×

Cooheart ความยากของนักแสดง LGBTQIA+ ในวงการวาย

29.06.2023
  • LOADING...
Cooheart

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • Androgynous คือแฟชั่นที่เอิร์ธโฟกัสอยู่ตอนนี้ เพราะมันไม่ได้มีกรอบเสื้อผ้าด้วยเพศ ไม่ได้กำหนดว่ากระโปรงสำหรับผู้หญิงหรือเสื้อแบบไหนสำหรับผู้ชาย
  • ในช่วงแรกของการทำงานในวงการ เอิร์ธถูกตีกรอบไว้ด้วยคำว่า ‘ห้ามออกสาว’ เพราะความเชื่อที่ว่า ถ้าเอาผู้ชายที่เป็นสเตรทมารักกันมันจะขายได้
  • เอิร์ธบอกว่า โอกาสที่นักแสดงเพศหลากหลายสักคนจะได้รับบทนำในซีรีส์วายนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก 

ส่งท้าย Pride Month ด้วยบทสนทนากับ เอิร์ธ-กัษมนณัฏฐ์ นามวิโรจน์ นักแสดงเพศหลากหลายที่อยู่ในวงการมาร่วม 5 ปี พูดคุยถึงการทำงาน แฟชั่น และตัวตนที่ถูกกดทับด้วยวงการที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นหนึ่งใน Soft Power และสินค้าส่งออกที่แข็งแรงมากๆ ของประเทศ

 

อุตสาหกรรมวายเป็นสื่อที่ถูกพูดถึงและมีประเด็นให้ถกเถียงอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในประเด็นเหล่านั้นคือ การที่อุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถสนับสนุนชุมชน LGBTQIA+ ได้มากพอ และหลายครั้งมันสร้างความเข้าใจผิดและบาดแผลให้กับทั้งกลุ่มคนเพศหลากหลายและคนในวงการเอง 

 

เอิร์ธ หรือหลายคนเรียกว่า Cooheart คือหนึ่งในนักแสดงที่นิยามตัวเองว่าเป็น Queer และไม่เคยปกปิดเพศวิถีของตัวเองเลยตั้งแต่เข้าวงการมา เขาเติบโตในวงการวายมาราวๆ 5 ปี โดยเริ่มเป็นที่รู้จักในบท อินทัช จากเรื่อง ด้ายแดง (Until We Meet Again) และได้มารับบทนำเต็มๆ ครั้งแรกในซีรีส์เรื่อง ลุ้นรัก 12% (My Only 12%) เมื่อปีที่แล้ว 

 

เอิร์ธเป็นหนึ่งในนักแสดงเพศหลากหลายที่ต้องเจอกับความกดดัน แรงต้านจากคนดู และความเชื่อเดิมๆ ของวงการวายมาตลอด THE STANDARD POP จึงถือโอกาสนี้ชวนเขามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านต่างๆ โดยตั้งต้นจากความสนใจเรื่องแฟชั่น ลากยาวมาถึงความอัดอั้นและกรอบที่แน่นหนาในวงการ ต่อไปถึงเรื่องของโอกาสที่หาได้ยากสำหรับนักแสดงเพศหลากหลาย

 

Cooheart

 

เอิร์ธเป็นอีกคนที่มีแฟชั่นหรือสไตล์เป็นของตัวเองมากๆ ตอนนี้สนใจแฟชั่นแบบไหนอยู่บ้าง

 

เอิร์ธ: ก่อนอื่นเลย ส่วนตัวเอิร์ธไม่ได้ฟิคว่าเราสนใจแฟชั่นสไตล์ไหนอย่างชัดเจน มันเปลี่ยนไปเป็นช่วงๆ มากกว่า เราไม่ได้อยากตีกรอบตัวตนของตัวเองด้วยแฟชั่น เราแค่เลือกแฟชั่นที่แมตช์กับตัวเราที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ เลือกสิ่งที่ทำให้เราดูดีที่สุดในช่วงวัยนั้นมากกว่า ซึ่งพอเราไม่มีกรอบตรงนี้ มันก็ทำให้เราสนุกในการแต่งตัวมากขึ้น ทำให้ตัวเราเองมีสไตล์ที่หลากหลายและไม่น่าเบื่อ แต่ถ้าให้เลือกหนึ่งสไตล์ที่เราโฟกัสอยู่ตอนนี้น่าจะเป็น Androgynous ครับ 

 

Androgynous เป็นแฟชั่นที่นำเสนอความลื่นไหลทางเพศ คือเราสามารถสนุกกับการแต่งตัวได้โดยไม่มีกรอบเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องแยกว่ากระโปรงสำหรับผู้หญิงนะ หรือเสื้อแบบนี้ต้องสำหรับผู้ชายนะ เครื่องแต่งกายมันถูกออกแบบมาให้เหมาะกับรูปร่างและรูปทรงของคนก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะใส่กระโปรงไม่ได้ หรือผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้าผู้ชายไม่ได้ 

 

แฟชั่นที่แมตช์กับเอิร์ธในช่วงวัยนี้เป็นแบบไหน

 

เอิร์ธ: ช่วงนี้หลายคนอาจจะเห็นเอิร์ธแต่งหวาน แต่งน่ารักบ่อยๆ เพราะรู้สึกว่าเราใส่สิ่งนี้แล้วเป็นตัวของตัวเอง ใส่แล้วมั่นใจ ใส่แล้ว Shine ขึ้น โดดเด่นมากขึ้น อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้ตีกรอบตัวเองขนาดนั้น เสื้อผ้ามัน Unisex ใครจะใส่แบบไหนก็ได้ วันนี้เราอยากใส่กระโปรงก็แค่หยิบมาใส่ หรืออย่างสายเดี่ยวที่ถูกแปะป้ายเรื่องเพศอยู่บ่อยๆ เราลองหยิบมาใส่ดู มันก็เข้านี่

 

ถ้าตัดกรอบเรื่องเพศออกไป คิดว่าเรื่องการแต่งตัวยังต้องมีกรอบอยู่ไหม

 

เอิร์ธ: จริงๆ คิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เอิร์ธว่ามันอาจจะต้องมีกรอบอยู่ในบางสถานที่ บางเวลา ด้วยความที่เราอยู่ในสังคมที่มีคนหลากหลาย มีวัฒนธรรมเดิมอยู่ บางสถานที่และบางเวลาก็ต้องแต่งตัวตามกาลเทศะเป็นหลัก อย่างเช่น เข้าวัด-ทำบุญมันก็อาจจะไม่เหมาะสมจริงๆ ถ้าเราจะใส่สั้น แต่ถ้าอยากเป็นตัวเองขึ้นมาหน่อย เราก็ใส่กระโปรงยาวไปได้ ซึ่งมันยังอยู่ในระดับที่เรียบร้อย ยังให้เกียรติสถานที่และผู้คน ณ ตรงนั้นอยู่

 

Cooheart

 

มีทวีตปักหมุดในแอ็กเคานต์ของเอิร์ธ ที่เป็นภาพใส่สายเดี่ยวและข้อความว่า ‘ใส่แล้วมีความสุขก็ใส่เลย’ จุดเริ่มต้นของทวีตนี้คืออะไร

 

เอิร์ธ: วันนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่กล้าใส่เสื้อผ้าอะไรแบบนี้ มันเริ่มจากว่า พี่แซมมี่-ซาแมนท่า เมลานี่ ที่อยู่บริษัทเดียวกับเรา เขาซื้อเสื้อมาใหม่ แล้วก็บอกว่า เสื้อตัวนี้น่าจะเหมาะกับเรานะ ให้ไปลองใส่ดู พอไปลองแล้วชอบ รู้สึกว่าเราใส่ได้ มันเหมาะกับเรา จากแต่ก่อนที่เคยคิดว่าต้องมีหน้าอกก่อนหรือเปล่าถึงจะใส่ได้ แต่พอได้ใส่ชุดนี้ออกไปใช้ชีวิตแล้ว มันกลายเป็นคนชมเยอะมาก ตอนนั้นก็เลยเพิ่งมารู้ว่าชีวิตมันสั้นนะ อยากแต่งตัวแบบไหนก็แต่ง เราอายุ 20 กว่าแล้ว ต้องเลิกกลัวเรื่องนี้ได้แล้ว 

 

ตอนนั้นเพื่อนก็ชมด้วยว่าแต่งตัวปังมาก แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวถ่ายรูปให้นะ พอถ่ายเสร็จเอิร์ธก็เขียนเรื่องนี้ลงทวิตเตอร์ ไม่ได้คิดว่ามันจะแมสด้วย (หัวเราะ) แค่อยากระบายความอัดอั้นจากกรอบที่เราเจอมาเฉยๆ 

 

Cooheart

ภาพ: Cooheartt / Twitter

 

ความอัดอั้นและกรอบที่เอิร์ธพูดถึงคืออะไร

 

เอิร์ธ: เมื่อก่อนตอนเอิร์ธเริ่มเข้ามาทำงานในวงการ มันมีกรอบหลายอย่างที่ครอบเราเอาไว้ ในยุคนั้นผู้จัดก็จะมีความเป็นห่วงทั้งตัวเราเองและภาพลักษณ์ของซีรีส์ในองค์รวม ซึ่งเขาก็จะบอกเราเลยว่าห้ามออกสาวนะ ขายแค่น่ารักพอ ไม่เอาหวานๆ หรือสาวเกินไป 

 

ในบริบทตอนนั้นผู้จัดก็จะมีความเชื่อว่า ถ้าเอาผู้ชายที่เป็นสเตรทมารักกันมันจะขายได้ เรื่องจะไม่สะดุด ทุกอย่างมันจะกลมกลืน แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็ลืมไปว่าโลกมีความหลากหลายมากกว่านั้น มีความเป็นธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถไปตีกรอบได้ว่าคนนั้นต้องเป็นแบบนี้ คนนี้ต้องเป็นแบบนั้น

 

มันค่อนข้างโหดร้าย แล้วก็เป็นฟีลลิ่งที่แย่มาก ตอนนั้นรู้สึกว่าดาวน์นะ แอบเสียใจแต่ก็ไม่ได้พูดกับใคร เพราะหนึ่งคือยังเด็กด้วย และสองคือเราเองก็ยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าควรวางตัวเองตรงไหน เรามาตรงนี้เพื่ออะไร ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากแบ่งเบาภาระที่บ้าน มองเรื่องงาน-เรื่องเงินเป็นหลัก ก็เลยต้องทำตามที่เขาบอก

 

แล้วเราเริ่มมาปลดล็อกตัวเองตอนไหน

 

เอิร์ธ: เอิร์ธเริ่มมาปลดล็อกตัวเองได้ตอนซีรีส์เรื่อง ด้ายแดง (Until We Meet Again) ที่เล่นคู่ พี่เก้า-นพเก้า เดชาพัฒนคุณ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้เราเริ่มมาคิดว่าควรจะวางตัวเองไว้ตรงไหน หรืออยากเป็นใคร 

 

จริงๆ ตั้งแต่เล่นซีรีส์เรื่องแรก ถ้ามีอีเวนต์อะไรมาเราก็จะแทรกขึ้นไปเต้น SOLO JENNIE ตลอดนะ (หัวเราะ) สิ่งนี้มันอยู่ในอินเนอร์ มันอยู่ในจิตวิญญาณ เราเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ เราไม่สามารถพยายามเป็นใครสักคนได้ สุดท้ายแล้วก็เลยกลับมาเป็นตัวเอง

 

การได้กลับมาเป็นตัวเองมันให้ความรู้สึกอย่างไร

 

เอิร์ธ: การได้เป็นตัวเองมันยั่งยืนกว่ามากๆ เราไม่ต้องมานั่งปั้นเป็นคนอื่น แค่ต้องเป็นตัวละครในซีรีส์ก็ท้าทายมากพอแล้ว ถ้าในชีวิตจริงเรายังต้องสร้างหน้ากากขึ้นมาอีก แล้วเราจะได้อิสระและความสุขตอนไหน เอิร์ธโชคดีมากๆ ที่ได้แฟนคลับคอยซัพพอร์ต แล้วก็ได้อยู่ในโลกที่เปิดรับมากขึ้น การเป็นตัวเองเลยทำให้รู้สึกแฮปปี้ รู้สึกว่าเรามีที่ยืน ไม่ต้องคอยกดอะไรไว้อีก

 

เมื่อกี้มีพูดถึงคำว่า ‘ออกสาว’ เอิร์ธคิดอย่างไรกับคำนี้

 

เอิร์ธ: ตอนแรกเคยมองว่าลบ แต่พอมาคิดดีๆ มันก็แค่เป็นกิริยาท่าทางแบบหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่อะไร เวลามีคนมาบอกว่าเราออกสาว มันก็เป็นจริตหนึ่งที่ติดตัวเรามา เหมือน Masculine หรือ Feminine ในตัวผู้ชาย-ผู้หญิง เราอาจจะสามารถปรับบุคลิกได้ แต่เราไม่สามารถทำให้มันหายไปจากตัวเราได้หมด หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นวิกฤต แต่ส่วนตัวเอิร์ธมองว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างและโดดเด่น

 

ถ้าโยงถึงเรื่องออกสาวล่าสุดก็แอบโมโหนะ ตอนที่ซีรีส์ ลุ้นรัก 12% (My Only 12%) ออนแอร์ ก็มีบางคอมเมนต์บอกว่าเนื้อเรื่องดีหมดเลยนะ แต่ตัวละครที่เอิร์ธเล่นออกสาวมากไป จริงๆ เขาก็สามารถคอมเมนต์ได้ในฐานะคนดู แต่หลังจากนั้นมันเริ่มล้ำเส้นมาที่ตัวตนของเรา เรื่องการแต่งตัว เรื่องไลฟ์สไตล์ของเรา ซึ่งมันไม่โอเคมากๆ 

 

Cooheart

 

แล้วเราจัดการกับคอมเมนต์แย่ๆ เหล่านั้นอย่างไร

 

เอิร์ธ: เอิร์ธเริ่มมาเจอคอมเมนต์ Hate Speech หนักๆ ตอน ลุ้นรัก 12% (My Only 12%) นี่แหละครับ เวลาเห็นคอมเมนต์พวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะเมินไปบ้าง แต่บางครั้งเราก็เลือกตอบเขากลับไปบ้างนะ ที่เราตอบเพราะอยากอธิบายให้เขาเข้าใจความหลากหลายบนโลกนี้มากขึ้น ไม่แน่ว่าถ้าเขาเข้าใจสิ่งนี้มากขึ้น เขาอาจจะไม่ได้คิดเห็นแบบนั้นแล้วก็ได้ คอมเมนต์นั้นมันอาจเกิดจากแค่เขาไม่รู้ บางครั้งก็เลยออกมาทวีตหน่อยแล้วกัน เพราะหนึ่งทวีตของเรามันอาจจะส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ให้กับคนในคอมมูนิตี้มากขึ้นก็ได้

 

นอกจากเรื่องงาน มีความกดดันอะไรบ้างที่เอิร์ธต้องเจอในฐานะนักแสดงเพศหลากหลาย

 

เอิร์ธ: อย่างที่บอกว่าในยุคที่เอิร์ธเริ่มเข้ามาทำงานประมาณปี 2018 วงการมันยังมีกรอบเยอะมาก แม้ว่าสังคมทั่วไปจะเริ่มเปิดรับและเข้าใจเรามากขึ้นแล้ว แต่วงการบันเทิงยังแยกนักแสดงชาย-หญิงค่อนข้างชัดเจน มันยังไม่เปิดกว้างขนาดนั้น มันทำให้การวางตัวของเรายากมากๆ ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองทุกวันว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูกต้องหรือเปล่า 

 

ในตอนนั้นมันสับสนมากนะ รู้สึกว่าคนเขาจะไม่รักไม่ชอบเราหรือเปล่าถ้าเราเป็นแบบนี้ ถ้าเราหวานไปหรือสาวไปคนจะว่าเรา จะมองเราไม่ดีหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่ลำบากใจครับ ถ้าถามว่าทุกวันนี้ดีขึ้นไหม ทุกวันนี้มันก็ดีขึ้นมากๆ แต่ไม่ได้แปลว่าดีแล้วนะ 

 

Cooheart

 

โอกาสของนักแสดง LGBTQIA+ ในการได้รับบทนำมันยากแค่ไหนในปัจจุบัน

 

เอิร์ธ: เอิร์ธยังโชคดีที่เข้ามาสักพักแล้วเริ่มจับทางได้ มีคาแรกเตอร์ชัด ผู้จัดเห็นก็พอจะหยิบเราไปใช้ได้ แต่สำหรับเจนใหม่ในวงการ โอกาสเหล่านี้มันยากมากนะในการที่คุณจะเปิดตัวมาเลยว่าเป็น LGBTQIA+ แล้วจะมารับบทนำ มันค่อนข้างยาก จริงๆ เอิร์ธอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการแสดงกับตัวตนศิลปินมันแยกกัน LGBTQIA+ สามารถรับบททุกอย่างได้เหมือนชายและหญิงถ้าเขาผ่านการทำการบ้าน เวิร์กช็อป หรือทำความเข้าใจบทมาแล้ว เขาก็สามารถรับบทนำได้ดีไม่แพ้กันเลย เอิร์ธไม่อยากให้ทุกคนตัดสินใครจากเพศสภาพหรือเพศวิถีของเขา อยากให้มองลึกไปถึงศักยภาพของคนคนนั้นมากกว่า

 

อยากฝากไปถึงผู้จัด ผู้กำกับ หรือทีมงานที่มีส่วนตรงนี้ เอิร์ธรู้สึกว่าไม่อยากให้ตัดโอกาสของนักแสดงเพศหลากหลายตรงนี้ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของเรา มันเป็นพื้นที่ของเรา มันควรเป็นแสงของเราด้วยซ้ำ เราไม่ได้ห่วงวัฒนธรรมของเรานะ เราก็เปิดมากๆ ที่จะให้ทุกคนเข้ามามีจุดยืนในวงการบันเทิงตรงนี้ร่วมกัน แต่ในเมื่อคุณเอาวัฒนธรรมของเราไปใช้ ก็อยากให้พื้นที่ในวงการของนักแสดงเพศหลากหลายไม่ถูกกีดกัน

 

‘ซีรีส์วายไม่ส่งเสริมคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ มากพอ’ เอิร์ธคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

 

เอิร์ธ: เห็นด้วยว่าไม่ส่งเสริมมากพอ เพราะเขายังไม่ได้ตีแผ่ให้เข้าใจจริงๆ ว่าความหลากหลายคืออะไร เอาจริงๆ LGBTQIA+ มีตั้งหลายตัวอักษร แต่คุณยังตีแผ่แค่ตัว G หรือตัว L อยู่ด้วยซ้ำ มันยังขาดอีกหลายมิติมาก จริงๆ ในหลายเรื่องทำได้ดีมากนะ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังสร้างภาพลักษณ์หรือความเข้าใจผิดบางอย่างอยู่ ซึ่งเราก็อยากให้สื่อค่อยๆ แทรกเรื่องเหล่านี้เข้ามา เพื่อให้คนดูเข้าใจความหลากหลายของเรามากขึ้น แล้วถ้ามีโอกาสก็อยากให้คนในวงการช่วยกันพูด ช่วยกันรณรงค์ ในเรื่องสิทธิหรือสมรสเท่าเทียมต่างๆ ให้มันเป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติ

 

Cooheart

 

อีกหนึ่งประเด็นที่มีข้อถกเถียงเยอะมากๆ คือเรื่อง ‘ขายจิ้น’ เอิร์ธคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

 

เอิร์ธ: พูดตามตรงว่าเมื่อก่อนมันค่อนข้างชัดว่าผู้จัดและนักแสดงคิดว่าการขายจิ้นเป็นสิ่งที่ดี ก็เลยมีการบิลด์ขึ้นมาหรือสร้างภาพขึ้นมาว่ารักกัน แต่ทุกวันนี้ส่วนตัวเอิร์ธที่อยู่ในวงการก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นแล้ว ส่วนใหญ่คู่นักแสดงที่อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เขาก็สนิทกันจริง แล้วเขาก็เกิดการแชร์ประสบการณ์ด้วยกันจริงๆ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้หลายคนไม่ได้พยายามขายจิ้นหรือขายโมเมนต์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีเลยนะ มันก็มีบ้างที่ต้องทำตามรีเควสต์ของลูกค้า ตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ แต่จริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่าคนดูฉลาด การขายจิ้นกันไป สุดท้ายถ้ามันปลอม อย่างไรวันหนึ่งก็ดูออกว่ามันปลอม ดังนั้นเรื่องพวกนี้มันเลยน้อยลง 

 

เอิร์ธเองก็มีคู่จิ้นเหมือนกันใช่ไหมครับ ซึ่งก็ต้องขอบคุณแฟนคลับมากๆ ที่คอยซัพพอร์ตพวกเรา แต่สิ่งที่อยากบอกคือมันเป็นงานหนึ่งงาน ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นความทรงจำดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ความรัก หรือความช่วยเหลือเอาใจใส่ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกันมันจริง แล้วมันก็ยังจริงมาตลอด แต่ว่าในช่วงเวลาหนึ่งคนเราต้องมีเส้นทางของตัวเอง ต้องแยกกันไปทำหน้าที่หรือทำตามความฝันของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าในชีวิตจริงเราจะต้องขาดออกจากกัน อยากให้มองเราเป็นนักแสดงคนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนไปทำงานกับใครก็ได้ คุณอาจไม่ต้องซัพพอร์ตคู่ใหม่ของเราก็ได้ แต่ไม่อยากให้ด่ากันหรือหยิบยื่นความรู้สึกที่ไม่ดีให้กัน

 

เอิร์ธอยากเห็นวงการบันเทิงไทยเป็นแบบไหน

 

เอิร์ธ: อยากเห็นวงการที่เคารพตัวตนและสิทธิของทุกคน เป็นวงการที่ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร แต่งตัวแบบไหน ทุกคนก็จะยอมรับและให้เกียรติเรา แล้วก็อยากเห็นวงการที่มีความเท่าเทียมให้คนทุกเพศได้จริงๆ 

 

‘PRIDE IS FOR EVERYONE’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising