×

กรีฑาไทย แผนของสมาคม ความหวังของแฟนกีฬา และความฝันของนักกีฬาไทย

05.10.2023
  • LOADING...
กรีฑาไทย

จบลงไปแล้วสำหรับการแข่งขันกีฬากรีฑา ในศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 โดยกรีฑาทีมชาติไทยคว้ามาได้ทั้งหมด 2 เหรียญเงิน จาก บิว-ภูริพล บุญสอน นักวิ่งวัย 17 ปี ในประเภท 100 เมตรชาย และทีม 4×100 เมตรวิ่งผลัดหญิง 

 

แต่สิ่งที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดในครั้งนี้ของกรีฑาไทยไม่ใช่ผลงาน 2 เหรียญเงิน แต่กลับเป็นการที่นักกีฬากรีฑาหลายคนได้รับบาดเจ็บจนต้องทั้งถอนตัวและออกตัวฟาวล์ในระหว่างการแข่งขัน 

 

เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นที่หางโจวเกมส์ ประเทศจีน และ ทำไมนักกีฬาไทยหลายคนถึงได้รับบาดเจ็บในการแข่งขันรายการที่ควรจะเป็นเวทีที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดรายการหนึ่ง 

 

ไปจนถึงแผนการเลือกส่งตัวนักกีฬาในแต่ละประเภทลงแข่งขันวิ่ง 100 เมตร, วิ่ง 200 เมตร ที่มี 3 รอบการแข่งขัน (รอบแรก, รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ)​ รวมไปถึงวิ่งผลัด 4×100 เมตรชายที่แข่ง 2 รอบ

 

โดยในการแข่งขันครั้งนี้มีเครื่องหมายคำถามมากมาย ทั้ง บิว ภูริพล ที่โดน DNF (Did Not Finish) ในรอบรองชนะเลิศ 200 เมตรชาย และ ต้า-สรอรรถ ดาบบัง ออกสตาร์ทฟาวล์ในรอบชิงชนะเลิศ​ 100 เมตร รวมไปถึงการไม่ส่งบิวลงแข่งขันรอบคัดเลือก 4×100 เมตร 

 

นอกจากนี้ยังมีการถอนตัวของ จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน ในประเภท 400 เมตร เพื่อเซฟไปลงแข่งขัน 800 เมตร ซึ่งเขาจบอันดับสุดท้าย 

 

ไปจนถึงการที่ คีริน ตันติเวทย์ ถอนตัวทั้ง 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร เนื่องจากอาการบาดเจ็บที่หน้าแข้ง 

 

ในความเป็นจริงแล้วสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนแผนการได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหน้างาน เพื่อสร้างโอกาสในการคว้าเหรียญทองสำหรับประเทศไทย 

 

แต่เมื่อการทุ่มทุกอย่างไปเพื่อการแข่งขัน 4×100 เมตรวิ่งผลัดชาย และสุดท้ายจบอันดับที่ 4 ของเอเชีย

 

ทั้งที่ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่กรุงเทพมหานครก็เพิ่งจะคว้าแชมป์มาได้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับเสียงวิจารณ์จากแฟนกีฬา เนื่องจากคุณทำให้ทุกคนคาดหวังและจบลงด้วยความผิดหวัง 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หางโจวบ่งบอกเราได้หลายอย่าง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งของวงการกีฬาไทย 

 

กรีฑาชิงแชมป์เอเชียกับเอเชียนเกมส์ ภาพสะท้อนขุมกำลังของชาติมหาอำนาจกรีฑาในเอเชีย 

 

 

ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งแรก ทีมกรีฑาเลือกที่จะไม่ส่ง บิว-ภูริพล บุญสอน ลงแข่งขันประเภท 100 เมตรชาย เพื่อเซฟ ตัวนักกีฬาไว้สำหรับเอเชียนเกมส์ แต่ส่งลงประเภท 4×100 เมตรวิ่งผลัดชาย ซึ่งไทยสามารถคว้าเหรียญทองมาได้พร้อมสถิติ 38.55 วินาที พร้อมทุบสถิติเอเชียที่ไทยเป็นเจ้าของเดิม 

 

 

แต่มาในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ญี่ปุ่นที่ส่งนักกีฬาหลายคนไปแข่งขันที่กรุงเทพมหานครก็มีการปรับทัพนักกีฬามาลงแข่งขันในครั้งนี้ พวกเขาไม่ได้ส่ง ฮิโรกิ ยานากิตะ ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งวิ่ง 100 เมตรชายด้วยเวลา 10.02 วินาที และนักกีฬาที่เข้ามาครั้งนี้ก็ไม่สามารถผ่านเข้ารอบชิงฯ มาได้ ขณะที่จีนก็ส่งนักกีฬาคนละคนไปแข่งขันทั้งสองรายการ 

 

จำนวนนักกีฬาที่ถูกสร้างขึ้นมา คือผลผลิตของระบบการพัฒนานักกีฬาที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็ลงทุนมาเป็นเวลานาน 

 

แม้ว่าทั้งสองจะยังห่างชั้นกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ในการแข่งขันระดับโลกหรือโอลิมปิกก็ตาม 

 

นอกจากขนาดของขุมกำลังที่แตกต่างกันแล้ว ต้องยอมรับว่านักกีฬาชุดนี้ของไทยยังอายุน้อยและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง เพื่อโอกาสที่จะพัฒนาไปแข่งขันในระดับเอเชียได้ดีกว่านี้

 

แผนของสมาคมกรีฑาจาก พล.ต.ต. สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ  

 

 

วันที่ 4 ตุลาคม ท่ีสนามกรีฑา คือวันแรกที่ พล.ต.ต. สุรพงษ์ อาริยะมงคล หรือแฝดใหญ่ อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ  จัดแถลงขอโทษแฟนกีฬาชาวไทยทุกคนถึงผลงานที่น่าผิดหวังในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ 

 

โดยทางสมาคมยืนยันว่า มีการเตรียมแผนมาอย่างดี แต่เนื่องจากสถานการณ์หน้างานที่มีนักกีฬาหลายคนได้รับบาดเจ็บ จนต้องปรับแผนหน้างานหลายรายการ 

 

แต่ก็มีสื่อมวลชนตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า หากนักกีฬาตัวหลักได้รับบาดเจ็บ สมาคมฯ จำเป็นต้องปรับให้นักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมาได้รับโอกาสแทนหรือไม่ ซึ่งสมาคมฯ​ ก็ยืนยันว่ายังให้โอกาสกับนักกีฬาหน้าใหม่ โดยสมาคมฯ ยืนยันว่ามีแผนที่จะพัฒนานักกีฬารุ่นต่อไปขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 

 

“มีครับ จริงๆ เราไม่ได้วางแผนเพื่อโอลิมปิกครั้งหน้า เรามองไปถึงปี 2028 ที่ ลอสแอนเจลิส” โค้ชแฝดใหญ่ตอบ 

 

“เราของบการกีฬาจากการคัดเลือกโอลิมปิกไป 4 ภาคให้เด็กรุ่นใหม่อายุ 15-18 ปี เพราะบิวเองอายุ 18 เราจะเห็นคนรุ่นนี้ที่มีพรสวรรค์ใกล้เคียง และนำเข้ามาอยู่กับทีมเรา เพื่อเตรียมไปโอลิมปิกครั้งต่อไปหลังปารีส 2024 

 

“แต่งบประมาณที่ได้มา ได้มาเพียงสนามเดียวไม่พอ แต่ก็ได้นักกีฬาเข้ามาจำนวนหนึ่ง การสร้างทีมนักกีฬาต้องใช้เวลาครับ เหมือนกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว 

 

“สมาคมกรีฑาฯ​ สร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเยอะอย่างต่อเนื่อง แต่บางทีงบประมาณมันจำกัดเหลือเกิน แล้วอุปกรณ์ที่จะใช้ก็จำกัดในการอำนวยความสะดวกการฝึกซ้อมหนักๆ”  

 

 

และเมื่อ THE STANDARD สอบถามไปว่า กับแผนการไปสู่โอลิมปิกเกมส์ ปี 2028 สมาคมฯ มีแผนอย่างไรกับการส่งนักกีฬาไปเก็บตัวต่างประเทศ สมาคมก็ยืนยันว่า 

 

“จริงๆ ในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส เราเสนอแผนให้นักกีฬาไปเก็บตัวต่างประเทศแล้ว ไม่รู้เขาจะให้หรือเปล่า คือวางแผนไว้แล้วว่าเดือนมีนาคมปีหน้าให้บินไปอยู่ ลอสแอนเจลิส เราติดต่อ ดอน ควาร์รี ผู้ฝึกสอนกีฬากรีฑา อดีตนักกีฬาลู่และลาน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกชาวจาเมกา เขาจะจัดโปรแกรมแข่งขันหลายรายการประมาณ 3 สัปดาห์ พอเสร็จแล้วเราก็จะเดินทางต่อไปบาฮามาสเวิลด์รีเรย์คัพในวันที่ 25 พฤษภาคม เพราะกรีฑาโลกออกกติกาไว้ว่าอันดับที่ 1-14 ไปโอลิมปิกเกมส์เลย เหลือสองทีมไปแข่งกันเองและจะได้ไป เราก็ต้องไปที่นั่นให้ได้และเรามีโอกาสได้ไป” 

 

ทำไมถึงไม่เฉลี่ยโควตานักกีฬาให้กับเยาวชน? 

 

 

เป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของสมาคมฯ ที่เลือกตัวนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บมารบกวน ทั้งบิว ภูริพล ที่ลงทั้ง 3 ประเภทในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ทั้งที่เพิ่งบาดเจ็บจากการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรในซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา 

 

รวมถึง คีริน ตันติเวทย์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องถอนตัว 10,000 เมตรชายในซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชา เช่นเดียวกับการถอนตัวในศึกเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ทั้งสองประเภท 

 

ในการเลือกตัวนักกีฬามาแข่งขันครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป หากเราสมมติสถานการณ์ว่า ครั้งนี้ไทยเลือกที่จะไม่ส่งบิว ภูริพล ลง 200 เมตร และให้ลงเพียงแค่ 4×100 เมตรผลัดชายเพื่อลุ้นเหรียญทอง ก็อาจเกิดเสียงวิจารณ์ได้ว่าทำไมไม่ส่งลงให้ครบทุกรายการเพื่อลุ้นเหรียญ 

 

เช่นเดียวกันหากไม่ส่งรายชื่อของ คีริน ตันติเวทย์ เพราะมีประวัติได้รับบาดเจ็บจนแข่งขันไม่ได้และส่งชื่อคนอื่นมาแทน ก็อาจเกิดเสียงวิจารณ์ได้เช่นกันว่ากีฬาระดับเอเชียทำไมเราถึงไม่ส่งนักกีฬาที่ดีที่สุดมาแข่งขัน 

 

คำตอบของคำถามนี้จะดีขึ้นก็ต่อเมื่อไทยสามารถพัฒนานักกีฬาขึ้นมาสู่เวทีระดับเอเชียได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่พัฒนาขึ้นมาตามระบบในประเทศ​หรือที่เก็บตัวอยู่ต่างประเทศเหมือนกับคีรินและจอชชัว ซึ่งทุกอย่างต้องใช้ทั้งเวลาและการลงทุน 

 

เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อสมาคมกีฬากรีฑาฯ ตัดสินใจส่งนักกีฬาที่ดีที่สุดลงทุกประเภทที่มีความหวัง แต่ตัวเลือกยังมีน้อยกว่าชาติอื่น ผลที่ออกมาก็คือสิ่งที่เราเห็นในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ 

 

เส้นชัยวันนี้คือจุดเริ่มต้นของการแข่งขันครั้งต่อไป

 

 

‘เส้นชัยวันนี้คือจุดเริ่มต้นของการแข่งขันครั้งต่อไป’ คือประโยคที่โด่งดังในการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่ เพราะเมื่อการแข่งขันจบลง ไม่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร คุณก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรายการต่อไป 

 

แต่หลังจากเส้นชัยของเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ที่หางโจว สมาคมกรีฑาฯ เองก็กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เมื่อ พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบต่อผลงานของทัพกรีฑาในเอเชียนเกมส์ 2022  

 

ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ก็เป็นโอกาสที่นายกสมาคมคนใหม่ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าจะเป็นใคร จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในกีฬากรีฑา 

 

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสมาคมกรีฑาฯ นับว่าสร้างนักกีฬาที่มีชื่อเสียงทั้ง บิว-ภูริพล บุญสอน และ ต้า-สรอรรถ ดาบบัง และทีมวิ่งผลัดหญิง 4×100 เมตร ที่โชว์ฟอร์มแกร่ง คว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์มาครองได้สำเร็จ 

 

แต่จากความผิดพลาดในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ พวกเขาก็จำเป็นต้องแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแบบเดิมขึ้นอีกครั้ง 

 

นักกีฬาไทยหลายคนกำลังเติบโตขึ้นในทิศทางที่ดี และเชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทยพร้อมที่จะส่งกำลังใจให้เสมอในวันที่นักกีฬาลงแข่งขันในฐานะตัวแทนประเทศ แต่การพัฒนามีความจำเป็นต้องลงทุน 

 

วันนี้ที่พวกเขาได้ผ่านเส้นชัยไปแล้ว และรู้ว่าตัวเองอยู่ในระดับไหนของเอเชีย ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะถอดบทเรียนต่างๆ และหันมาแก้ไขรวมทั้งพัฒนาจุดที่ผิดพลาดไป

 

ในนักกีฬาที่มาแข่งขันครั้งนี้ หลายคนอายุยังน้อยและมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับเอเชียได้อีกมากมาย 

 

สุดท้ายเราคงไม่ขออะไรมากไปกว่าการสนับสนุนที่ดีให้กับนักกีฬา และขอส่งกำลังใจอย่างต่อเนื่องให้กับทุกๆ คนที่กำลังพยายามทำอย่างเต็มที่ในฐานะนักกีฬาทีมชาติบนเวทีระดับเอเชียที่หางโจวเกมส์ในครั้งนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising