×

จาก ‘รถ’ สู่ ‘อาวุธก่อการร้าย’ ที่สะดวกและหยั่งรากลึก

18.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • โศกนาฏกรรมก่อการร้ายโดยใช้รถยนต์ในบาร์เซโลนาเมื่อวานนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้รถยนต์เป็นอาวุธสำหรับการก่อการร้าย แต่นับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2014 เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งทั่วเมืองต่างๆ ในยุโรป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน
  • ประชาชนที่ปกติแล้วเปิดกว้างและไว้วางใจต่อบุคคลภายนอกตระหนักถึงภัยเหล่านี้ พวกเขาจึงยอมแลกเสรีภาพพลเรือนและหันไปสนับสนุนนโยบายแบบเผด็จการเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยขึ้น
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ระบุถึงปัญหาส่วนนี้อีกว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนถูกโจมตีด้วยสาเหตุอย่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ มันยิ่งทำให้พวกเขาต่อต้านคนภายนอกมากขึ้น

     โศกนาฏกรรมในสเปนเมื่อวานนี้ที่พรากชีวิตประชาชน 14 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกิน 100 คน ได้กระตุ้นความกังวลถึงภัยคุกคามก่อการร้ายขึ้นอีกครั้ง แถมเป็นการก่อการร้ายที่ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสลับซับซ้อนและหวังผลได้ โดยใช้เพียงความตั้งใจและสิ่งใกล้ตัวอย่าง ‘รถยนต์’ เป็นอาวุธสังหาร

     อย่างที่ทราบกันดีว่าพาหนะเหล่านี้มีอยู่เกลื่อนกลาดในสังคมปัจจุบัน ไม่มีความยุ่งยากในการได้มา อย่างในไทยเองก็ติดอันดับต้นๆ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ราว 20,000 คนต่อปี แต่อุบัติเหตุย่อมไร้เจตนารมณ์

     เหตุการณ์ในบาร์เซโลนาเมื่อวานไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้รถยนต์เป็นอาวุธสำหรับการก่อการร้าย แต่นับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2014 เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งทั่วเมืองต่างๆ ในยุโรป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน ส่วนความหวาดกลัวที่ฝังลึกในใจผู้คนนั้นคาดเดาตัวเลขไม่ได้

 

 

     ความน่ากลัวของการก่อการร้ายคือปัจจัยที่คาดเดาเวลาเกิดไม่ได้ โดยนักรัฐศาสตร์อย่าง มาร์ก เฮเธอริงตัน (Marc Hetherington) และเอลิซาเบธ ชูเฮย์ (Elizabeth Suhay) ชี้ว่า ประชาชนที่ปกติแล้วเปิดกว้างและไว้วางใจต่อบุคคลภายนอกตระหนักถึงภัยเหล่านี้ พวกเขาจึงยอมแลกเสรีภาพพลเรือนและหันไปสนับสนุนนโยบายแบบเผด็จการเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยขึ้น

     เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผลสำรวจจากนักวิจัยชาวอังกฤษ ชาแธม เฮาส์ (Chatham House) สะท้อนออกมาว่า คนในยุโรปเกินครึ่งสนับสนุนนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัยจากประเทศมุสลิม

 

 

     ทว่า อาวุธและผู้ก่อเหตุในปัจจุบันไม่ได้ถูกนำเข้าหรือลักลอบเข้ามาเพียงอย่างเดียวแล้ว หลายกรณีที่มีการก่อเหตุในช่วงที่ผ่านมาก็เติบโตขึ้นจากในท้องถิ่นนั้นๆ เอง ความรู้สึกคุกคามที่กระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการสัญจรบนถนนยิ่งสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อความแตกแยกระหว่างกลุ่ม

     ความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดสังคมหนึ่งย่อมสร้างความเป็นคนในและคนนอก งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ระบุถึงปัญหาส่วนนี้อีกว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนถูกโจมตีด้วยสาเหตุอย่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ มันยิ่งทำให้พวกเขาต่อต้านคนภายนอกและหวงแหนอัตลักษณ์ส่วนนั้นมากขึ้น

     พฤติกรรมนี้นำมาสู่ความรู้สึกกลัวบุคคลภายนอกและความปรารถนาที่จะควบคุมหรือลงโทษคนเหล่านั้น หรือที่เรียกว่า Out-grouping อย่างเวลาที่กลุ่มก่อการร้ายออกมาตั้งเป้าโจมตี ‘ชาวตะวันตก’ ก็นำมาสู่พฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

     ความเป็น ‘เขา’ เป็น ‘เรา’ ที่เติมเชื้อเพลิงให้ความกลัว ความหวาดผวาต่อการถูกโจมตี ทำลายความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้คนด้วยกัน ยิ่งมีแต่ทำให้บาดแผลกรีดลึกและเรื้อรัง แม้มองไม่เห็นผลได้ทันทีอย่างที่ปรากฏผ่านเหตุโศกนาฏกรรมต่างๆ แต่กลับมีพลังมหาศาล

     ความไม่ไว้วางใจต่อคนนอกกลุ่มบานปลายสู่การเติบโตของบรรดาฝ่ายขวาในยุโรปและอเมริกาอีกด้วย และอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา การปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ หรือเชื้อชาติเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเหลือเกิน

     น่าสนใจว่าเมื่อรถยนต์ถูกกลายสภาพเป็นอาวุธสังหาร คำถามคือเวลาเฉียดใกล้ถนนครั้งต่อไปเราจะยังไว้ใจใครได้อีก?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising