×

จีนเผยกังวลอย่างยิ่งต่อแถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ปมไต้หวันและทะเลจีนใต้

10.01.2024
  • LOADING...

เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า จีนมีความกังวลอย่างยิ่งต่อแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่โดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เกี่ยวกับปัญหาไต้หวันและทะเลจีนใต้ พร้อมยืนยันต่อต้านท่าทีของทั้ง 3 ประเทศในการจัดตั้งกลุ่มพิเศษในนามของความร่วมมือ เพื่อแทรกแซงกิจการภายในและใส่ร้ายป้ายสีจีน ตลอดจนยุยงส่งเสริมให้เกิดการเผชิญหน้าและการเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน

 

“สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีเสถียรภาพ จีนปกป้องอธิปไตยเหนืออาณาเขต รวมถึงสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลอย่างแข็งขันมาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะจัดการความแตกต่างกับประเทศที่เกี่ยวข้องผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ” เหมากล่าว พร้อมชี้ว่า “หลายประเทศนอกภูมิภาคได้แสดงอำนาจในทะเลจีนใต้ และกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งไม่เอื้อต่อสันติภาพและเสถียรภาพของพื้นที่”

 

ส่วนในประเด็นไต้หวันนั้น รัฐบาลจีนยืนกรานหนักแน่นว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยเหมาระบุว่า ข้อสงสัยเรื่องไต้หวันนั้นเป็นเพียงกิจการภายในของจีนเท่านั้น และไม่ควรมีการแทรกแซงจากภายนอก พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “กุญแจสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอยู่ที่การยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างเด็ดเดี่ยว

 

“ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่มีความหวังสำหรับสันติภาพและการพัฒนา มากกว่าจะเป็นกระดานหมากรุกสำหรับการแข่งขันชิงอำนาจระหว่างประเทศใหญ่ๆ” เหมากล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทั้ง 3 ประเทศเคารพความพยายามในการปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค และละทิ้งความคิดแบบสงครามเย็น ตลอดจนหยุดการเผชิญหน้าเพื่อทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น

 

ความร่วมมือไตรภาคีอินโด-แปซิฟิก 

 

ผู้แทนของเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ร่วมการประชุมไตรภาคีอินโด-แปซิฟิก (Trilateral United States-Japan-Republic of Korea Indo-Pacific Dialogue) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 มกราคม) ก่อนจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นอ่อนไหวอย่างไต้หวันและทะเลจีนใต้

 

โดยทั้ง 3 ประเทศเน้นย้ำความมุ่งมั่นต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลจีนใต้ โดยชี้ว่าการอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้นั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมทั้งแสดงการคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) ของไต้หวันโดยใช้กำลังหรือการบีบบังคับ 

 

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการประชุมไตรภาคีอินโด-แปซิฟิกดังกล่าว ตลอดจนการแบ่งปันข้อมูลและแผนการประสานงานทางทหาร เป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้ง 3 ประเทศ 

 

โดยนอกจากการมุ่งเน้นไปที่โอกาสด้านความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้ง 3 ประเทศยังแสดงท่าทีและข้อกังวลต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ประเด็นไต้หวัน โครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมา

 

#เลือกตั้งไต้หวัน2024

 

ภาพ: Tingshu Wang / File Photo / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising