รู้หรือไม่ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ‘เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต’ ทั้งยังมีผู้คนมากมายที่กำลังต่อสู้อยู่กับภาวะ Burnout และดูเหมือนว่าหลายต่อหลายคนต่างก็อยู่ในภาวะสิ้นหวังที่จะหลุดพ้นออกจากภาวะเช่นนี้
“ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือภาวะหนึ่งที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน และไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนขาดแรงจูงใจ หดหู่ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลามไปจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง” นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าว
“สิ่งที่ยากคือ ความร่วมมือในระดับองค์กร องค์กรต้องตระหนักว่า ภาวะ Burnout เป็นสิ่งสำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งคนทำงานและองค์กร”
ลักษณะอาการของภาวะหมดไฟนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง
2. คิดลบต่อความสามารถของตนเอง และขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่าง หรือเป็นไปทางลบ ทั้งกับผู้ร่วมงานและคนรอบข้าง
ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสุ่มเสี่ยงที่บอกว่า คุณกำลังเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ นักจิตบำบัดด้วยศาสตร์ Drama and Movement Therapy ได้ระบุว่า “คนที่มีภาวะซึมเศร้าและภาวะ Burnout มักจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ รู้สึกหดหู่ เหนื่อย หมดแรง และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง แต่คนที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการรุนแรงมากกว่า มีความผิดปกติทางด้านความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่จะเป็นไปในทิศทางลบ รู้สึกไม่ชอบตนเอง และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจึงไม่ควรตั้งข้อสรุปด้วยตัวเอง และหันไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
“การจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานสามารถทำได้โดย ไม่ทำงานหักโหมมากเกินไป ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาแพทย์”
นพ.อโณทัย ยังเผยถึงวิธีการจัดการภาวะนี้ว่า “หากรู้สึกว่าทำงานมากเกินไป ควรหันมาให้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารตามเวลา หาเวลาไปท่องเที่ยวพักผ่อน หรืออาจสร้างตารางชีวิตประจำวันใหม่ให้มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น”
คุณหมอยังเสริมอีกว่า “แต่สิ่งที่ยากคือ ความร่วมมือในระดับองค์กร องค์กรต้องตระหนักว่า ภาวะ Burnout เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งคนทำงานและองค์กร ซึ่งการจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานสามารถทำได้โดย ไม่ทำงานหักโหมมากเกินไป ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาแพทย์ก็ได้เช่นกัน”
คุณหมอเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวน 1 ใน 5 มีทุกข์ เป็นทุกข์ที่ส่งผลกระทบไปทั้งทางกายและทางจิตใจ คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าจะต้องหันหน้าไปพึ่งใคร ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวมีตั้งแต่ทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โรคไบโพลาร์ ไปจนคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งคนไข้เหล่านี้อาจต้องเผชิญกับภาวะเครียดกับโรคที่เป็นอยู่
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้คือ การให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้น และเรายังควรหมั่นสังเกตทั้งตนเองและคนใกล้ตัว เพื่อให้รู้เท่าทันและช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธีด้วย
อ่านเรื่อง ไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุด ได้ที่นี่
ภาพ: 20th Century Fox
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล