×

‘นี่คือสิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อช่วยลดอัตราการตายของคนในกองถ่าย’ นิ้ง ชัญญา และสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ร้อง กมธ. แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในกองถ่าย

03.06.2022
  • LOADING...
นิ้ง ชัญญา

ช่วงบ่ายของวันที่ 2 มิถุนายน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) เข้ายื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา เกียกกาย โดยประชุมร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีผู้ร่วมรับข้อเสนอคือกระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมกิจการเด็กและเยาวชน

 

ข้อเรียกร้องในครั้งนี้คือประเด็นการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกองถ่าย ได้แก่ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการผลิตสื่อ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, ความปลอดภัยในการทำงาน และการไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม

 

“ในงานแสดงครั้งแรก หนูโกนผมเพื่อรับบทคนเป็นมะเร็ง หลังจากนั้น 1 ปีหนูก็ค้นพบว่าตัวเองเป็นเนื้องอกก้านสมองชนิด 1 ในแสน ตอนอายุ 25 ปี ปัจจุบันได้รับการผ่าตัดมาแล้วครั้งหนึ่ง การป่วยครั้งนี้ทำให้หนูรู้ว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน และเพื่อลดอัตราความเสี่ยงในชีวิตเพิ่ม นี่คือสิ่งที่พวกเราพอจะทำได้เพื่อช่วยลดอัตราการตายของคนในกองถ่าย”

 

นักแสดงสาว นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ จาก ดวงใจพิสุทธิ์, The Deadline, เคว้ง และ เด็กใหม่ ซีซัน 2 เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า มาตรฐานของการถ่ายทำซีรีส์ไทยอยู่ที่ 16 ชั่วโมง นอกจากจะทำให้นักแสดงสุขภาพกายใจย่ำแย่แล้ว ยังมีทีมงานเบื้องหลังในกองถ่ายที่ต้องทำงานหนักกว่านั้นอีกมากจนถึงแก่ชีวิต

 

“ผู้กำกับต้องการให้เด็กร้องไห้ วิธีที่เขาใช้คือจับเด็กมาเขย่า เขย่าจนร้องไห้ แล้วค่อยถ่ายทำเมื่อได้ภาพที่ต้องการ” หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้จัดหานักแสดงและธุรกิจกองถ่าย ยกตัวอย่างอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการใช้งานนักแสดงเด็กภายในกองถ่าย ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานหรือข้อกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กอย่างเป็นรูปธรรม

 

จากผลกระทบดังกล่าว สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยจึงมีข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดการคุ้มครอง ตั้งเงื่อนไขในการสนับสนุนสื่อ แก้ไขกฎหมาย และเฝ้าระวังบังคับใช้ ดังต่อไปนี้

 

  1. ให้มีมาตรฐานเด็กในกองถ่ายที่ต้องระบุเวลาในการพัก เวลาถ่าย เวลาอยู่ในกอง ตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก

 

  1. เวลาในการทำงานปกติของคนในกองถ่ายต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมง และเวลาพัก 12 ชั่วโมง และหากทำงานเกินในชั่วโมงที่ 13 จะต้องมีค่าล่วงเวลา และแรงงานต้องมีเวลาพักผ่อนขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงก่อนเรียกกลับมาทำงานในวันถัดไป

 

  1. ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในกองถ่าย

 

  1. คนทำงานในกองถ่ายต้องมีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม

 

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์เสริมว่า ต้องการให้การพูดคุยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการรับฟังเสียงจากแรงงานกองถ่าย เบื้องหลัง Soft Power ที่เป็นหนึ่งในผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจชิ้นใหญ่ของประเทศ และขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันติดตามผลของการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้

 

สามารถอ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของแรงงานในอุตสาหกรรมสื่อทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเพิ่มเติม พร้อมติดตามความคืบหน้าได้ตามช่องทางต่างๆ ของ CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

 

ภาพ: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์, Chanya McClory

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X