×

1 ตุลาคม ‘วันชาติจีน’ และสิ่งที่ต้องจับตาในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์

01.10.2022
  • LOADING...
วันชาติจีน

1 ตุลาคม 2022 คือวันชาติจีน (国庆节) ที่เป็นการระลึกถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันนี้เมื่อปี 1949 หรือเมื่อ 73 ปีที่แล้ว โดยปีนี้ถือเป็นปีสำคัญเนื่องจากหลังเฉลิมฉลองและหยุดยาวต่อเนื่องกัน 1 สัปดาห์ การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 (二十大) ก็จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม และจัดต่อเนื่องไปประมาณ​ 1 สัปดาห์ ซึ่งการประชุมสมัชชาพรรคฯ คือกลไกที่สำคัญที่สุดในการกำหนดตัวบุคคล และนโยบายการบริหารประเทศที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 1 สมัย กินระยะเวลา 5 ปี (2022-2027) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มี 4 เรื่องที่ต้องจับตา คือ 

 

ประเด็นที่ 1: การประกาศรายชื่อสมาชิกกรมการเมือง (Politburo) และคณะกรรมการถาวรของกรมการเมือง (Politburo Standing Committee)

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นการประชุมของตัวแทนสมาชิกพรรคจำนวน 2,296 คน จากจำนวนสมาชิกพรรคซึ่งมีมากกว่า 90 ล้านคน โดยเป็นการเลือกตัวแทนจากกว่า 5 แสนเขตอำนาจทางการของพรรค ที่มีทั้งในภาคส่วนของพื้นที่จาก 23 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 4 มหานคร และ 2 เขตบริหารพิเศษ ร่วมกับตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพและภาคธุรกิจ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ เพื่อมาคัดเลือกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนีสต์จีนสมัยที่ 20 (20th Central Committee: CC) ซึ่งโดยปกติจะมีจำนวนสมาชิกประมาณ 205 คน (ประเภทสมาชิกเต็ม) และคัดเลือกคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลาง (Central Commission for Discipline Inspection: CCDI) ซึ่งทำหน้าที่ในการปราบปรามคอร์รัปชัน และมีอำนาจเทียบเท่ากับกองทัพ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

 

จากนั้นคณะกรรมการกลาง (CC) จะคัดเลือกกรมการเมือง (Politburo) ขึ้นมา 25 คน ซึ่งกรมการเมืองจะเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในระยะเวลา 5 ปี โดยทั้ง 25 คนนี้จะมีกระบวนการพิเศษในการคัดเลือกผู้นำสูงสุดที่จะมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน (Collective Leadership) ขึ้นมา 7 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการถาวรของกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุด และเป็นกลไกการตัดสินใจในระดับสูงสุดของประเทศ 

 

และเป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 20 นี้ ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งอันดับที่ 1 ของคณะกรรมการถาวรของกรมการเมือง และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค รวมทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี (ประมุขของรัฐ) รวมทั้งครองตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหาร ซึ่งควบคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army: PLA) ต่อไปเป็นสมัยที่ 3 คือ สีจิ้นผิง ซึ่งนั่นนำไปสู่ประเด็นที่ 2 ที่ต้องจับตา

 

ประเด็นที่ 2: สีจิ้นผิงจะอยู่ในอำนาจต่อไปนานแค่ไหน

ตอบได้ทันทีว่ายังไม่มีใครสามารถให้คำตอบนี้ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการปูทางไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ชาติ ‘ความฝันของจีน (中国梦)’ ที่ต้องการเห็นประเทศจีนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ในทุกมิติในปี 2049 

 

แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์หลายๆ ฝ่ายจะต้องจับตาดูคือ ใครจะทำหน้าที่อะไรบ้างในกรมการเมืองทั้ง 25 คน และคณะกรรมการถาวรของกรมการเมืองทั้ง 7 คน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรับรู้ว่าจะเป็นใครบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะมีความลื่นไหล ไร้รอยต่ออย่างแน่นอน ที่เชื่อว่าเป็นเช่นนี้เนื่องจากในเดือนสิงหาคมทุกๆ ปี คณะผู้บริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อดีตผู้นำจีน (ซึ่งยังมีอิทธิพลสูง) คณะผู้บริหารภาครัฐของจีน กลุ่มนักวิชาการ และบุคคลสำคัญที่ได้รับเชิญ จะต้องไปพักผ่อนร่วมกันที่เมืองเป่ยไต้เหอ (北戴河区) ในมณฑลเหอเป่ย เพื่อหารือเรื่องราวสำคัญๆ ของประเทศ รวมทั้งการถกแถลงเพื่อวางตัวผู้นำรุ่นต่อๆ ไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2022 คือ ไม่มีข่าวลือใดๆ เล็ดลอดออกมาจากการประชุมเป่ยไต้เหอ ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้นำรุ่นปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงและผู้นำรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็น เจียงเจ๋อหมิน และ หูจิ่นเทา รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ สามารถบรรลุการวางตัว วางตำแหน่งของบุคคลสำคัญในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 20 ได้แล้วอย่างเป็นฉันทามติ เราจึงไม่ได้ยินข่าวลือต่างๆ เล็ดลอดออกมาในลักษณะของการโยนหินถามทาง เพื่อหยั่งเสียงจากภาคส่วนต่างๆ หากความขัดแย้งเกิดขึ้น ความเงียบของการประชุม หรือหลักประกันการเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อ

 

ส่วนคำถามที่ว่า แล้วสีจิ้นผิงจะอยู่ในอำนาจต่อไปนานแค่ไหน เพื่อตอบคำถามนี้ เราคงต้องรอดูว่าสัดส่วนโครงสร้างอายุของกรมการเมืองทั้ง 25 คน และคณะกรรมการถาวรของกรมการเมืองทั้ง 7 คนในสมัยที่ 20 จะเป็นอย่างไร หากประกาศรายชื่อออกมาแล้วพบว่า กลุ่มผู้อาวุโส (ที่มีอายุราว 67 ปีขึ้นไปจนถึง 72 ปี) ยังคงได้รับการเลือกสรรให้ทำงานต่อไปในตำแหน่งสำคัญๆ นั่นหมายความว่าสีจิ้นผิงและเครือข่ายของเขาอาจจะยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นสมัยที่ 4 และบางทีอาจจะมีสมัยที่ 5 ของผู้นำที่ชื่อสีจิ้นผิง

 

แต่หากเราเห็นสัดส่วนของคนรุ่นอายุราว 55 ปีเป็นต้นไปอยู่ในกรมการเมืองมากขึ้น นั่นอาจทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าสีจิ้นผิงและผู้นำรุ่นก่อนๆ เอง ก็เริ่มที่จะวางตัวคนรุ่นต่อไปให้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้งาน เพื่อที่เตรียมสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่

 

ที่เราสามารถใช้อายุเป็นตัวชี้วัดได้ก็เนื่องจากในจีน ระบบการขึ้นสู่อำนาจ ตำแหน่ง และสวัสดิการ จะอยู่ในระบบที่เรียกว่า Nomenklatura (干部职务名称表) ซึ่งจะมีการกำหนดขอบเขตอายุอย่างไม่เป็นทางการ แต่เคารพกันในทางปฏิบัติว่า เมื่อถึงเพดานอายุขนาดนี้แล้ว หากผู้ดำรงตำแหน่งคนนั้นยังไม่สามารถแสดงฝีมือหรือความเสียสละให้เป็นที่ประจักษ์ได้ โอกาสที่เขาจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้นก็จะเกิดขึ้นได้ยากมาก หรือแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาสำหรับตำแหน่งสูงสุดในระดับสมาชิกกรมการเมือง รองประธานาธิบดี ประธานสภาประชาชน ประธานผู้พิพากษาศาลประชาชนสูงสุด ฯลฯ จะอยู่ที่อายุ 68 ปี ซึ่งในปีนี้สีจิ้นผิงเองก็จะมีอายุ 69 ปี ซึ่งสูงกว่าเพดานปกติไปแล้ว และผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในกรมการเมืองปัจจุบันก็อยู่ที่อายุประมาณ 58-59 ปี ดังนั้นการวิเคราะห์โครงสร้างอายุของคณะผู้บริหารระดับสูง จึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญในการคาดการณ์เรื่องอนาคต

 

ประเด็นที่ 3: แล้วใครบ้างที่ต้องจับตาดูในกรมการเมืองชุดใหม่

สำหรับตัวผู้เขียนจับตาดูอนาคตการทำงานของ 3 คนนี้ ซึ่งหากเรียงตามลำดับอาวุโสจะได้แก่ วังหยาง (อายุ 67 ปี), เฉินหมิ่นเอ๋อ (อายุ 62 ปี) และ หูชุนหัว (อายุ 59 ปี) ซึ่งหลายๆ สำนักวิเคราะห์ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอันดับ 2 ของสมาชิกกรมการเมือง น่าจะตกอยู่กับคนใดคนหนึ่งใน 3 คนนี้

 

วังหยางเกิดที่เมืองซูโจว มณฑลอันฮุย เริ่มต้นชีวิตการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารของรัฐบาล เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1975 และเข้าเรียนในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองของ Central Party School ในปี 1979 ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มเยาวชนพรรค Communist Youth League ในปี 1984 จากนั้นวังหยางก็เริ่มต้นทำงานในภาครัฐและพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลอันฮุย จนได้รับตำแหน่ง Vice Governor (รองหัวหน้าบริหารสูงสุด) ของมณฑลอันฮุย ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งในปี 1998 ในคณะกรรมาธิการวางแผนพัฒนาและปฏิรูปประเทศ (National Development and Reform Commission)

 

ทศวรรษ 2000 คือช่วงที่วังหยางเริ่มต้นหน้าที่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของประเทศ โดยปี 2003-2005 เขาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการประจำคณะรัฐบาลกลางของจีน (State Council 国务院) จากนั้นจึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครฉงชิ่ง (CPC Committee Secretary, Chongqing) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 มหานครของจีน (ร่วมกับปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน) ซึ่งขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาได้เข้ามาเป็นสมาชิกในกรมการเมืองครั้งแรกในปี 2005 โดยการเข้ามารับตำแหน่งนี้ทำให้เขาถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากนี่คือตำแหน่งเดิมของ ป๋อซีไหล อดีตดาวรุ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เคยถูกคาดการณ์ในขณะนั้นว่า อาจจะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีหูจิ่นเทา แต่แล้วป๋อซีไหลก็ถูกดำเนินคดีเนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน และการพัวพันกับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจากบุคคลใกล้ชิด

 

ในปี 2007 วังหยางได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งนี่คือตำแหน่งสำคัญที่ทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นที่จับตามองในระดับนานาชาติ เพราะในช่วงปี 2007 ท่ามกลางวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก วังหยางเดินหน้านโยบายอัปเกรด วางตำแหน่งให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมของจีน (Innovation Hub) โดยอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค และยังกล้าตัดสินใจครั้งสำคัญในฐานะผู้บริหารสูงสุดระดับมณฑล ที่ยอมปล่อยให้บริษัทและสถาบันการเงินจำนวนมากต้องล้มละลายจากวิกฤตซับไพรม์ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปอุ้มบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่อยู่รอดกลายเป็นผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น และเขาก็ประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมเซินเจิ้นจากดงของโรงงานอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมที่บริษัทเทคโนโลยีและสถาบันการเงินทั่วโลกเลือกที่จะเข้ามาลงทุน

 

ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มักจะเป็นเส้นทางของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงของจีน ไม่ว่าจะเป็นอดีตเลขาธิการพรรค จ้าวจื่อหยาง, สีจงซวิน (พ่อของสีจิ้นผิง), อดีตรองนายกรัฐมนตรี จางเต๋อเจียง และอดีตกรรมการถาวรกรมการเมือง หลี่ฉางชุน ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน 

 

ดังนั้นหลังจากดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกวางตุ้ง ในปี 2012 วังหยางก็ได้ขึ้นมาเป็นกรรมการถาวรกรมการเมือง และเริ่มต้นทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีดูแลกิจการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้รับผิดชอบงานแก้ปัญหาความยากจน จนผลงานชิ้นโบแดงคือการทำให้ธนาคารโลกยอมรับว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่ไม่มีประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจนอีกต่อไปในปี 2021 ในวาระที่จีนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

กรมการเมืองคนที่ 2 ที่ต้องจับตามองอนาคตการทำงานของเขาคือ เฉินหมิ่นเอ๋อ หรือบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในกองกำลังเจ้อเจียงของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง 

 

เฉินหมิ่นเอ๋อเกิดในปี 1960 ในมณฑลเจ้อเจียง เริ่มการศึกษาโดยเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยเช่าซิง และเมื่อเรียนจบก็ทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเช่าซิง จนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมือง (ตำแหน่งสูงที่สุดในระดับเมือง) ในปี 1994 จากนั้นเขาก็ย้ายมาทำงานในเมืองหนิงปัว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียงในปี 1997 และไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Zhejiang Daily ซึ่งเป็นของรัฐบาลมณฑล ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียง และได้นั่งคณะกรรมการถาวรประจำพรรคในระดับมณฑลในปี 2002

 

ระหว่างปี 2007-2012 คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดในหน้าที่การงานของเฉินหมิ่นเอ๋อ เพราะเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่ามณฑลเจ้อเจียง ในช่วงเวลาที่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียง (ในระบบของจีน พรรคระดับมณฑลจะเป็นผู้คุมนโยบายและอยู่เหนือรัฐบาลท้องถิ่น)

 

หลังจากนั้นเขาก็ได้รับการโปรโมตให้ขึ้นเป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกุ้ยโจว ต่อจาก จ้าวเค่อจื้อ ซึ่งขึ้นไปเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปี 2013 เฉินหมิ่นเอ๋อขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่ามณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นหนึ่งในมณฑลที่ยากจนและมีปัญหาคอร์รัปชันสูงที่สุดแห่งหนึ่งของจีน และเขาก็ได้เสนอหลักการสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ก็กำลังลงมือทำสงครามกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ก็เลือกที่จะนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในระดับประเทศด้วย นั่นคือหลักการ ‘3 เข้มงวด 3 ซื่อสัตย์ (Three Stricts, Three Honests 三严三实)’ โดย 3 เข้มงวด หมายถึง เข้มงวดต่อการฝึกฝนตนเองให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม, เข้มงวดในการใช้อำนาจ และเข้มงวดในการมีวินัยยึดมั่นในหลักการ ในขณะที่ 3 ซื่อสัตย์ หมายถึง ซื่อสัตย์ต่อการตัดสินใจ, ซื่อสัตย์ในการประกอบอาชีพ และซื่อสัตย์ในพฤติกรรมส่วนตัว

 

และในทางปฏิบัติ เฉินหมิ่นเอ๋อเริ่มต้นระบบ ‘เยวี่ยถาน’ ที่เปิดโอกาสให้มีการถกแถลงอย่างเปิดเผยเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชัน รวมทั้งการตั้งคณะทำงานจำนวน 1,400 คนทั่วทั้งมณฑลกุ้ยโจว เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ทุกเรื่องเมื่อพบเห็นความไม่ชอบมาพากลในระบบราชการ ซึ่งในที่สุดกลายเป็นหลักการสำคัญของหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันระดับประเทศที่เกิดขึ้นมาใหม่หลังการปรับแก้รัฐธรรมนูญจีนในปี 2018 นั่นคือ คณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลาง ซึ่งมีหลักการทำงานสำคัญ คือ ‘อำนาจต้องมีขอบเขตจำกัดภายใต้กลไกที่เป็นสถาบัน (แน่นอนว่าหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีน) และการใช้อำนาจต้องอยู่ภายใต้แสงสว่าง (หมายถึงใช้อำนาจโดยโปร่งใส)’

 

อีกเรื่องที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเฉินหมิ่นเอ๋อที่มณฑลกุ้ยโจว คือการวางตำแหน่งให้กุ้ยโจวเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลของโลก และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม Big Data ซึ่งปัจจุบันด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และการวางโครงสร้างพื้นฐาน (รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวมี Facebook และมีโซเชียลมีเดียทุกประเภท ข้าม Firewall ของประเทศจีน) ทำให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เข้าลงทุนศูนย์จัดเก็บข้อมูลแล้วในมณฑลแห่งนี้ นั่นทำให้ในที่สุดในปี 2017 เฉินหมิ่นเอ๋อได้เข้ามานั่งเป็นสมาชิกกรมการเมือง จากการได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครฉงชิ่ง ซึ่งก็เป็นตำแหน่งตามแนวทางการขึ้นสู่อำนาจเช่นเดียวกับที่วังหยางเองก็เคยดำรงตำแหน่งนี้

 

คนที่ 3 ที่ต้องจับตา และถือเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุดในหมู่สมาชิกกรมการเมืองด้วย นั่นก็คือหูชุนหัว โดยหากเฉินหมิ่นเอ๋อโตขึ้นมาจากสายตรงผู้นำรุ่นที่ 5 สีจิ้นผิง หูชุนหัวก็คือสายตรงของผู้นำรุ่นที่ 4 หูจิ่นเทา โดยฉายาที่หูชุนหัวได้รับคือ Little Hu เพราะเขามีเส้นทางการเจริญเติบโตในฐานะผู้นำจีนในแนวทางที่ใกล้เคียงมากกับผู้นำรุ่นที่ 4 หูจิ่นเทา

 

หูชุนหัวเกิดที่มณฑลหูเป่ยในปี 1963 สอบได้อันดับที่ 1 ของมณฑล และได้เข้าเรียนด้านภาษาและวรรณกรรมจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และจบการศึกษาในปี 1983 จากนั้นเขาก็เข้าสู่สายการเมืองโดยการเข้าร่วมสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Youth League: CYL) โดยเลือกไปทำงานอยู่ที่เขตปกครองตนเองทิเบต เช่นเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทาที่เริ่มงานการเมืองที่ทิเบต และเป็นแกนนำของ CYL ซึ่งทั้ง 2 คนต่างก็โตขึ้นมาในฐานะเลขาธิการของ CYL เช่นเดียวกัน

 

หลังจากฝังตัวอยู่ในทิเบตเป็นเวลา 20 ปี ในปี 2003 หูชุนหัวก็ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำเขตปกครองตนเองทิเบต และเป็นรองประธาน (Vice Chairman) ผู้บริหารเขตปกครองตนเองทิเบตในปี 2007 โดยนโยบายสำคัญที่เขาผลักดันตลอดช่วงเวลานี้ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หูจิ่นเทาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจีนในสมัยแรก นั่นคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟ เพื่อเชื่อมแผ่นดินใหญ่เข้ากับที่ราบสูงทิเบต และการย้ายคนฮั่นจำนวนมากเข้ามาในเขตปกครองตนเองนี้ พร้อมกับการลงทุนและขยายโอกาสการเรียนและการทำงานให้กับทุกคนในพื้นที่

 

ในปี 2007 หูชุนหัวเริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองในศูนย์กลางอำนาจที่ปักกิ่งมากยิ่งขึ้น โดยเข้ามาเป็นสมาชิกกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคง และความปลอดภัยของการจัดกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีนอีกหนึ่งกิจกรรม นั่นคือมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 พร้อมกับสมญานามที่สื่อจีนเรียกเขาว่าเป็นเครื่องจักรในการทำงานที่ไม่มีวันหยุด ในด้านเศรษฐกิจ ข้อเสนอของหูชุนหัวคือการใช้เศรษฐกิจภายในเป็นตัวนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในวันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตซับไพรม์ 

 

ปี 2009 หูชุนหัวได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ตามมาด้วยการดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารเขตปกครองตนเองแห่งนี้ในปี 2010 และผลงานที่ถือเป็นชิ้นโบแดงของหูชุนหัวก็เกิดขึ้น คือการทำให้มองโกเลียในกลายเป็นพื้นที่เทียบเท่ามณฑลที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงกฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สินแร่มีค่าของมองโกเลียใน สามารถเข้าถึงได้โดยนักลงทุนจากทั่วโลก

 

และเช่นเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ในสมัยที่เขายังเป็นเลขาธิการพรรคที่ทิเบต นั่นคือเมื่อมีการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในทิเบต หูจิ่นเทาก็เลือกที่จะใช้การปราบปรามด้วยกองกำลังอย่างเข้มงวด อันทำให้ผู้บริหารพรรคส่วนกลางที่ปักกิ่งมองเห็นหูจิ่นเทาอยู่ในสายตาในช่วงทศวรรษ 1980 และใช้โมเดลของเขาในการปราบปรามเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตซีหลินฮอต มองโกเลียใน ในปี 2011 หูชุนหัวก็เลือกที่จะใช้ทั้งการควบคุมฝูงชนที่เข้มงวด ควบคู่กับการใช้ไม้นวมโดยการเข้าไปเจรจาปราศรัยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จนสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้

 

ผลงานที่เข้ามาเช่นนี้ ทำให้หูชุนหัวได้รับการเลื่อนชั้นให้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้งในปี 2012 ซึ่งแน่นอนว่าเขากำลังเดินทางทางการเมืองตามรอยอดีตผู้นำจำนวนมากที่ต้องเข้ามาสร้างผลงานที่กวางตุ้ง (ดังที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น) ผลงานที่โดดเด่นอย่างยิ่งของหูชุนหัวที่กวางตุ้งคือการปราบปรามทุจริต ปราบปรามการค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด และโสเภณีในกวางตุ้ง ซึ่งขึ้นชื่ออย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจสีเทาเช่นนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนหน้าที่เชื่อมต่อโดยตรงกับฮ่องกง ซึ่งเคยโด่งดังในเรื่องเหล่านี้มาตลอดช่วงทศวรรษ​ 1980-1990 ก่อนที่จะย้ายเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ที่กวางตุ้ง

 

หูชุนหัวเริ่มต้นปฏิรูปความโปร่งใสระบบราชการในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะการป้องปรามกลุ่มลั่วกวน ซึ่งหมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และใช้ช่องทางในต่างประเทศเพื่อทำกิจกรรมสีเทาทั้งหลายในประเทศจีน โดยเขาใช้วิธีการกดดันให้พิจารณาตนเองเพื่อสำนึกตนตามวิธีการแบบคอมมิวนิสต์ ขึ้นไปจนถึงการปรับลดตำแหน่ง และหากยังไม่หยุดกิจกรรมดังกล่าวก็จะใช้การปลดออกจากราชการ รวมทั้งประกาศให้ข้าราชการท้องถิ่นในทุกระดับต้องแสดงบัญชีรายได้และบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งแรก โดยกระบวนการเหล่านี้ หูชุนหัวนำเอาแนวทาง Independent Commission Against Corruption ที่ฮ่องกงเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีตมาเป็นต้นแบบ ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเริ่มต้นการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในกรณีของป๋อซีไหล นั่นจึงทำให้หูชุนหัวได้รับการโปรโมตให้ขึ้นมาเป็นกรมการเมืองที่ได้ดูแลตำแหน่งสำคัญตลอดยุคผู้นำรุ่นที่ 4 และในยุคของผู้นำรุ่นที่ 5 หูชุนหัวก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารประเทศ

 

หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2022 ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกรมการเมืองจะเป็นอย่างไร ทั้ง 3 คนคือผู้ที่ผู้เขียนเชื่อว่าเราต้องเฝ้าดูเส้นทางการเมืองของเขาต่อไปในอนาคต

 

ประเด็นที่ 4: นโยบายหลักของประเทศจีนในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 20

สีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 18 ในปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนได้เปลี่ยนแปลงจากการเจริญเติบโตในอัตราขยายตัวสูงกว่า 10% อย่างต่อเนื่องไปแล้ว เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจากวิกฤตซับไพรม์ต่อด้วยวิกฤตการเงินทั่วโลก ทำให้จีนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 10% และการส่งออกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว 

 

ดังนั้นเพื่อนำพาจีนเข้าสู่ยุคใหม่ สีจิ้นผิงในเวลานั้นจึงประกาศยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (One Belt One Road: OBOR ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Belt and Road Initiative: BRI) การเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดประโยชน์ 5 ประการ อันได้แก่ 1. การเร่งใช้กำลังการผลิตส่วนเกินของจีน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 2. การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ 3. การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถหลากหลายระดับ 4. การเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง และ 5. การสร้างพันธมิตรที่สนับสนุนบทบาทของจีนในประชาคมโลก ยุทธศาสตร์ที่นำความสำเร็จมาสู่สีจิ้นผิงและประเทศจีนในช่วงเวลาแรก

 

แต่เมื่อสหรัฐฯ ทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวในปี 2017 และพิจารณาว่าจีนคือภัยคุกคามต่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในทุกเป้าหมาย การดำเนินนโยบายเพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนจึงเกิดขึ้น และนั่นก็มาพร้อมกับการสร้างภาพให้ OBOR หรือ BRI กลายเป็นกับดักหนี้ จนทำให้เกิดภาวะวิกฤตทางความเชื่อมั่น (Trust Crisis) ต่อโครงการของจีน พร้อมกับจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามการค้า สงครามยุทธศาสตร์ และมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อปิดล้อมอิทธิพลของจีน

 

ดังนั้นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวของจีน การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 1982 ในปี 2018 เพื่อขยายวาระการดำรงตำแหน่งของสีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนวาระ พร้อมกับการกำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันขึ้นเป็นวาระแห่งชาติจึงเกิดขึ้น 

 

แน่นอนว่าในด้านหนึ่ง การปรับยุทธศาสตร์ของจีนเช่นนี้ก็ทำให้สีจิ้นผิงมีอำนาจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการควบคุม สั่งการ วางแนวทางการสานต่อโครงการ BRI ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลว่าในช่วงปลายๆ สมัย (ตามที่เคยปฏิบัติกันมาคือ 2 สมัย 10 ปี) ที่การสั่งการของผู้นำที่กำลังจะหมดวาระมักจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นหากในวาระที่ 3 (หรือหากจำเป็นอาจมีวาระที่ 4 ที่ 5 ต่อไป) โครงการ BRI สำเร็จผล จีนกลายเป็นมหามิตรของประชาคมโลกที่ตั้งเป้าจะสร้างประชาคมแห่งมวลมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน (人类命运共同体 Community with a Shared Future for Mankind) สีจิ้นผิงก็จะกลายเป็นผู้นำที่ได้รับความยกย่องจากคนจีนทั้งประเทศ ถือเป็นผลงานเกียรติประวัติแห่งชีวิต แต่ในทางตรงกันข้าม หากเวลาผ่านไป 3 วาระก็แล้ว 4 หรือ 5 วาระก็แล้ว แต่โครงการนี้กลับล้มเหลว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อพรรคไปได้ว่า นี่คือผลงานของตัวบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค หรือหากจะเกี่ยวข้องก็เป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นความรับผิดชอบของผู้นำเพียงคนเดียวมากกว่า (ดูกรณีนโยบายก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ และการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุงเป็นกรณีศึกษา) ดังนั้นการรับวาระต่อเนื่องของสีจิ้นผิงจึงมีลักษณะความเสี่ยงสูง แต่ก็ได้รับผลตอบแทนสูง หรือในทางตรงกันข้าม ตนเองก็จะกลายเป็นผู้เสียสละ ยอมแบกรับความผิดเพื่อรักษาพรรค

 

แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์หลักที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012-2013 ตั้งแต่สมัชชาพรรคสมัยที่ 18 ต่อเนื่องสมัยที่ 19 ย่อมต้องการการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย สร้างผลกระทบ และสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น ดังนั้นตลอดปี 2022 เราจึงได้ยิน 2 ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนที่จะประกาศรายละเอียดมากยิ่งขึ้นจากการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 20 และน่าจะมีการขยายความต่อในช่วงของการประชุม 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาทางการเมือง และสภาประชาชนจีน ในช่วงต้นปีหน้า โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน คือ Global Development Initiative (GDI) ที่เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า คือการต่อยอด BRI แต่เน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนมีการขยายความว่านี่คือ Green and Clean BRI ที่อาจจะมีการรวมร่างกับ BRICS หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่กำลังขยายจำนวนสมาชิกจากเดิม คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งโลก

 

และอีก 1 ยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เพราะยังไม่ได้มีรายละเอียดออกมามากนัก นั่นคือ Global Security Initiative (GSI) ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนพิจารณาว่า นี่คือการต่อยอดจากความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก รวมกับผู้สังเกตการณ์และประเทศคู่เจรจาแล้วทั้งสิ้น 27 ประเทศ

 

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาต่อในอีก 1 เรื่องสำคัญด้วย นั่นก็คือการผ่อนคลายนโยบายการปิดประเทศภายใต้ชื่อ Dynamic Zero-COVID ที่ทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเชื่อว่าหากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไร้รอยต่อ ทางการจีนคงจะเริ่มเปิดประเทศเป็นพื้นที่ไปทีละพื้นที่ โดยเฉพาะภายหลังจากที่ทั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนและประธานาธิบดีของจีนกลับจากการเดินทางไปประชุมในเวทีต่างๆ ทั้ง East Asia Summit, ASEAN-China, ASEAN+3, G20 และ APEC และน่าจะเปิดประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบภายหลังวันหยุดเทศกาลตรุษจีนปี 2023

 

ทั้งหมดนี้คือ 4 ประเด็นหลักที่ผู้เขียนเชิญชวนให้คุณผู้อ่านทุกท่านร่วมจับตาตลอดทั้งเดือนตุลาคมนี้

 

ภาพ: Andrea Verdelli / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising