×

นักวิเคราะห์มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอสะเทือนส่งออกจีนหนัก ชี้ตลาดอาเซียนไม่อาจทดแทนได้แม้ล่าสุดมีส่วนแบ่งตลาดแซงหน้ายุโรปแล้วก็ตาม

12.06.2023
  • LOADING...

ข้อมูลจากการศึกษาของ Wind Information ที่รวบรวมรายงานจากกรมศุลกากรในหลายประเทศ พบว่า แม้การส่งออกของจีนไปยัง 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะเติบโตขึ้นจนแซงหน้ากลุ่มสหภาพยุโรปในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดจนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในภูมิภาค แต่มูลค่าการส่งออกของจีนไปยังอาเซียนในปัจจุบันยังไม่อาจทดแทนตัวเลขที่ชะลอลงจากมูลค่าการค้าที่ลดลงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนได้

 

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 16% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกโดยรวมของจีนลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง 18% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมนั้นอยู่ที่ 4.248 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่าการส่งออกของจีนไปยังอาเซียน ซึ่งอยู่ที่ 4.149 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม

 

Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ของ JLL กล่าวว่า 10 ชาติอาเซียน คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ไม่สามารถชดเชยการขาดทุนจากตลาดสหรัฐฯ ได้ทั้งหมด

 

ขณะที่ Tao Wang หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนที่ UBS Investment Bank ชี้ว่า การค้าถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าส่วนแบ่งประมาณ 30% ที่เคยมีก็ตาม

 

Lloyd Chan นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Oxford Economics กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่แนวโน้มที่ดีสำหรับการส่งออกของจีน ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของจีนจะยังคงชะลอตัว หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ท่ามกลางแรงกดดันในการระบายสต๊อกสินค้าที่ยังขายไม่ได้ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น

 

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวจาก 2.1% ในปี 2022 ที่ผ่านมา เป็น 1.6% ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลข GDP ของอาเซียนมีแนวโน้มจะเติบโตชะลอตัวลงเหลือ 4.6% ในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 5.7%

 

ด้านทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Nomura ระบุว่า การตกต่ำครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมตอกย้ำความสงสัยว่าข้อมูลการส่งออกรายเดือนของจีนไปยังบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย อาจชะลอตัว ทำให้การส่งออกไปยังอาเซียนได้เปลี่ยนจากตัวขับเคลื่อนหลักเป็นแรงฉุดของเศรษฐกิจจีน

 

ด้านข้อมูลจากการคำนวณของทาง CNBC พบว่า สหรัฐอเมริกาและอาเซียนต่างคิดเป็น 15% ของการส่งออกทั้งหมดของจีนในเดือนพฤษภาคม โดยเมื่อเทียบรายปีอาเซียนมีส่วนแบ่งที่สูงขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ 16% ของการส่งออกของจีน เทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 14%

 

นักวิเคราะห์กล่าวอีกว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งออกของจีนมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอีก เนื่องจากการชะลอตัวของการผลิตทั่วโลกที่มากขึ้น และการคว่ำบาตรทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากตะวันตก ขณะเดียวกัน การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ที่ลดลงมีขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงตึงเครียด และรัฐบาลกรุงปักกิ่งพยายามส่งเสริมการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิก

 

อย่างไรก็ตาม Jack Zhang ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสชี้ว่า การส่งเสริมการค้ากับอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ไม่อาจทดแทนมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ ได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะการขายสินค้าจำนวนมากไปยังสหรัฐฯ มีราคาแพงกว่า 20-25% โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักร เป็นต้น

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือความพยายามในการจัดตั้งความร่วมมือทางการค้าระดับพหุภาคีของจีนกับบรรดาประเทศต่างๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่จีนเข้าร่วมในปี 2020 ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าของจีนกับอาเซียน เช่นเดียวกับการย้ายการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากไปยังภูมิภาคนี้

 

ขณะนี้จีนกำลังอยู่ในระหว่างการเข้าร่วมกลุ่มการค้าอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป ขณะที่อังกฤษเพิ่งจะประกาศเข้าร่วมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้จีนกำลังเร่งการเจรจาสำหรับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA 3.0) และอยู่ในระหว่างการสำรวจเขตการค้าเสรีกับ MERCOSUR ในลาตินอเมริกา (LatAm) ซึ่งประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย และสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising