×

มองดีลเซ็นทรัล-แกร็บ ใครจะได้อะไรบ้าง

01.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • 31 ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้ปิดดีล 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,200 ล้านบาท เพื่อลงทุนในแกร็บ ประเทศไทย มุ่งสร้างแพลตฟอร์ม Omni Channel ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ของเซ็นทรัลอยู่บนแอปฯ ของแกร็บแบบไร้รอยต่อ
  • ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริการส่งอาหารจากแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลหรือร้านในห้างเซ็นทรัลผ่านแกร็บฟู้ด โลจิสติกส์ ส่งพัสดุออนดีมานด์สำหรับธุรกิจในเครือเซ็นทรัล และบริการเดินทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในเครือเซ็นทรัล เซ็นทารา
  • ความร่วมมือของสองผู้นำในอุตสากรรมรีเทลและบริการ Ride-hailing ตรงกับนิยาม win-win-win situation เพราะนอกจากผู้ดำเนินธุรกิจจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ แล้ว ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปก็น่าจะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

“เราจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (Seamless) ให้กับผู้บริโภค และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0”

 

ประโยคข้างต้นคือคำพูดของ แอนโทนี ตัน ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ผู้ให้บริการ Ride-hailing ชื่อดังจากประเทศสิงคโปร์ ที่กล่าวเอาไว้ในงานประกาศปิดดีล 6,200 ล้านบาท (200 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเซ็นทรัลกรุ๊ปหรือบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ลงทุนในแกร็บ ประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา

 

ถึงระดับที่แอนโทนี ตัน เดินทางมาร่วมงานด้วยตัวเอง เชื่อได้เลยว่าดีลในครั้งนี้ไม่มีคำว่า ‘ธรรมดา’ แน่นอน

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบิ๊กดีลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การเทกโอเวอร์หรือเข้าซื้อกิจการของแกร็บ ซึ่งทั้งเซ็นทรัลและแกร็บ ประเทศไทย ได้ขยายความเพิ่มว่าการลงทุนในแกร็บกว่า 6 พันล้านบาทนี้ไม่ใช่การเข้าถือหุ้นแบบมีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ แต่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ New Experience Economy และโมเดลไทยแลนด์ 4.0 สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย

 

ตลอดจนเป็นเงินทุนให้แกร็บ ประเทศไทย สามารถนำไปหมุนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและผู้บริโภคของทั้งตัวเองและเซ็นทรัลได้อย่างครอบคลุม

 

 

3 ส่วนที่เราจะเห็นภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ที่ชัดเจนที่สุดประกอบด้วย

 

1. บริการส่งอาหาร – สามารถสั่งร้านอาหารจากแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลหรือร้านในห้างเซ็นทรัลผ่านแกร็บฟู้ด โดยปัจจุบันมีร้านอาหารบางส่วนในเครือ CRG พร้อมให้บริการบนแกร็บแล้ว และจะครอบคลุมทุกร้านภายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

2. บริการโลจิสติกส์ – จัดส่งพัสดุออนดีมานด์หรือพัสดุด่วนสำหรับธุรกิจในเครือเซ็นทรัลและพาร์ตเนอร์ผ่านแกร็บเอ็กซ์เพรส

 

3. บริการเดินทาง – อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัล รวมถึงนักท่องเที่ยวและแขกที่เข้าพักโรงแรมในเครือ

 

ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะเริ่มจากบริการส่งอาหารเป็นลำดับแรก ก่อนขยายไปยังบริการอื่นๆ ในเฟสถัดไป คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือใครจะได้อะไรบ้างจากบิ๊กดีลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้?

 

Photo: www.centralgroup.com

 

กลุ่มเซ็นทรัล: เปลี่ยนพื้นที่บนแกร็บให้เป็น Omni Channel ของตัวเอง

ปัจจุบันเซ็นทรัลมีจำนวนศูนย์การค้าในเครือทั่วทั้งประเทศไทยรวมทั้งหมด 33 แห่ง โดยหลังจบไตรมาส 3 ของปี 2018 ที่ผ่านมา (9 เดือนแรกของปี 2018) เซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดเผยว่าบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 26,818 ล้านบาท โตจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2017 ที่ 16% มีกำไรสุทธิที่ 8,686 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2017 ราว 23%

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมจู่ๆ Big Player ในอุตสาหกรรมค้าปลีกอย่างเซ็นทรัลถึงต้องลงมาลงทุนในแอปฯ ผู้ให้บริการร่วมเดินทางอย่างแกร็บ?

 

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นเซ็นทรัลปรับตัวเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลลุยออนไลน์ชัดเจนมาก ทั้งกรณีการร่วมทุนกับกลุ่มอีคอมเมิร์ซจากจีน JD.com ด้วยงบลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท โดยพัฒนาอีคอมเมิร์ซร่วมกันภายใต้ชื่อ ‘เจดี เซ็นทรัล (JD Central)’

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลยุทธ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าเซ็นทรัลเอาจริงกับการเบนเข็มมาทำแพลตฟอร์มออนไลน์ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการสร้าง LINE OA ในชื่อ central Life เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่แวะเวียนเข้ามายังศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลหรือการประยุกต์ Big Data มาใช้นำเสนอข้อมูลโปรโมชันสินค้าและบริการที่โดนใจให้กับลูกค้ามากกว่า 12 ล้านคนที่ถือบัตร The 1 Card

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะยังไม่เพียงพอในสายตาเซ็นทรัล เพราะการจะสร้าง awareness ให้ผู้ใช้งานว่าพวกเขาพร้อมจะโกดิจิทัลจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น ประกอบกับเล็งเห็นแล้วว่าเทรนด์ของตลาดกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

 

เมื่อเหลียวมองในตลาด พวกเขาจึงพบว่า ‘แกร็บ’ ซูเปอร์แอปฯ ที่มีทั้งบริการร่วมเดินทาง ขนส่งสินค้า และอาหาร (ในอนาคตจะมีบริการชำระเงินผ่านมือถือร่วมกับกสิกรไทย) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกพาร์ตเนอร์ท่ีจะตอบโจทย์ความต้องการของเซ็นทรัลได้ครบทุกกระบวนท่าในการขยายตลาดออนไลน์เพื่อสร้าง Omni Channel เชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันให้เรียบเนียน

 

เพราะตัวแกร็บเอง ในเชิงภาพลักษณ์ก็ถือเป็นผู้ให้บริการในลำดับต้นๆ ของแพลตฟอร์มนี้ ยืนระยะเปิดให้บริการในไทยมาแล้วกว่า 6 ปี (2013) โดยสถิติที่น่าสนใจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขาให้บริการการเดินทางครบ 3 พันล้านเท่ียวไปเรียบร้อยแล้ว มีจำนวนการเดินทางไม่ต่ำกว่า 1 แสนเที่ยวต่อวัน ส่วนแกร็บฟู้ดก็มีจำนวนการจัดส่งอาหารสูงกว่า 3 ล้านจาน โดยแกร็บโลจิสติกส์มีการเติบโตมากขึ้นถึง 2 เท่าตัว

 

จินตนาการเล่นๆ ว่าในอนาคต ครอบครัวนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถใช้แกร็บเพื่อเดินทางตรงมาเข้าพักโรงแรมในเครือของเซ็นทาราได้ทันที หรือเมื่อเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ แล้วต้องการแวะมาเดินเล่นที่เซ็นทรัลก็ทำได้สบายๆ

 

มองให้ใกล้ตัวกว่านั้น สำหรับผู้บริโภคคนไทยอย่างเรา ต่อไปถ้าเข้าแอปฯ ของแกร็บก็จะสามารถเลือกสั่งอาหารจากร้านในเซ็นทรัลหรือกลุ่ม CRG ตลอดจนสั่งสินค้าอุปโภคในศูนย์การค้ามาส่งตรงถึงบ้านได้อย่างสะดวกสบาย

 

การที่เซ็นทรัลตัดสินใจลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลขนาดนี้ในแกร็บประเทศไทย จึงไม่ต่างอะไรจากการจองพื้นที่ล้ำค่าเพื่อทำตลาดของตัวเอง อำนวยความสะดวกผู้บริโภคได้อย่างครบครันโดยไม่ต้องไปลงทุนลงแรงสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่แล้วเริ่มต้นจากศูนย์ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มทราฟฟิกคนเข้าออกห้าง โรงแรม เพิ่มยอดขายอาหารและสินค้าภายในร้านได้โดยไม่ต้องเปลืองแรง

 

แกร็บ: ประกาศตัวพร้อมดำเนินธุรกิจในไทยแบบยาวๆ

ปัจจุบันแกร็บให้บริการในกว่า 336 เมือง ใน 8 ประเทศ เข้ามาให้บริการในไทยเป็นลำดับที่ 3 โดยปัจจุบันให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 16 จังหวัด มีจำนวนพาร์ตเนอร์ในระบบมากถึง 8.5 ล้านราย และจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมากกว่า 130 ล้านเครื่อง

 

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างแกร็บและเซ็นทรัล นอกจากจะช่วยเพิ่มทราฟฟิกในจำนวนผู้บริโภคกับรายได้ให้กับเซ็นทรัลแล้ว แกร็บ ประเทศไทยก็จะมีทราฟฟิกจำนวนการใช้บริการบนแพลตฟอร์มมากตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าพาร์ตเนอร์คนขับหรือผู้ใช้บริการก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงตามๆ กันไป ทำให้นิยาม ‘การสร้างงาน สร้างอาชีพ’ เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 ชัดเจนไปอีกระดับ

 

ขณะเดียวกันแกร็บก็จะมีเงินทุนก้อนโตเพื่อนำไปหมุนเวียนพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มของตัวเองให้มีประสิทธิภาพในเชิงการใช้งานมากกว่าเดิม

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่ง ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้ประกาศไว้ในงานว่า เขาอยากให้ทุกคนมองดีลนี้เป็นเหมือนความมุ่งมั่นที่แกร็บต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะภาพลักษณ์ของแกร็บต่อจากนี้จะไม่ใช้บริษัทต่างชาติอีกต่อไป

 

“เราพร้อมจะลงทุนและพัฒนาภาคธุรกิจบริการของเราในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ เราจริงจังกับการพัฒนาธุรกิจในไทย และสนับสนุนพาร์ตเนอร์ (คนขับ ​ร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs) ให้เติบโตต่อไป”

 

การประกาศตัวชัดเจนว่าพร้อมจะดำเนินธุรกิจในระยะยาวมากกว่า 10 ปีในประเทศไทย รวมถึงการที่เซ็นทรัลเลือกลงทุนในแกร็บ ประเทศไทย แทนที่จะเป็นแกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ จึงทำให้ภาพลักษณ์ของแกร็บกลายเป็นบริษัทสัญชาติไทยไปโดยปริยาย (ตามคำกล่าวของธรินทร์)

 

ถ้านับย้อนไปถึงช่วงปลายปีที่แล้วที่ธนาคารกสิกรไทย ประกาศจับมือกับแกร็บ ประเทศไทย ลงทุนในแกร็บ ผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่า 1,600 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบนิเวศบนแพลตฟอร์มให้ครบครัน (โดยเฉพาะบริการด้านการเงิน) รวมถึงเตรียมปล่อยสินเชื่อให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ ก็จะเริ่มเห็นเค้าลางมากขึ้นว่า องค์กรชั้นนำในไทยต่างให้การยอมรับแกร็บและเริ่มเข้ามาร่วมทุนกันอย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบัน ธุรกิจของแกร็บในบางมุมก็ยังไม่ได้รับการรับรองให้ถูกต้องตามกฎหมายแบบ 100% อยู่ดี โดยเฉพาะประเด็นการนำแท็กซี่สวมป้ายดำมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารหรือการใช้มอเตอร์ไซค์ป้ายดำวิ่งให้บริการตามพื้นที่ทั่วไป

 

การมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นสองผู้นำทั้งในอุตสาหกรรมรีเทลและแบงก์กิ้ง จึงย่อมรับรองสถานะความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจของแกร็บในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี แถมในอนาคตก็ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นความคืบหน้าของตัวบทกฎหมายในประเทศไทยที่อาจจะถูกปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทในประเทศ

 

ยิ่งไปกว่านั้น โมเดลการร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอาจจะเป็นใบเบิกทางให้พวกเขาขยายความร่วมมือในลักษณะนี้กับเซ็นทรัลไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้นในอนาคต

 

ผู้บริโภค: ส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านภายใน 30 นาที

ในมุมมองของฝั่งเซ็นทรัล พวกเขาบอกเอาไว้ว่าดีลนี้ไม่ต่างอะไรจากการกลับหัวพีระมิด จากเดิมที่ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องเดินทางมาหาเซ็นทรัลเพื่อเข้าไปใช้บริการหรือทานอาหารในระยะเวลา 30 นาที แต่ต่อจากนี้บริการและสินค้าโดยเซ็นทรัลจะวิ่งเข้าไปเคาะประตูบ้านผู้บริโภคในระยะเวลา 30 นาทีแทน

 

เมื่อเป็นแบบนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมเดินทางไปศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลและใช้บริการ Ride-hailing อยู่บ่อยๆ หรือสั่งอาหารจากร้านในเครือเซ็นทรัลมารับประทานก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต ที่ทั้งสองฝั่งต่างก็ตกปากรับคำแล้วว่าจะร่วมกันพัฒนาให้ประสบการณ์การใช้งานทั้งหมดไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าเราน่าจะได้เห็นลูกเล่นที่หวือหวาจากการนำเสนอสินค้าและบริการโดยเซ็นทรัลบนแอปพลิเคชันของแกร็บแน่นอน

 

ฟากประชาชนคนทั่วไป หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจจะเป็นพาร์ตเนอร์ขับรถของแกร็บก็จะมีโอกาสทำเงินมากขึ้นตามดีมานด์การใช้บริการที่ดีดตัวขึ้นไป

 

เท่ากับว่าบิ๊กดีลนี้ถือเป็น ‘win-win-win situation’ ที่นอกจากผู้ประกอบการทั้งเซ็นทรัลและแกร็บจะได้ประโยชน์แล้ว ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้รับประโยชน์เหมือนๆ กัน

 

ที่สุดแล้วฝั่งที่อาจจะเสียเปรียบจากการผนึกกำลังในครั้งนี้ย่อมหนีไม่พ้นคู่แข่งในธุรกิจรีเทลและผู้ให้บริการคมนาคมรายอื่นๆ ไม่ต่างอะไรจากคำประกาศกร้าวของ ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่บอกเอาไว้ว่า  

 

“ยุคนี้ถ้าใครสามารถผนึกกำลังของออนไลน์และออฟไลน์เข้าหากันได้ไร้รอยต่อมากที่สุด คนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ”

 

และโฉมหน้าของผู้ชนะตัวจริงในเกมนี้คงจะถูกเปิดเผยในอีกไม่ช้า

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising