×

เลือกตั้ง 2566 : ‘อนาคตของอากาศบริสุทธิ์จะมาอีกเมื่อไหร่’ บทสรุปจากเวทีดีเบตนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นที่เชียงใหม่

11.04.2023
  • LOADING...
ปัญหาฝุ่น เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ร้าน The Goodcery TH ร่วมกับ Surin Pitsuwan Foundation และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดงาน ‘Alliance Against the Haze เพื่อน/สู้/ควัน’ โดยจัดทั้งหมด 3 ช่วง

 

สำหรับช่วงที่ 3 คือเวที ‘อนาคตของอากาศบริสุทธิ์จะมาอีกเมื่อไหร่’ เวทีดีเบตนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นควันจากผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมด 5 พรรค ได้แก่ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม พรรคเพื่อไทย, เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล, ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, จารุพล เรืองสุวรรณ พรรคเพื่อชาติ และ จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์

 

สำหรับการนำเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหา PM2.5 เริ่มต้นที่พรรคก้าวไกล โดย เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากหลายแหล่ง โดยมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาจากการปลูกข้าวโพดและอ้อย และมาจากไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

 

วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นคือ การห้ามนำเข้าผลผลิตจากพื้นที่ที่มาจากการเผา โดยใช้มาตรฐาน GAP ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องทำตามกฎหมายสิงคโปร์ที่เรียกว่า Transparency Pollution Act เพื่อเอาผิดเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษ แต่ในกรณีของไฟป่าต้องใช้กรอบของอาเซียน

 

พรรคก้าวไกลเสนอทางเลือก 3 ทางในการแก้ปัญหาคือ ทางแรกนำวัสดุที่มีอยู่ ด้วยอัตราการรับซื้อ 1,000 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อทำเป็นอาหารและปุ๋ย ทางเลือกที่สองคือการใช้จักรกลทางการเกษตรที่รัฐบาลจะลงทุนให้ก่อนและฟรีดอกเบี้ยให้ประชาชน ทางที่สามการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นผสมผสาน โดยจะประกันรายได้ให้พืชที่ประชาชนปรับเปลี่ยนจำนวนเดือนละ 500-1,000 บาทต่อไร่  

 

ส่วนปัญหาไฟป่าในป่า พรรคก้าวไกลเสนอตำบลละ 3 ล้านบาท โดยต้องลงเงินไปถึงเครือข่ายต่างๆ และเสนอยกเลิกโรงงานถ่านหินใน 14 ปีข้างหน้า

 

ขณะที่การลดปัญหาในเมืองคือ การสร้างขนส่งสาธารณะที่เป็นรถไฟฟ้า อีกทั้งให้รถยนต์สามารถเข้ารับการตรวจ 3 เดือน ก่อนการเข้าฤดูเผาป่า

 

พรรคไทยสร้างไทยเสนอผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด มาตรการทางภาษี และเอื้อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

 

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทยได้ดำเนินการติดต่อพูดคุยกับฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งทาง สปป.ลาวพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดการกับภาคเอกชนเหมือนกับทางสิงคโปร์ 

 

นอกจากนี้ต้องมีการช่วยเหลือที่เกิดจากการร่วมมือและช่วยกันจากหลายฝ่าย โดยการแก้ไขปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 นั้น พรรคไทยสร้างไทยเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการรับฟัง เพื่อให้อยู่ร่วมกันในการประกอบธุรกิจ 

 

พรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าปัญหามลพิษเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงภูมิภาค โดยเสนอ 3 ยุทธศาสตร์คือ กฎหมายอากาศสะอาดที่เกิดการร่วมมือจากฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม และชุมชน ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 

 

วิธีที่สองคือ การใช้เทคโนโลยีและความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยการใช้เทคโนโลยีจะเกิดจากการใช้ดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งจะโฟกัสหาพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหา และถัดมาคือการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกต้นไม้ 

 

วิธีที่สาม ต้องไม่ผลักภาระให้ประชาชน โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ หรือหลักผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ โดยการชดเชยรายได้ประชาชนที่เข้าไปหาของป่า อีกทั้งต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหา โดยการแก้ไขปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 

 

พรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางให้เงินสนับสนุน SMEs และให้เงินสนับสนุนชุมชน นอกจากนี้ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างจิตสำนึก เสนอให้ประชาชนสามารถตรวจสุขภาพฟรี

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสนอยืนยันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ถูกตีตกไปในสมัยสภาครั้งล่าสุด เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการสร้างหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา 

 

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแต่แรก สิ่งที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาจริงๆ อยู่ที่การออก พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศ ก่อนที่จะไปเจรจากับเพื่อนบ้าน 

 

ส่วนปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิด PM2.5 นั้น พรรคเพื่อไทยเสนอการแก้ไขปัญหาโดยการใช้กฎหมาย PPP (Public-Private Partnership) จะช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการออกบทลงโทษที่รุนแรง พรรคการเมืองที่เข้มแข็งต้องมีอำนาจมากพอเพื่อไปต่อรองและต่อต้านการผูกขาด ดังนั้นต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน แล้วไปต่อกรกับองค์กรต่างๆ และระดับระหว่างประเทศได้

 

พรรคเพื่อชาติกล่าวว่า การแก้ปัญหา PM2.5 อันดับแรกต้องไม่โทษประชาชน สองคือการดูต้นเหตุ ที่มาจากการเกษตร ยานยนต์ ถัดมาคือคมนาคม ต้องผลักดันการใช้รถ EV ตามโมเดลจากจีน 

 

ส่วนปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 นั้น พรรคเพื่อชาติเสนอให้เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่กับกลุ่มทุน 

 

ถัดมาคือเสนอว่ากลไกอาเซียนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากอาเซียนมีหลักการห้ามแทรกแซงกิจการ ดังนั้นพรรคเสนอให้ใช้กลไกระดับโลกแทนกลไกในภูมิภาค

 

ปัญหาการช่วยเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และการดับไฟป่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นคือการช่วยเหลือไม่ได้กระจายถึงเจ้าหน้าที่ที่ดับไฟป่า อีกทั้งเงินเดือนที่เจ้าหน้าที่ดับไฟมีน้อย จึงขาดแรงจูงใจ แล้วจะจัดการอย่างไร สุดท้ายคือนักผจญเพลิงต้องเผชิญกับปัญหาในการดับไฟที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แล้วจะมีประกันช่วยเหลือหรือไม่ นอกจากนี้จะมีแนวทางการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร 

 

ต่อมาพรรคก้าวไกลเสนอผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดในการแก้ไขปัญหา เรื่องงบประมาณคือการใช้เงินเพื่อเข้าไปช่วยเหลือบุคลากร อุปกรณ์ หรือการทำประกัน ถัดมาคือการใช้มาตรฐาน GAP ส่วนคนในเมืองคือการให้คนในเชียงใหม่ต้องผ่านการตรวจ ข้อต่อไปคือการตรวจสุขภาพ ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขการตรวจโรคมะเร็งเพิ่มและตรวจฟรี สุดท้ายคือต้องมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้อากาศที่ปลอดภัย ดังนั้นต้องมีการเมืองดี ลดการผูกขาด การลดการคอร์รัปชัน และการแก้ไขในวันนี้เพื่ออนาคต 

 

พรรคไทยสร้างไทยยังได้ย้ำถึงการดำเนินการติดต่อพูดคุยกับฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งทาง สปป.ลาวพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดการกับภาคเอกชนเหมือนกับทางสิงคโปร์ นอกจากนี้ต้องมีการช่วยเหลือที่เกิดจากการร่วมมือและช่วยกันจากหลายฝ่าย

 

พรรคประชาธิปัตย์เสนอการดำเนินการต้องทำอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือบุคคลที่เข้าไปดับไฟป่า ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และสวัสดิการ สำหรับประชาชน เสนอให้ตรวจสุขภาพฟรีเพื่อลดต้นทุนในการรักษา สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาต้องอยู่ที่การอาศัยชุมชน พ.ร.บ.กฎหมายสะอาด และภาคการเกษตร อีกทั้งต้องมีการจัดการดูแลพื้นที่ทางการเกษตร ดังนั้นพรรคเสนอให้มีการออกกรรมสิทธิ์ 4 ล้านที่ โดยจะต้องไม่ละเลยสิทธิชุมชน

 

พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ในเรื่องของการเผาในพื้นที่ปัญหาที่เจอคือการขาดอุปกรณ์ สองคืออุปสรรคในเรื่องของพื้นที่ แต่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พยายามมีส่วนร่วมในการสนับสนุน กรณีของการช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวงเพื่อบูรณาการการช่วยเหลือ 

 

พรรคเพื่อชาติเสนอให้มี พ.ร.บ.คนอยู่กับป่า เพื่อให้การดูแลพี่น้องชาวเขา วิธีการแก้ไขปัญหาคือการใช้เทคโนโลยีและการวิจัย

 

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising