×

‘ซีพี’ พร้อมรับโลกหลังโควิด จัดธุรกิจ เน้นร่วมมือผู้ประกอบการไทย-ขยายธุรกิจในต่างประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
24.08.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘ซีพี’ เปิด 4 กลยุทธ์ เดินหน้าโมเดลธุรกิจในการเป็น ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ เชื่อมผู้ประกอบการไทยในวงกว้างให้เข้าถึงตลาดใหม่ในต่างประเทศมากขึ้น

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ประกาศกลยุทธ์ธุรกิจเตรียมพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤตการระบาดของโควิด ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางธุรกิจมากที่สุดในประเทศไทย และมีพนักงานมากกว่า 400,000 คน เครือซีพีจะเร่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ และจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการและธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย

 

Charoen Pokphand Group

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

 

ศุภชัยกล่าวว่า “การระบาดครั้งใหญ่ของโควิดได้ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบอีกด้านหนึ่งด้วย กล่าวคือทำให้เกิด ‘บริษัทยักษ์ใหญ่’ ในระดับนานาชาติจำนวนมาก ที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า GDP ของหลายประเทศในโลก”

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งสองด้าน “ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ จากการที่ SMEs ไทยอ่อนแอลง”

 

ศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เครือซีพีจะขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปข้างหน้าด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ “หนึ่ง-เร่งเครื่องการลงทุน, สอง-เร่งเครื่องการเดินหน้าบนเวทีโลก, สาม-ลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ และสี่-สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจเพื่อขยายความร่วมมือกับธุรกิจ ผู้ประกอบการอื่นๆ ของไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

 

“ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้ เราจะต้องไม่ชะลอการลงทุนของเรา ในทางกลับกัน เราจะต้องเร่งแผนการลงทุนของธุรกิจต่างๆ ในเครือ โดยเดินหน้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ รวมถึงโครงการที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างธุรกิจค้าขายดีลใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs และเกษตรกรเล็กๆ รวมจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านราย ที่เรามีความร่วมมือทางธุรกิจกันอยู่แล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม  

 

“เงินใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจต่างๆ ในเครือซีพีน่าจะกระจายต่อไปสู่หลากหลายชุมชนและหลากหลายธุรกิจ ทุกขนาด นอกจากนั้นยังมีเงินจำนวนอีกเกือบ 2 พันล้านบาทที่เครือซีพีได้บริจาคเพื่อการช่วยเหลือต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโควิด” ศุภชัยกล่าว


เช่นเดียวกันกับการลงทุนในต่างประเทศที่เครือซีพีกำลังเร่งเครื่อง โดยศุภชัยคาดการณ์ว่า “การริเริ่มโปรเจกต์ใหญ่ๆ หลายอย่างที่กำลังมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วในปีนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มตัวตนและสถานภาพที่แข็งแกร่งของธุรกิจไทยในตลาดต่างประเทศได้”



เครือเจริญโภคภัณฑ์มี 14 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งศุภชัยกล่าวว่าจะมีการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยเช่นกัน



“เราต้องการช่วยทำให้บริษัทในเครือซีพีสามารถตัดสินใจต่างๆ ระหว่างบริษัทได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เป็นการทำงานในยุคของโลกที่ความเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ


ศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤตโควิดของธุรกิจในเครือซีพี คือการก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าและการบริการเท่านั้น โดยเครือซีพีจะเดินหน้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ในการพัฒนาศักยภาพ พร้อมกับเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและระดับโลก


ศุภชัยกล่าวว่า ส่วนหนึ่งของโครงการที่เครือซีพีเรียกว่า ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ นั้น เรากำลังพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและธุรกิจอื่นๆ ของประเทศไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมากสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ โดยผ่านการทำงานร่วมกันกับบริษัทในเครือซีพี


“เมื่อบริษัทใดก็ตามในเครือซีพีประสบความสำเร็จอย่างแข็งแรงในตลาดต่างประเทศได้แล้ว จะช่วยให้กลุ่ม SMEs ไทยอีกนับสิบ นับร้อย หรือนับพัน ตลอดจนเกษตรกรและผู้ผลิตต่างๆ สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศเหล่านั้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้วธุรกิจ SMEs จะมีข้อจำกัด หรือไม่สามารถรับความเสี่ยงและความยากลำบากในการพยายามตั้งหลักในตลาดต่างประเทศได้ และบ่อยครั้งที่ธุรกิจเหล่านั้นไม่สามารถรับมือกับความท้าทายจากเครือข่ายธุรกิจในประเทศต่างๆ ได้ ดังนั้นหากเครือซีพีสามารถเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุน และร่วมมือทางธุรกิจกับ SMEs ไทยต่างๆ ได้ เราจะมีส่วนช่วยให้ SMEs เหล่านั้นเพิ่มศักยภาพ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงตลาดที่ปกติแล้วจะมีแต่บริษัทใหญ่ๆ ที่สุดของไทยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าได้ เป็นการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อย่างมหาศาล ซึ่งจะช่วยนำความรุ่งเรืองมาสู่คนนับล้าน และในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำเส้นทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีในระดับสากล ผ่านแนวคิดแบบ Win-Win”


ศุภชัยกล่าวว่า แนวทางของโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ นี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย ในโลกยุคใหม่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด เพราะ “เป็นการรวมพลังและระดมศักยภาพของ SMEs หลายหมื่นราย และวิสาหกิจไทยอื่นๆ ออกไปสู้บนเวทีระดับโลก

 

“บริษัทไทยต้องร่วมมือกันให้ได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อสร้างพลังร่วมกัน ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศบ้านเกิด และบริษัทในประเทศของตัวเอง ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าให้กับประเทศที่ธุรกิจต่างๆ เหล่านั้นเข้าไปดำเนินธุรกิจ และเราก็ควรทำเช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องตามหลักการ ‘3 ประโยชน์’ ของเครือซีพี กล่าวคือ อันดับแรก คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ตามมาด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท” ศุภชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising