×

สหรัฐฯ โล่ง สภาคองเกรสไฟเขียวร่างกฎหมายเลี่ยงชัตดาวน์ เดินหน้าลุยเจรจาขยายเพดานหนี้ต่อ

01.10.2021
  • LOADING...
สภาคองเกรส

สภาคองเกรสสหรัฐฯ ลงมติอนุมัติรับรองร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เปิดทางให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้ หลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องปิดทำการ หรือ Government Shutdown ได้อย่างหวุดหวิด

 

ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ที่ 65 ต่อ 35 เสียง สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตทั้ง 50 คน พร้อมด้วยวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันอีก 15 คน ยกมือหนุนร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ก่อนส่งไปให้ทางสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติรับรอง

 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สภาล่างสหรัฐฯ ใช้เวลาหารือไม่นานก็ลงคะแนนเสียงรับรองร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวที่ 254 ต่อ 175 เสียง ก่อนเตรียมส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เซ็นรับรองเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยรายงานระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนต้องเซ็นรับรองก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 กันยายน ตามเวลาสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับเวลา 11.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคมตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่ปีงบประมาณปัจจุบันของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดอายุลง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถเลี่ยงภาวะชัตดาวน์ได้อย่างหวุดหวิด แต่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงจากวิกฤตได้ แต่เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาให้สมาชิกสภาคองเกรสสามารถพิจารณาขยายเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงสามารถเดินหน้าสรรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการผลักดันร่างกฎหมายโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังคงคาราคาซังอยู่ในสภาในเวลานี้

 

ก่อนหน้านี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนและวิงวอนให้สภาคองเกรสเร่งพิจารณาตัดสินใจเรื่องการขยายเพดานหนี้ก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่จะก่อให้เกิดหายะทางเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤตการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

จนถึงขณะนี้ ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างยืนกรานในจุดยืนของตน คือขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครต ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภายืนยันเดินหน้าสนับสนุนร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ฝั่งรีพับลิกันก็แสดงท่าทีคัดค้านสุดกำลัง

 

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ยกระดับมาตรการเก็บสำรองเงินสดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในกรณีที่ไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ตามกำหนดแล้ว โดยศูนย์ Bipartisan Policy Center ประเมินว่า หากขยายเพดานหนี้ไม่ได้ จะมีหน่วยงานรัฐราว 40% ไม่สามารถชำระเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ในช่วงเพียง 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น

 

ในวันเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้เผยแพร่รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจัดทำโดย สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis) ที่พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองของปีนี้เติบโตได้ในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากกำลังการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก และการลงทุนในสินค้าคงคลังทั้งหลาย

 

รายงานระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน สามารถขยายตัวได้ที่ 6.7% มากกว่าที่เคยประเมินกันไว้ในสองครั้งก่อนหน้าที่ 6.6% และ 6.5% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจีดีพีจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ ไมค์ อิงค์ลันด์ (Mike Englund) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Action Economics กลับเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดหวังเอาไว้ และสะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของสหรัฐฯ ยังคงมีอุปสรรคติดขัดจากปัญหาซัพพลายเชน และด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาในเวลานี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ปัญหาซัพพลายเชนของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 น่าจะรุนแรงหนักข้อขึ้น

 

ในส่วนของกำลังการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 สาเหตุหลักมาจากการที่ชาวอเมริกันออกมาใช้จ่ายในด้านการเดินหน้าท่องเที่ยวและสันทนาการต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารที่ร้าน หรือการจองที่พักโรงแรม ขณะที่สินค้าที่ชาวอเมริกันยินดีควักเงินจ่ายมากขึ้นก็คือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและยา

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ PCE (Price Consumption Expenditure) ที่คำนวณจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับรายงานครั้งก่อนที่ 6.5% อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980

 

ขณะเดียวกัน รายงานยังได้เปิดเผยผลกำไรของบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่พบว่าภาคการเงินการธนาคารในสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 มีกำไรพุ่งขึ้นถึง 52,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกำไรของเอกชนอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวม 221,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในไตรมาสแรกที่ 133,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อ้างอิง:

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising