วันนี้ (8 มกราคม) จะเป็นวันแรกของการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้มีหนังสือนัดประชุมในวันที่ 8-9 มกราคม 2563 โดยเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ตามเอกสารแนบท้าย 5 เล่มที่ได้ส่งให้สมาชิกเพื่อประกอบการประชุม
สำหรับกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 2 วันข้างต้นเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น โดยประธานสภาฯ เปิดเผยว่า หากไม่เพียงพอ สามารถที่จะขยายเวลาจนกว่าจะจบการอภิปราย เนื่องจากมีสมาชิกที่ขอแปรญัติและสงวนคำแปรญัตติไว้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะต้องมีการลงมติเป็นรายมาตราด้วย โดยรายงานจากแหล่งข่าวของวิปฝ่ายค้านเปิดเผย น่าจะต่อเนื่องไปจบเอาวันที่ 10 มกราคม เนื่องจากมีกรรมาธิการที่สงวนความเห็นถึง 25 คน และสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติอีกถึง 146 คน ที่เตรียมจะอภิปรายงบประมาณฉบับนี้ รวม 55 มาตรา
ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ 2563 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมสภาเสียงข้างมากมีมติ ‘เห็นชอบ’ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และให้ตั้งกรรมาธิการ 64 คนจากสัดส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาล โดยมี อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธาน และมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหนึ่งใน กมธ. ก่อนที่จะลาออกในภายหลัง โดย กมธ. ชุดนี้มีรองประธาน 19 คน
สำหรับผลการพิจารณาของ กมธ. มีมติปรับลดงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 16,231.2 ล้านบาท และให้จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอตามความเหมาะสมและจําเป็น จำนวน 13,177.5 ล้านบาท และจัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ 3,053.8 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณเดิม
และนี่คือ 5 หัวข้องบประมาณที่ THE STANDARD อยากจะชวนให้ประชาชนร่วมกันติดตาม ในการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ในวาระที่ 2 และ 3 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้
1. งบลงทุน
ในรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ พบว่าการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สัดส่วนของงบลงทุนมีแนวโน้มที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของงบดำเนินการและงบบุคลากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งภาครัฐควรคำนึงถึงแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายของงบบุคลากรและงบดำเนินการที่ไม่จำเป็น และเพิ่มน้ำหนักให้กับงบลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น จึงต้องเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนให้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น อันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการจ้างงาน สำหรับงบลงทุน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศให้มากกว่าการใช้งบลงทุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของการศึกษา การสาธารณสุข และระบบขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
ที่น่าติดตามคือ การเบิกจ่ายงบลงทุนต่อจากนี้ หลังจากช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้เบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้งบประมาณที่จะเบิกจ่ายได้ ทั้งงบประจำและงบลงทุนในปีงบประมาณ 2563 นี้เหลืออีก 1.8 ล้านล้านบาท ที่ส่วนราชการต้องเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างปลายเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 50 ของวงเงินลงทุน หากเบิกจ่ายไม่ได้ตามข้อกำหนด จะส่งผลต่อการเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2564 ดังนั้นประชาชน หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ จึงต้องช่วยกันติดตามการใช้งบว่าจะถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่
2. งบกลาง
เป็นงบอีกส่วนหนึ่งที่ถูกตัดลดงบประมาณในส่วนงบสำรองฉุกเฉินที่มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 96,000 ล้านบาท ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถออกคำสั่งนำมาใช้ได้ ด้วยระยะเวลาและจำนวนเงินที่มากเกินความจำเป็น ทางคณะกรรมาธิการจึงเสนอตัดลดงบประมาณในส่วนนี้ลงไปจำนวน 40,000 ล้านบาท เพราะเวลาในการใช้งบประมาณเพียง 7 เดือน แต่รัฐบาลกลับตั้งงบประมาณไว้มหาศาล ไม่มีเหตุผลรองรับในการใช้งบประมาณดังกล่าว จึงต้องตัดลดงบประมาณลง
ทั้งนี้ ‘งบกลาง’ ปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรร 471,532 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 มีการตั้งงบกลางไว้ที่ 518,770.9 ล้านบาท โดยสูงกว่างบกลางปี 2562 ถึง 47,238.9 ล้านบาท หรือ 10% ของคำขอรับงบประมาณปี 2563
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่ ‘งบกลาง’ มีสัดส่วนสูงที่สุด เทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 471,532.00 ล้านบาท (คิดเป็น 15.72% ของงบประมาณรวมในปี 2562) หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 47,238.92 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นกว่า 10% งบกลางที่พุ่งกลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของงบประมาณประเทศ
โดย ไทยพับลิก้า ได้วิเคราะห์ไว้ว่า เป็นการสะท้อนวิธีบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากงบกลางเปรียบเสมือนการ ‘ตีเช็กเปล่า’ ให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองจากสภาผู้แทนราษฎร และธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมานานคือเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นที่ไม่ได้บรรจุไว้ในงบประจำปี แต่ในระยะหลังการใช้จ่ายผ่านงบกลางเริ่มเปลี่ยนไป
3. งบกลาโหม
เป็นงบที่ถูกจับตาอย่างไม่ต้องสงสัย ในรายงานของ กมธ. งบประมาณ เล่มที่ 1 ยังได้สรุปความเห็นของ กมธ. ที่ขอสงวนความเห็น และ ส.ส. ที่ขอสงวนคำแปรญัตติงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเอาไว้ 9 ข้อ อาทิ ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ควรรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร, ควรกำหนดภารกิจด้านการปกป้องสถาบันหลักของชาติ และเสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นภารกิจประจำของกระทรวงกลาโหม
บีบีซีไทยรายงานว่า มาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ ซึ่ง กมธ. มีมติให้ปรับลดงบประมาณจาก 125,918.5 ล้านบาท เหลือ 124,400.3 ล้านบาท หรือลดไป 1,518.2 ล้านบาท คิดเป็น 1.21% มี กมธ. ขอสงวนความเห็น 24 คน (เห็นควรให้ปรับลดงบลงตั้งแต่ 5-100% ทั้งนี้ผู้เสนอตัดงบกองทัพ 100% คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ. โควตาพรรคเพื่อไทย และมี ส.ส. ขอสงวนคำแปรญัตติ 95 คน (เห็นควรให้ปรับลดงบลงตั้งแต่ 0.04-50%) นั่นหมายความว่ามีผู้ ‘จองกฐิน’ อภิปรายงบกระทรวงกลาโหมถึง 119 คน
4. วินัยการคลังและเงินนอกงบประมาณ
พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 9 วรรคสาม ได้บัญญัติความไว้ว่า ‘คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว’
ดังนั้น การตั้งชื่อโครงการของหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรตั้งชื่อในเชิงมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง หรือตั้งชื่อที่สอดคล้องกับชื่อของพรรคหรือกลุ่มทางการเมือง ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายและเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
5. งบประมาณแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า แผนงบประมาณที่กระจุกงบในส่วนกลางย่อมเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการในระดับท้องถิ่น เพราะจะทำให้รัฐส่วนกลางมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งยังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโดยตรง
ซึ่งงบประมาณ แผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ จะเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถทำแผนงานทำข้อเสนอส่งมาได้
และสุดท้าย นี่คือไทม์ไลน์คาดการณ์กรอบการพิจารณางบงบประมาณ และห้วงเวลาที่กฎหมายนี้ผ่านสภาและได้ประกาศใช้บังคับเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ได้มีงบประมาณในการเบิกจ่าย อ่านต่อที่นี่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า