อจำกัดการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ด้วย ฉะนั้นจึงต้องดูในเรื่องความสมดุลด้วย ซึ่งการพยุงราคาน้ำมันก็มีทั้งในส่วนของกองทุนและภาษีที่เข้าไปช่วย ก็จะสามารถช่วยในเรื่องดังกล่าวได้ และก็มองว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเป็นปัญหาระยะสั้น” อาคมระบุ

 

อาคมกล่าวอีกว่า ในปีนี้รัฐบาลจะดำเนินการใน 7 เรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 4% ได้แก่ 

 

  1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีอีซี ในระยะที่ 2 โดยจะวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมุ่งไปสู่เศรษฐกิจมีมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

 

  1. การเร่งผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

  1. การผลักดันลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลง COP26 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ในประเทศไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและศุลกากร เพื่อให้เกิดอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น

 

  1. การปรับระบบดูแลสุขภาพให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีการดูแลควบคุมได้เป็นอย่างดี หากนำส่วนนี้มาปรับใช้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ดึงดูดต่างชาติเข้ามา รวมทั้งพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย

 

  1. การส่งเสริมและพัฒนาระบบดิจิทัลในภาคการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเข้ามาเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนของธุรกิจไทย ขณะที่ภาคตลาดเงินและตลาดทุนเดิมจะต้องเร่งปรับตัวตามการระดมทุนแบบ Peer to Peer และ Crowdfunding ที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

  1. การส่งเสริมธุรกิจ SMEs สตาร์ทอัพ ในเรื่องของแหล่งทุนผ่านเวนเจอร์ แคปปิตอล โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพมากขึ้น

 

  1. สร้างความยั่งยืนทางการคลัง โดยยอมรับว่าในช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ภาครัฐมีการกู้ยืมเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจและบรรเทาภาระประชาชน ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้แล้ว การใช้จ่ายและรายได้ของภาครัฐจะต้องมีความสมดุลกัน โดยในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising