×

‘ชัชชาติ’ สั่งทุกเขต ทบทวนบทเรียนน้ำท่วมปีนี้ ทำแผนป้องกันระยะยาว 1 ปี ส่งการบ้านทุกเดือน

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2022
  • LOADING...

วันนี้ (6 ตุลาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 

 

ภายหลังการประชุม ชัชชาติกล่าวว่า การประชุมวันนี้ต้องการบอกกับผู้อำนวยการเขตทุกเขตว่า ทุกเขตมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่มีเขตไหนสำคัญกว่ากัน ไม่มีเขตเอ เขตบี ทุกเขตต้องดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม 

 

เรื่องการโยกย้ายตำแหน่งเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้กำลังใจทุกคนให้ทำงานให้เต็มที่ อย่าไปเชื่อถ้ามีใครมาบอกว่าสามารถซื้อขายตำแหน่งได้ ยืนยันว่าจะไม่มีการทำอย่างนั้นในผู้บริหารชุดนี้อย่างแน่นอน ขอให้เอาผลงานเป็นที่ตั้ง อยู่ที่ผลงาน 

 

“ประเด็นหลักของการประชุมในวันนี้ เป็นเรื่องการทบทวนและถอดบทเรียนเรื่องน้ำท่วม โดยพรุ่งนี้ให้ทุกเขตประชุมร่วมกันอีกครั้งเรื่องน้ำท่วมของปีนี้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ให้แต่ละเขตไปดูปัญหาในชุมชนย่อย เอาข้อมูลมาลงแผนที่ เพราะถนนเส้นหลักมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เจอเยอะคือชุมชนย่อย ที่เดิมไม่มีข้อมูล”  ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ผู้บริหารอยู่ศูนย์บัญชาการไม่เห็นปัญหาย่อย จึงต้องนำปัญหาส่วนนั้นมาลงแผนที่ และระบุพิกัด GPS จะได้ช่วยแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เป็นการเอาเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยมาระบุพิกัดไว้ด้วยกันในแผนที่ โดยให้มีประชาชนเป็นส่วนร่วมในการป้องกันพื้นที่ตนเอง 

 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกเขตเตรียมแผนระยะยาว 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาให้ครบถ้วนทุกด้าน และต้องรายงานความคืบหน้าทุกเดือน ว่าแผนงานป้องกันน้ำท่วมที่ทำไว้ แต่ละเดือนได้ทำอะไรไปบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร

 

สำหรับพื้นที่เอกชนที่มีปัญหาน้ำท่วม แนวทางที่ กทม. จะทำได้คือเชิญผู้พัฒนาโครงการมาพูดคุยก่อน ว่าจะร่วมแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ถ้าผู้พัฒนาโครงการทำอะไรไม่ได้ กทม. จะไปช่วยในกรอบของกฎหมายที่ทำได้ เช่น ช่วยเรื่องเครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย แต่เรื่องทำถนนคงทำยากเพราะเป็นงบหลวง ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จุดเริ่มควรมาจากตัวเองก่อน อย่างน้อยให้รู้ว่าจุดไหนคือจุดอ่อน ถ้ารู้ล่วงหน้าจะตอบสนองได้ขึ้น ถ้าเอาข้อมูลขึ้นออนไลน์จะเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น 

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า เรื่องจุดเสี่ยงน้ำท่วมใน กทม. มีทั้งหมด 3 ส่วน คือจุดแรก ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี 16 ชุมชน จุดนี้โดนน้ำท่วมแน่นอน เพราะไม่มีการป้องกันอะไรได้เลย ส่วนใหญ่ชาวบ้านนอกคันกั้นอาศัยประสบการณ์ในการปรับตัว ช่วงน้ำขึ้นก็ออกจากบ้าน น้ำลงแล้วก็กลับเข้าบ้าน ส่วนจุดที่ฟันหลอก็ต้องเสริมกระสอบทราย และอีกจุดคือจุดที่น้ำซึมเข้ามา ก็ต้องดูดเอาน้ำไปลงท่อแล้วดูดน้ำออก ขณะเดียวกันจุดที่น้ำซึมเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นคันกั้นน้ำที่เก่าแล้ว ต้องซ่อมแซมด้วยการตอกชีทไพล์ เสริมความแข็งแรงเพิ่มเติม 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ปีที่ผ่านมา กระสอบทรายคันกั้นน้ำพัง เพราะเรือสัญจร ปีนี้จึงปรับด้วยการใช้กรงเหล็กเสริม และนำกระสอบทรายใส่ในกรงเหล็กเพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมปักธงแดง

 

“จุดที่มีการตั้งกระสอบทรายจำนวน 28 จุด แสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นจุดเสี่ยง เรือที่สัญจรต้องมีความระมัดระวัง ขณะนี้เชื่อว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะระดับน้ำยังไม่สูงกว่าแนวป้องกัน ยังห่างจากแนวป้องกันอีกประมาณ 80 เซนติเมตร” ชัชชาติกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising