×

ส่องเป้าล่าสุด หลัง COP26 เปิดฉาก หลายประเทศขยับหวังปรับลด ‘ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’

02.11.2021
  • LOADING...
COP26

เกือบทุกประเทศในประชาคมโลกที่ร่วมลงนามและให้สัตยาบันในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี 2015 ต่างพยายามร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด หรือ ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์’ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยเฉพาะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อปรับสมดุลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาเหล่านี้ ‘เท่ากับ’ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ จนได้ชื่อว่า ‘มีความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality)

 

แม้อาจจะดูเหมือนว่าทั้ง Carbon Net Zero และ Carbon Neutrality จะสามารถใช้แทนกันได้ในบางบริบท แต่แท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดย Carbon Neutrality มักจะอ้างอิงถึงแนวนโยบายที่ไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพยายามบรรลุการลดคาร์บอนผ่านการชดเชยต่างๆ ขณะที่ Carbon Net Zero มักจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด และใช้การชดเชยเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยการชดเชยเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนที่ยังจำเป็นอยู่ ภายหลังจากที่พยายามปรับลดการปล่อยคาร์บอนที่สามารถปรับลดได้ทั้งหมดแล้ว

 

นี่คือเป้าปีอัปเดตล่าสุดของบางประเทศ หลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 เปิดฉากขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ในสหราชอาณาจักร โดยหลายประเทศหวังปรับลด ‘ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ 

 

หนึ่งในผู้นำประเทศที่สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ที่ประกาศเป้าหมายใหม่ของอินเดียที่จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ปรับลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2070 พร้อมปรับลดความเข้มข้นของคาร์บอนลง 45% ภายในปี 2030 รวมถึงหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทน 50% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ และใช้พลังงานที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น อย่างน้อย 500 จิกะวัตต์ ภายในปี 2030 

 

ขณะที่บราซิลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้เวทีการประชุม COP26 ประกาศเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่ปรับลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเห็นพ้องกับประชาคมโลกกว่า 100 ประเทศ สนับสนุนยุติการตัดไม้ทำลายป่าและหยุดการทำลายผืนดินให้เสื่อมโทรม ภายในปี 2030 

 

ขยับมาที่ย่านอาเซียน หลายประเทศในแถบภูมิภาคนี้เริ่มตื่นตัวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 7 ใน 10 ประเทศ เริ่มกำหนดปีที่ต้องการให้ประเทศบรรลุเป้าของการเป็นประเทศที่ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์แล้ว โดยวานนี้ (1 พฤศจิกายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำบนเวที COP26 โดยแถลงว่า ไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising