×

Brexit เกมการเมืองต่อเนื่องยาวนานระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลอังกฤษ

05.09.2019
  • LOADING...
Boris Johnson

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน ที่ให้เลื่อนระยะเวลาในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด No-Deal Brexit
  • การลงมติดังกล่าวเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐสภาในการมีอำนาจเหนือการ Brexit จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันใช้วิธีการปิดสมัยประชุมสภาฯ เพื่อไม่ให้เกิดการอภิปรายหรือให้สภาฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ Brexit เพื่อจะให้เกิด No-Deal Brexit ตามที่เคยประกาศไว้
  • หากย้อนไปตั้งแต่มีการลงประชามติให้ออกจากสหภาพยุโรปในปี 2016 ก็ปรากฏความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและรัฐบาลในการชิงการนำ เพื่อดำเนินการถอนตัวมาแล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดของอังกฤษยังคงอยู่ในภาวะที่วุ่นวายและไม่อาจคาดเดาได้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่ให้เลื่อนระยะเวลาในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 จากเดิมในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถอนตัวโดยไร้ข้อตกลงหรือ No-Deal Brexit

 

การลงมติดังกล่าวนั้นเท่ากับเป็นการขัดขวางแผนการของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ที่ไม่ต้องการให้ขยายระยะเวลาในการถอนตัวอีกต่อไป และต้องการให้เกิด No-Deal Brexit ขึ้น 

 

สิ่งที่น่าสนใจจากการลงมติเมื่อวานคือ มีสมาชิกสภาพรรคอนุรักษ์นิยมถึง 21 คน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ออกเสียงเห็นชอบกับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน หรือเป็น ‘ส.ส. กบฏ (Rebel Tories)’ นั่นจึงทำให้สถานะเสียงข้างมากของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันต้องสั่นคลอน เพราะเพียงการลงมติครั้งแรกในสภาฯ รัฐบาลก็พ่ายแพ้คะแนนเสียงแล้ว

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ การลงมติดังกล่าวเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐสภาในการมีบทบาทหรืออำนาจเหนือการดำเนินการ Brexit จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันใช้วิธีการปิดสมัยประชุมสภาฯ เพื่อไม่ให้เกิดการอภิปรายหรือให้สภาเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Brexit เพื่อจะให้เกิด No-Deal Brexit ตามที่เคยประกาศไว้ได้ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาอีกครั้ง

 

หากย้อนไปตั้งแต่มีการลงประชามติให้ออกจากสหภาพยุโรปในปี 2016 ก็ปรากฏความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและรัฐบาลในการชิงการนำ เพื่อดำเนินการถอนตัวมาแล้ว

 

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลต้องการแสดงเจตจำนงตามมาตรา 50 ของธรรมนูญสหภาพยุโรปในการถอนตัว (Triggering Article 50) อันเป็นการดำเนินการตามผลการลงประชามติตามที่ออกมา โดยอ้างว่า เป็นกิจการด้านต่างประเทศ อันเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐบาล (Prerogative Power)

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ฟ้องร้องต่อศาลว่า การกระทำดังกล่าวไม่อาจทำได้โดยอาศัยเพียงอำนาจของรัฐบาล หากแต่ต้องอาศัยความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในคดี Miller ว่า การลงประชามตินั้นเป็นเพียงการกระทำทางการเมือง ไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญของอังกฤษ การจะถอนตัวดังกล่าวเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของชาวอังกฤษ ย่อมต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาอันเป็นผู้แทนประชาชน ตามหลักอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา (Parliamentary Sovereignty)

 

ดังนั้น ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า รัฐบาลไม่อาจดำเนินการถอนตัวได้โดยอำนาจของตน แต่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน อันถือเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาในการมีบทบาทนำในเรื่อง Brexit และทำให้รัฐบาลจะต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในข้อตกลงเรื่อง Brexit ก่อนเสมอ

 

ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลของอดีตนายกฯ เทเรซา เมย์ ต้องพ่ายแพ้ในการลงมติเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ครั้งแล้วครั้งเล่า และแม้จะมีการขยายเวลาในการถอนตัวออกไป แต่อดีตนายกรัฐมนตรีเมย์ก็ไม่สามารถทำให้ข้อตกลงที่เธอไปเจรจามาได้รับความเห็นชอบได้ สุดท้ายเธอจึงต้องลาออกจากตำแหน่งไป

 

เมื่อนายกรัฐมนตรีจอห์นสันเข้าดำรงตำแหน่งแทน เขาได้แก้ปัญหาที่รัฐสภาไม่เห็นชอบกับแผนข้อตกลงของรัฐบาล โดยการเสนอให้ปิดประชุมสภาในช่วงเวลาที่ใกล้จะต้องทำความตกลงกับสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จ เท่ากับเป็นการไม่ให้รัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Brexit และเขาจะได้ทำให้เกิด No-Deal Brexit ซึ่งสุดท้ายก็มีการปิดประชุมสภา (Prorogation) อันถือเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลที่จะดึงเอาเรื่อง Brexit มาอยู่ในการกำหนดของตน

 

แต่ชัยชนะดังกล่าวก็มีอยู่ได้ไม่กี่วัน เพราะสุดท้าย เมื่อรัฐบาลแพ้การลงมติดังที่กล่าวไปแล้ว ทำให้บทบาทการนำในเรื่อง Brexit กลับไปอยู่ที่รัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรในขั้นต่อไป แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายกรัฐมนตรีจอห์นสันต้องพบกับอุปสรรคและความท้าทายที่มากกว่าสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเมย์หลายเท่า

 

ภาพเปิด: นายกรัฐมนตรีจอห์นสันในการประชุมสภาจาก UK Parliament

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising