×

ชัชชาติยอมรับ กังวลปมกัญชาเสรี หลัง กทม. พบ 1 ราย หัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อีกรายวัย 16 ปี เสพเกินขนาดอยู่ไอซียู

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2022
  • LOADING...
กัญชาเสรี

วันนี้ (14 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565 ณ ห้องประชุมและวางแผน (War Room) อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

 

สำหรับประเด็นกัญชาเสรี ชัชชาติยอมรับว่าค่อนข้างมีความกังวล ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องกำกับดูแล 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา จากตัวเลขข้อมูลที่ได้รับในการประชุมวันนี้พบว่ามีผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวจากการเสพกัญชาแล้ว 4 ราย

 

เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสินมหาราช เป็นชายอายุ 17 ปี และ 25 ปี ทั้งสองมีอาการใจสั่น

 

อีกหนึ่งรายรักษาตัวที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อายุ 51 ปี เสพกัญชา เกิดอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต

 

ส่วนอีกหนึ่งรายรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ อายุ 16 ปี 6 เดือน แพทย์พบว่าเสพกัญชาปริมาณมากจนเกินไป ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในห้องพักผู้ป่วยวิกฤต (ICU)

 

ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 9 มิถุนายน ที่มีการประกาศกัญชาเสรีในประเทศไทย

 

ซึ่งจากการประชุมทางสำนักการแพทย์แจ้งว่าไม่เคยมีการพบเหตุการณ์ลักษณะนี้

 

ส่วนตัวมองว่าข้อมูลที่ได้รับจะทำให้หลังจากนี้ กทม. ต้องมีการเตรียมการแพทย์รองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ดี

 

ชัชชาติกล่าวว่า มีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการและรูปแบบการใช้ของกัญชา โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้วิธีการติดตาม เฝ้าระวัง และเน้นการให้ข้อมูลมากขึ้น ยิ่งในส่วนของโรงเรียนยิ่งเป็นข้อกังวล เพราะอาจมีการนำกัญชาเข้าไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของสำนักอนามัยที่จะต้องตรวจสอบและหาแผนเฝ้าระวัง

 

ชัชชาติกล่าวย้ำว่า หลักสำคัญของเรื่องนี้คือการเน้นให้ความรู้อย่างเข้มข้น รวมถึงในอนาคตมีแนวคิดว่าจะร่างประกาศให้โรงเรียนของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 โรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดกัญชา แต่จะทำได้หรือไม่ต้องไปศึกษาระเบียบอีกครั้งก่อน รวมไปถึงร้านอาหารโดยรอบสถานศึกษาที่จะต้องมีการเฝ้าระวังเรื่องการนำกัญชาไปผสมในอาหาร

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า แม้ในกฎหมายจะมีการระบุว่าสามารถทำได้ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้เด็กนักเรียนไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่าหลายครั้งอาจจะเป็นประตูไปสู่การยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดประเภทอื่น

 

กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ของ กทม. ซึ่งต้องมีการหาข้อมูลและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ในเมื่อเรื่องนี้เป็นกฎหมายออกมาก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องมีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ การจะออกระเบียบอะไรก็ตามต้องไปดูว่าจะขัดกับเรื่องสิทธิเสรีภาพระดับไหนบ้าง

 

ในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ กทม. ชัชชาติกล่าวว่า มีภาพรวมที่ดีขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนที่ทาง กทม. เสนอเข้าสู่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ไปก่อนหน้านี้ คือการอนุญาตให้ประชาชนมีทางเลือกในการถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้งสาธารณะและมีระยะห่างมากกว่า 1 เมตร แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมสถานที่ เช่น สนามกีฬาและพื้นที่แออัด โดยที่ประชุมของ ศบค. ชุดเล็ก ได้รับเรื่องเข้าไปพิจารณาแล้ว และจะมีการเสนอต่อการประชุมของ ศบค. ชุดใหญ่ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 มิถุนายนนี้

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า ตัวเลขคลัสเตอร์จากกิจกรรมฉลองเทศกาลไพรด์และกิจกรรมดนตรีในสวนทั้งสองรอบที่หลายฝ่ายกังวล ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่ได้หารือและมีคำสั่งให้มีการเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจจัดกิจกรรมครั้งต่อไป แต่ตามปกติแล้วการเกิดคลัสเตอร์จะอยู่ในช่วงระหว่าง 7 วัน แต่ตอนนี้เลยมา 8-9 วันแล้วแต่ก็ยังไม่มีรายงาน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising