×

การบินจะยั่งยืนได้อย่างไร? ข้อสรุปจากเวที Greenovative Forum ของกลุ่มบริษัทบางจาก

โดย THE STANDARD TEAM
07.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • การเดินทางคือโอกาสที่นำประสบการณ์ บทเรียน และผู้คนใหม่ๆ มาสู่ชีวิต การเดินทางจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจกรรมใดๆ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าการเดินทางนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มนุษย์ปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากการสร้างข้าวของเครื่องใช้ การใช้ไฟฟ้า และการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ 
  • คำถามคือ เมื่อการเดินทางยังสำคัญ เราจะทำให้การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร
  • กลุ่มบริษัทบางจากได้เดินหน้าสะท้อนประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงและสร้างความตระหนักให้กับผู้คน ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การบรรเทาภาวะโลกร้อน ตลอดจนการเปิดเวทีให้คนทุกภาคส่วนมาร่วมแชร์ไอเดียและค้นหาแนวทางในการแก้ไข ผ่านเวที Greenovative Forum มาตั้งแต่ปี 2011 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

งานสัมมนา ‘Bangchak Group Greenovative Forum’ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อ ‘Regenerative Fuels: Sustainable Mobility’ ที่ชวนผู้ทรงคุณวุฒิและพันธมิตรในแวดวงต่างๆ มาร่วมคิดร่วมสนทนาเกี่ยวกับอนาคตโลกเรื่องการเดินทางอย่างยั่งยืน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์ด้านพลังงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม 

 

 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเวทีด้วยการฉายภาพถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ที่ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับการเดินทางบางประเภท 

 

“ทั้งๆ ที่เราพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น แต่น้ำมันยังคงได้รับความนิยมอยู่ เพราะการใช้แบตเตอรี่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักที่มากกว่า การเคลื่อนย้ายก็ยากกว่าการขนส่งน้ำมัน หรือพูดง่ายๆ ว่า การขนส่งพลังงานในรูปแบบของเหลวยังคงเป็นรูปแบบที่ง่ายและสะดวกมากที่สุด” 

 

จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมเชื้อเพลิงใหม่ ‘Clean Molecules’ ที่เป็นพลังงานเชื้อเพลิงสะอาด มีคุณสมบัติเป็นของเหลว สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย อย่างเช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ, E-fuels รวมถึงเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการรีไซเคิลน้ำมันพืชใช้แล้ว ฯลฯ เพื่อรองรับการเดินทางในปัจจุบันและอนาคต ที่ทุกๆ อุตสาหกรรมมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืนมากขึ้น 

 

ด้วยการวางวิสัยทัศน์ในระยะยาวและความกล้าในการก้าวไปข้างหน้า นำมาสู่ไฮไลต์ของงานสัมมนาในปีนี้คือ เวทีเสวนาหัวข้อ ‘Pioneering Sustainable Aerospace: พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน’ ที่ได้ตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้แก่ ผู้บริหารจาก BAFS, Airbus, IATA, แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์, แม็กซีน-อินทิพร แต้มสุขิน ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์สายกรีน พร้อมด้วย เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ พิธีกร และ CEO บริษัท แบล็คดอท จำกัด 

 

 

ในช่วงที่โลกเผชิญพิษโควิด-19 การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมการบิน แต่หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งสัญญาณว่าธุรกิจการบินกำลังอยู่ในระหว่างพุ่งทะยาน เติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

 

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดในยุคที่อุณหภูมิของโลกกำลังเดือดขึ้นทุกขณะคือคำถามที่ว่า เราจะพลิกโฉมน่านฟ้าสู่การบินที่ยั่งยืนได้อย่างไร? และจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร?

 

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่มีประสบการณ์อันยาวนานในการให้บริการเติมน้ำมันให้กับอากาศยานกล่าวว่า 

 

“การจะเปลี่ยนให้การเดินทางโดยเครื่องบินลดการปล่อยคาร์บอนได้นั้น ทางออกเดียวที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือการหันมาใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ที่มาจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเครื่องบินแบบดั้งเดิม” 

 

 

ยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการพื้นที่ประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ให้ความเห็นไว้ว่า 

 

“มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า ประชากรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีจำนวนคนที่เดินทางเพิ่มขึ้นกว่า 2,800 ล้านคน แน่นอนว่าการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เครื่องบินโดยสารเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องการใช้เชื้อเพลิง การใช้ SAF จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในตอนนี้ และเชื่อว่าจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเทรนด์ในอนาคต”

 

อีกปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบินยั่งยืนคือผู้บริโภค ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด กล่าวเสริม  

 

“คีย์สำคัญในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินอยู่ที่ เราจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคหรือนักเดินทางเรียกร้องว่าพวกเขาต้องการจะเลือกโดยสารกับเครื่องบินที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

 

“เมื่อไรที่ผู้บริโภคตระหนักรู้ เขาจะให้คุณค่ากับสิ่งนั้น” อินทิพรกล่าวในมุมมองของผู้โดยสารคนหนึ่ง ทั้งยังเสริมว่า “การเปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล สร้างความตระหนักรู้ คือเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริโภคกล้าเปิดใจและพร้อมสนับสนุนให้สายการบินต่างๆ หันมาใช้ SAF กันมากขึ้น” 

 

 

ในฐานะคนทำงานด้านการสื่อสาร สุวิกรมให้ความเห็นไว้ว่า “นอกจากการพัฒนาเชื้อเพลิงยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มั่นใจได้ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ที่สำคัญคือต้องสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ และดึงดูดให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่สายการบินร่วมกับผู้ผลิตน้ำมัน SAF สร้างสรรค์ร่วมกัน” 

 

ท่ามกลางกระแสตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการบินสู่ความยั่งยืน ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบางจากฯ, บมจ.บีบีจีไอ และบริษัท ธนโชค ออยล์ไลท์ จำกัด ที่ผลิตเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ หรือ SAF เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 

 

SAF หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เป็นนวัตกรรมพลังงานใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและของขบเคี้ยว และจากชุมชนที่อยู่อาศัยครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบินเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% โดยกลุ่มบริษัทบางจากเชื่อมั่นว่า SAF คือเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเชื้อเพลิงปกติจากฟอสซิล นอกจากช่วยลดมลพิษเรื่องขยะจากน้ำมันที่ทิ้งลงท่อแล้ว ยังเป็นอีกทางเลือกใหม่ที่จะพาโลกของเราเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเปลี่ยนผ่านโลกที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตสู่โลกที่น่าอยู่และเป็นมิตรกับทุกๆ ชีวิตมากขึ้น ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายมากมาย เช่น ระเบียบข้อบังคับบางอย่าง ความเข้าใจของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างความร่วมมือในภาคธุรกิจ ฯลฯ แต่เวทีแห่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและวิสัยทัศน์อันเฉียบคมจากผู้นำในธุรกิจพลังงาน ที่จะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โลกใบนี้ต่อไป 

 

และจากการริเริ่มในวันนี้จะนำไปสู่เป้าหมายที่วาดหวังได้หรือไม่ อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กำลัง Net Zero ในปี 2050 จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องจับตาดูกันต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising