×

CIMB Thai เตือนรัฐบาล-แบงก์ชาติขัดแย้ง กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ ลดดอกเบี้ยอาจฉุดบาทอ่อนค่า นำไปสู่สงครามค่าเงินเพื่อนบ้าน

21.02.2024
  • LOADING...

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า รัฐบาลกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมเตือนว่าลดดอกเบี้ยอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน

 

ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค โดยหากหวังพึ่งพาดอกเบี้ยนโยบาย การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงคือจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้านได้

 

“บาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

นอกจากนี้ ต่อให้ลดดอกเบี้ยลงก็ทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเหนือ 4% และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25-0.50% ก็ไม่ช่วยลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจพอลดความตึงเครียดได้บ้าง สร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้น แต่การส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริงอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน 

 

มาตรการทางการคลังสามารถแก้ปัญหาได้ตรงกลุ่ม

 

ดร.อมรเทพ ยังชี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยต่างกับมาตรการทางการคลังที่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าคนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ทันที และสามารถดูแลผู้เดือดร้อนได้ตรงกลุ่มมากกว่านโยบายการเงินที่หว่านแหในวงกว้าง และการลดดอกเบี้ยก็มีผลข้างเคียงที่เปรียบเหมือนยา อาจทำให้เกิดอาการหนี้ครัวเรือนเพิ่ม สินทรัพย์ไทยขาดความน่าสนใจจนต่างชาติเทขาย ทำเงินบาทอ่อนค่า กระทบสินค้านำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นได้

 

อย่างไรก็ดี ดร.อมรเทพ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและปราศจากมาตรการทางการคลังในการสนับสนุนเช่นนี้คงต้องอาศัยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า แต่ก็หวังว่าแบงก์ชาติยังมีหนทางอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินอื่นๆ มาเสริมได้อีก เช่น การลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ลดวงเงิน LTV และยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ก็ทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้มีความหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เหนือระดับ 2% แต่จะกระตุ้นให้ถึง 3% ได้หรือไม่ก็คงต้องรอดูมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลอีกที” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

วิเคราะห์แบงก์ชาติ ทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย?

 

ดร.อมรเทพ ระบุว่า หากพิจารณาถ้อยแถลงและการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะพบหลากหลายปัจจัยที่บ่งบอกว่าทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย โดยตีความได้ 3 ปัจจัย ดังนี้

 

  1. เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้มาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป
  2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ
  3. ผลข้างเคียงจากการลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป หรือการลดดอกเบี้ยช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังแข็งแรง การบริโภคยังเติบโตได้ อาจส่งผลข้างเคียงให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นมารวดเร็วช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ Policy Space ไว้ใช้ยามจำเป็น

 

ภาพ: zhangshuang / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising