×

ธปท. ชี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 2/63 ยังโต 5% พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

17.08.2020
  • LOADING...

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2563ในภาพรวมสินเชื่อยังเติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

 

ทั้งนี้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์แบ่งเป็น 

  • สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งมีสัดส่วน 65.2% ของสินเชื่อรวม มีการเติบโตที่ 5.1% มาจากการใช้สินเชื่อของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อ SMEs ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ทำให้สินเชื่อหดตัวในอัตราที่ลดลง  
  • สินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 34.8% ของสินเชื่อรวม มีการขยายตัว 4.8% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการจริง (Real Demand) ในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต และส่วนบุคคลชะลอตัวลงตามการหดตัวทางเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หนี้เสีย (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ซึ่งช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ

 

โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ Stage 3) อยู่ที่ 509,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ถือว่าทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 3.04% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่า NPL จะทรงตัวไประดับนี้จนถึงสิ้นปี

 

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 7.48% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 7.69% 

 

ในไตรมาส 2 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 31,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 53,300 ล้านบาท โดยหลักจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง 

 

นอกจากนี้ด้านการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทาง ธปท. มีการหารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง และต้องดูสถานการณ์เพิ่มเติมหากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ธปท. พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

 

ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising